Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
18 พ.ค. เวลา 11:08 • ความคิดเห็น
จุดอ่อนคือจุดแข็งที่ปลอมตัวมา
เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5 และได้รับการ mentoring จากพี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร
1
ในการเจอกันครั้งแรก สิ่งที่พี่อ้นให้ผมกับเพื่อนอีกสองคนเป็นการบ้าน คือการไปทำ CliftonStrengths (ชื่อที่คุ้นหูมากกว่าคือ StrengthsFinder) และให้เบอร์ติดต่อโค้ชที่เก่งเรื่องนี้มาช่วยอ่านผลให้เราฟัง
เพราะหนึ่งในสิ่งที่ผู้บริหารวัยกลางคนต้องเผชิญ คือการตัดสินใจว่าเราจะเป็นผู้นำแบบไหน
บางทีเราเห็นผู้นำที่เราชื่นชอบและชื่นชม เราจึงอยากเป็นอย่างเขา อยากทำอย่างเขาบ้าง ทั้งที่จริงแล้วเรากับเขาไม่เหมือนกันเลยสักนิด
บางคนเป็น introvert แต่มีภาพจำว่าผู้นำต้องพูดเก่ง พอพยายามจะเป็น extrovert บ้างก็เลยเหนื่อยและไม่เป็นตัวของตัวเอง
การทำ CliftonStrengths จะทำให้เรารู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไร และจุดที่เราไม่ถนัดหรือให้ความสำคัญน้อยคืออะไร
2
ผมทำบททดสอบเสร็จ ก็ได้คำตอบว่าจุดแข็ง 5 ข้อของผมคือ
1
1.Relator ผู้สร้างสัมพันธ์
2.Connectedness ผู้เห็นความเชื่อมโยง
3.Empathy ผู้มีความเข้าอกเข้าใจ
4.Learner ผู้ใฝ่รู้
5.Responsibility ผู้มีความรับผิดชอบ
ส่วน 5 ข้อที่ผมได้คะแนนต่ำสุดคือ
30.Command นักบัญชาการ
31.Competition นักแข่งขัน
32.Woo ผู้ชนะใจ
33.Restorative นักปรับปรุงแก้ไข
34.Significance ผู้เห็นความสำคัญ
ผมเอาคำแปลไทยที่มากจากบททดสอบโดยตรง แต่ขอขยายความคำว่า Woo, Significance และ Restorative เพิ่มเติม
ใครที่ Woo สูงๆ จะสามารถทำความรู้จักกับคนใหม่ได้ง่าย ส่วนคนที่ Woo ต่ำๆ คือคนที่เวลาไปปาร์ตี้แล้วชอบยืนถือแก้วคุยแค่กับคนรู้จัก หรือไม่ก็แทบไม่ได้คุยกับใครเลย เวลาจะกลับก็หนีกลับแบบเงียบๆ
Restorative หมายถึงคนที่เห็นความผิดพลาดได้เก่ง ทนไม่ได้กับเรื่องผิดเล็กๆ น้อยๆ ต้องพยายามแก้ไขให้ถูกต้องเสมอ เป็นอาการของ perfectionist อย่างหนึ่ง
Significance หมายถึงคนที่อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนสำคัญ
หลักการของ CliftonStrengths ก็คือ อะไรที่เราไม่ถนัดก็ไม่ต้องไปฝืน แต่ให้ไปหาคนที่เก่งเรื่องพวกนี้มาช่วยปิดจุดอ่อน เช่นถ้าเรา Woo ไม่ค่อยมี หรือไม่ค่อยชอบการแข่งขัน เราก็ควรมีคนแบบนี้อยู่ในทีมเพื่อช่วยทำงานบางอย่างที่ต้องอาศัยทักษะหรือมายด์เซ็ตแบบนี้
เมื่อเราปิดจุดอ่อนด้วยการพึ่งพาคนอื่นแล้ว เราก็สามารถกลับมาโฟกัสกับการใช้จุดแข็งของเราได้อย่างเต็มที่
จุดแข็งบางข้อของเราก็ช่วยปิดจุดอ่อนได้ด้วย เช่นผมได้คะแนน Communication ค่อนข้างต่ำ คืออันดับที่ 24 เท่านั้น ซึ่งผมก็แปลกใจเพราะทำงานสาย Communication อยู่หลายปีแถมยังเขียนบล็อกอีกต่างหาก โค้ชที่ผมคุยด้วยอธิบายว่า Communication ในบริบทนี้คือเป็นคนที่สามารถพูดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาได้ดังใจ วาจามีเสน่ห์ เป็นศูนย์กลางของวงสนทนาได้ ซึ่งผมก็พบว่าเวลาตัวเองอยู่ในกลุ่มคนใหญ่ๆ ก็พูดไม่ค่อยเก่งจริงๆ นั่นแหละ จะเงียบและฟังเสียมากกว่า
แล้วโค้ชก็อธิบายว่า การที่ผมสามารถทำงานสายสื่อสารได้ดี อาจเป็นเพราะผมมี Empathy อยู่อันดับที่ 3 ทำให้รู้ว่าผู้ฟังหรือผู้อ่านกำลังคิดอะไรอยู่ จึงสามารถเลือกสิ่งที่จะสื่อสารออกมาได้ตรงใจผู้รับ
3
ผมพบว่า CliftonStrengths เป็นหนึ่งในบททดสอบที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับคนทำงาน เพราะมันเป็น “ตัวเริ่มบทสนทนา” กับคนในทีมได้ ผมเลยให้ลูกน้องหลายคนในทีมทำ และเอาผลมาแชร์กัน
ผมเคยเชิญโค้ชด้านนี้มาสอนที่บริษัทด้วย และหนึ่งในความรู้ที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการเข้าคลาสนั้นก็คือ “ให้ระวังจุดแข็ง 5 ข้อของเราให้ดี เพราะเรามักจะใช้มันจน ‘ช้ำ’ แล้ว และถ้าใช้บ่อยเกินไปก็จะกลายเป็นจุดอ่อน หรือ blind spots ได้”
อย่างผมที่มีความเป็น Relator เป็นข้อแรก ซึ่งหมายถึงสามารถสร้างความเชื่อใจกับคนได้ (โดยต้องใช้เวลา) ทำให้เป็นคนมีเพื่อนไม่มาก แต่เพื่อนที่มีก็จะไว้ใจและเชื่อใจกันพอสมควร
แต่มุมกลับของ Relator คือมันอาจจะทำให้เราเป็นคนที่เข้าถึงยาก หรือดูมีพวกพ้องได้เช่นกัน
1
อีกข้อที่เป็น Top 5 ของผมก็คือ Empathy ที่ทำให้เราเห็นใจคน รู้สึกได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอะไร ซึ่งจะว่าไปก็เหมาะกับงาน HR ที่ต้องทำอะไรกระทบกับคนเยอะๆ
แต่ถ้าเราใช้ Empathy มากเกินไป ก็อาจจะทำให้เป็นคนขี้สงสาร ตัดสินใจไม่เด็ดขาด หรือกลับไปกลับมา
จุดแข็งที่ใช้มากไปจึงอาจกลายเป็นจุดอ่อน
----
ในมุมกลับ จุดอ่อนก็อาจกลายเป็นจุดแข็งได้เช่นเดียวกัน
ในหนังสือ The Laws of Human Nature ของ Robert Greene (ผู้เขียนคนเดียวกับ The 48 Laws of Power) กรีนบอกว่าบางทีจุดอ่อนก็เป็นจุดแข็งที่ปลอมตัวมา – Weakness can be a strength in disguise.
1
ไม่มีนิสัยแบบไหนที่ ‘ดี’ หรือ ‘แย่’ ในตัวมันเอง เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเราอาจจะเรียกมันว่า situational strengths และ situational liabilities ก็ได้
กรีนยกตัวอย่าง อัมบราฮัม ลินคอล์น ที่มักจะมีอาการซึมเศร้าอยู่บ่อยๆ เลยทำให้เขาดูหม่นหมองตลอดเวลา แต่เมื่อเป็นคนแบบนี้ ลินคอนล์นจึงเข้าใจความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ และมีความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้นำที่เหมาะสมในการพาสหรัฐผ่านวิกฤติ Civil War
1
หรือการที่ แฟรงคลิน รูสเวลต์ ป่วยเป็นโรคโปลิโอในวัย 39 ปี ต้องใช้ไม้เท้าหรือรถเข็นเกือบตลอดเวลา ก็ได้เปลี่ยนเขาจากอภิสิทธิ์ชนบนหอคอยงาช้างให้กลายเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าเดิม และมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศผ่านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
1
อะไรที่เราคิดว่าเป็นจุดอ่อน จึงอาจกลายเป็นจุดแข็งได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันในสถานการณ์แบบไหน
1
ความเป็นคนไม่อดทน (impatience) อาจช่วยให้เรากลายเป็นคนที่รู้ว่าอะไรสำคัญและเร่งด่วน (sense of urgency)
5
การที่เรายอมแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น (vulnerability) อาจทำให้คนอื่นเปิดใจกับเรามากกว่าเดิม
1
การที่เราเป็นคนขี้อาย อาจทำให้เรากลายเป็นคนช่างสังเกต
1
ดังนั้น หากมีนิสัยบางอย่างที่เราหงุดหงิดและรู้สึกว่าเป็นจุดอ่อนของเรามานาน จะแก้ตอนนี้ก็เป็นไม้แก่ดัดยากเสียแล้ว บางทีเราอาจต้องปรับความรู้สึกเสียใหม่ ว่าเราจะเปลี่ยนจุดอ่อนนี้ให้กลายเป็นจุดแข็งในบางสถานการณ์ได้อย่างไร
ส่วนในสถานการณ์ที่จุดอ่อนจะกลายมาเป็น situational liability ก็ควรจะหาเพื่อนหรือลูกทีมมาจัดการสถานการณ์นั้นแทนเรา
ก่อนจะจากกันไป ขอฝากนิทานเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเล่าเอาไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้วครับ
----
เด็กชายอายุ 10 ขวบประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนสูญเสียแขนข้างซ้ายไป เมื่อออกจากโรงพยาบาล เขาอยากจะเข้มแข็งกว่านี้ เลยตัดสินใจเรียนยูโด
3
เด็กชายแขนเดียวไปฝากเนื้อฝากตัวกับเซนเซชาวญี่ปุ่นที่แก่พอจะเป็นปู่เขาได้
เด็กชายสนุกกับการเรียนยูโดมาก แต่เวลาผ่านไปสามเดือนแล้ว อาจารย์ก็ยังให้ฝึกท่ายูโดอยู่เพียงท่าเดียว
“เซ็นเซครับ ผมควรจะเรียนท่าอื่นๆ ด้วยรึเปล่า?”
“นี่คือท่าเดียวที่เธอทำเป็น แต่ก็เป็นท่าเดียวที่เธอจำเป็นต้องรู้” เซ็นเซตอบ
แม้จะไม่ค่อยเข้าใจแต่เด็กน้อยก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกต่อไป
จากนั้นไม่นาน อาจารย์ก็พาเขาไปแข่งทัวร์นาเมนต์
ด้วยความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เด็กชายเอาชนะคู่ต่อสู้ในสองรอบแรกได้อย่างง่ายดาย
แมทช์ที่สามนั้นยากกว่าเดิม แต่เมื่อถึงจังหวะที่คู่ต่อสู้หมดความอดทนและกระโจนเข้ามา เด็กชายก็ใช้ท่าเดียวที่เขามีอยู่ล้มคู่ต่อสู้เขาได้
เด็กชายเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศอย่างงงๆ คู่ชิงนั้นเป็นเด็กที่ตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่ามาก แต่แล้วเมื่อถึงจังหวะที่คู่ชิงประมาท เด็กชายก็เข้าประชิดตัวแล้วใช้ท่าเดิมในการเผด็จศึก
“เซ็นเซครับ เป็นไปได้ยังไงที่ท่าเพียงท่าเดียวทำให้ผมชนะเลิศได้”
“เหตุผลมีสองข้อ ข้อแรกคือเธอได้ฝึกฝนหนึ่งในท่าที่ยากที่สุดของยูโดจนเชี่ยวชาญ”
เซนเซกล่าวต่อ
“ข้อที่สองก็คือ วิธีเดียวที่คู่ต่อสู้จะป้องกันท่านี้ได้ คือการคว้าแขนซ้ายของเธอไว้”
3
----
ขอบคุณนิทานจาก Quora: Harshil Pathak’s answer to What are some good short stories?
ขอบคุณเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก The Laws of Human Nature by Robert Greene
75 บันทึก
68
1
64
75
68
1
64
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย