17 พ.ค. เวลา 15:02 • สุขภาพ

ความหมายของฝัน ในมุมการแพทย์

ความฝันเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก และโรมัน ความฝันถูกมองว่าเป็น “สารจากเทพเจ้า” หรือวิญญาณบรรพบุรุษที่มาสื่อสารกับมนุษย์ แผ่นดินเหนียวของชาวสุเมเรียน ราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชมีบันทึกความฝันของกษัตริย์และนักบวช โดยมีการตีความตามแบบพิธีกรรม
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17–18 นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาอธิบายความฝันโดยใช้แนวคิดเชิงกลไกของร่างกาย เช่น เรอเน เดการ์ต (René Descartes) เชื่อว่าสมองคือแหล่งที่อยู่ของ “วิญญาณแห่งเหตุผล” และความฝันคือผลลัพธ์ของภาพจำที่ถูกส่งออกมาจากร่างกาย
ศตวรรษที่ 20 แนวคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความฝันอย่างสิ้นเชิง เขาเสนอว่า “ความฝันคือเส้นทางสู่จิตไร้สำนึก” (The Interpretation of Dreams, 1900) โดยเชื่อว่าความปรารถนาในจิตไร้สำนึก (โดยเฉพาะเรื่องเพศและความกลัว) จะปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในความฝัน แนวคิดนี้กลายเป็นแกนกลางของจิตวิเคราะห์ และส่งผลมหาศาลต่อวัฒนธรรม ตำราแพทย์ และการบำบัด
ความฝันมีหลายลักษณะ แต่ละลักษณะสามารถบ่งบอกความหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของเราได้ดังนี้
1. ฝันร้าย (Nightmares): ตัวบ่งชี้ของภาวะผิดปกติทั้งกายและใจ
1
ฝันร้ายที่เกิดซ้ำๆ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ อาจบ่งชี้ถึงภาวะผิดปกติในระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท เช่น นอร์อิพิเนฟรีน (norepinephrine) และ เซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการนอนหลับและอารมณ์
1
งานวิจัยชี้ว่า ผู้ป่วยที่มี Obstructive Sleep Apnea (OSA) หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักมีฝันร้ายเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองมีการตอบสนองที่รุนแรงต่อสิ่งกระตุ้นและตีความออกมาเป็นความฝันเชิงลบได้บ่อยขึ้น การฝันร้ายยังพบในกลุ่มผู้มี ภาวะไข้สูง หรืออยู่ระหว่างการติดเชื้อเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่สมองกำลังตอบสนองต่อการอักเสบ
2. ฝันที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดในร่างกาย: การสื่อสารของระบบประสาทรับความรู้สึก (nociceptive processing)
ในบางกรณี คนเราจะฝันถึงการถูกทำร้าย ถูกแทง หรือบาดเจ็บในลักษณะที่คล้ายกับตำแหน่งของความเจ็บปวดทางกายภาพที่เป็นอยู่จริง เช่น ปวดท้องแล้วฝันว่าถูกแทงที่ท้อง ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้จากการที่ nociceptors (ตัวรับความเจ็บปวด) ยังคงส่งสัญญาณมายัง สมองส่วน thalamus และ somatosensory cortex แม้ในระหว่างการนอน
ทำให้สมอง “ตีความ” ความรู้สึกเจ็บเป็นเนื้อหาในฝันโดยไม่รู้ตัว ความฝันลักษณะนี้มักพบในผู้ที่มีภาวะปวดเรื้อรัง เช่น fibromyalgia, endometriosis หรือ chronic low back pain และอาจช่วยให้แพทย์สงสัยถึงการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถระบุได้โดยตรงในชีวิตประจำวัน
3. ฝันแบบเคลื่อนไหวรุนแรง: สัญญาณเตือนภาวะเสื่อมของระบบประสาท
หากผู้สูงอายุมีพฤติกรรมรุนแรงขณะฝัน เช่น ตะโกน ต่อย เตะ หรือแสดงท่าทางสู้รบขณะนอนหลับ โดยมักจำฝันได้ว่าตนเองกำลังต่อสู้หรือหนีจากอันตราย ภาวะนี้เรียกว่า REM Sleep Behavior Disorder (RBD) เป็นความผิดปกติที่กลไกยับยั้งการเคลื่อนไหวในช่วง REM ทำงานบกพร่อง งานวิจัยระบุว่าผู้ที่มีอาการนี้มากกว่า 80% จะพัฒนาไปเป็นโรคทางระบบประสาทเสื่อม เช่น Parkinson’s disease หรือ Dementia with Lewy Bodies ในช่วง 5-10 ปีหลังเริ่มมีอาการ เป็นตัวอย่างชัดเจนของการที่ “ฝัน” สะท้อนพยาธิสภาพระดับลึกในระบบประสาทกลาง
4. ฝันชัดเจนหรือฝันซ้ำซาก: ตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงในระบบสื่อประสาท
1
หากมีฝันที่ชัดเจน (lucid dream) เกิดบ่อยผิดปกติ หรือฝันซ้ำๆ ในลักษณะเดิมทุกคืน อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตัวรับ cholinergic และ dopaminergic ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วนของการทำงานในสมอง รวมถึงการใช้ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด เช่น SSRIs หรือกลุ่ม benzodiazepines สามารถกระตุ้นให้เกิด REM rebound และฝันที่ชัดเจนหรือยาวขึ้นอย่างผิดปกติได้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะ narcolepsy หรืออาการหลับโดยไม่รู้ตัวร่วมกับการฝันในทันที
5. ฝันที่ไม่มีเลยหรือจดจำไม่ได้
1
ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าการไม่มีฝันคือการนอนที่ดี งานวิจัยพบว่า การไม่จดจำความฝัน อาจเป็นผลจากการขาด REM sleep หรือเกิดจากความผิดปกติของ prefrontal cortex ซึ่งมีบทบาทในการเก็บรักษาความทรงจำขณะหลับ หากร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ความจำเสื่อมตอนตื่น เบลอ มึนงง หรือปวดศีรษะตอนเช้า อาจเป็นสัญญาณของ ภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง (chronic insomnia), ภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น (early cognitive decline) ผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น ยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 1st generation และยากันชักบางชนิด
นอกจากความฝัน จะเป็นภาพพักหน้าจอแบบสุ่มขณะที่เรานอนหลับแล้ว ความฝันยังเป็นสิ่งสะท้อนกลไกของร่างกายและภาวะทางพยาธิสภาพในระดับลึก ตั้งแต่ระบบประสาท สารเคมีในสมอง ไปจนถึงอวัยวะต่างๆ ผู้ที่มีความฝันผิดปกติซ้ำซาก ฝันร้ายบ่อย หรือแสดงพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน ควรเข้ารับการประเมินจากแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทหรือแพทย์เวชศาสตร์การนอนหลับ เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม
อ้างอิง
โฆษณา