17 พ.ค. เวลา 01:27 • ประวัติศาสตร์
ชุมชนตลาดใหญ่ ตะกั่วป่า

วัดใหม่ ใครเปลี่ยนชื่อและตั้งชื่อให้

วัดใหม่ ของเมืองตะกั่วป่า ตามคำเรียกขานของคนพื้นถิ่น ผมโตมาก็รู้จักวัดนี้ในชื่อนี้แล้ว ต่อมาจึงค่อยรู้ว่าชื่อวัดทางการชื่อว่า วัดเสนานุชรังสรรค์ ที่นี้เป็นที่ไว้บ่อง (ฮวงซุ้ย) ของต้นตะกูลผม จึงได้ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
วัดใหม่ สร้างตั้งแต่สมัย พระยาเสนานุชิต (นุช) เมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของวัดลุ่ม แต่ต่อมาพอสร้างโบสถ์ เลยมีต้องตั้งเป็นอีกวัดหนึ่ง ตอนพระยาเสนานุชิต (นุช) สร้างโบสถ์ ได้สร้างตามสมัยนิยมของรัชกาลที่ 3 แต่สร้างได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็ถึงแก่อสัญกรรมไป จนได้ลูกชายมาสร้างต่อ ด้วยความที่เป็นวัดใหม่ ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า วัดใหม่กำแพง
พอถึงสมัยพระยาคงคาธราธิบดี (พลอย) บุตรชายของ พระยาเสนานุชิต (นุช) ได้ทำฎีกาขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในสมัยนั้นคือ พระเจ้าวรวศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สิริวฑฒนมหาเถร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นผู้ประทานนามว่า “วัดเสนานุชรังสรรค์” ให้ไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2473
เกร็ดอีกนิด พระยาคงคาธราธิบดี (พลอย) ได้รับคำชมจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใจความว่า
“...แต่บุตรพระยาเสนานุชิต (นุช) คนเล็กชื่อพลอยเป็นดีกว่าเพื่อน มาเติบโตเข้ารับราชการเมื่อหม่อมฉันว่ามหาดไทย ได้เป็นผู้ว่าเมืองกระบี่ก่อน แล้วย้ายไปเป็นผู้ว่าจังหวัดชุมพร”
มีภรรยาคนแรกชื่อ “คุณหญิงพร้อม” ไม่มีบุตร ต่อมาภรรยาถึงแก่กรรม จึงได้พระราชทานจากสมเด็นพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ (ราชินี ใน รัชกาลที่ 5) สมรสกับ “คุณหญิงเสงี่ยม” มีบุตร ธิดา ต่อมา 6 คน ถึงแก่อนิจกรรม ปีพ.ศ. 2480 รวมอายุ 68 ปี
เรื่องราวต่างๆ ต่างมีที่มาที่ไป ร่องรอยประวัติศาสตร์ ประทับตราโดยผู้คนมากมาย แต่ยากที่ผู้คนจะไม่ลืมเลือน บันทึกไว้พอได้จดจำ
ชอบคุณครับ
นายนุ
รูปจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 43 หน้า 1343 วันที่ 6 กรกฏาคม 2473
โฆษณา