18 พ.ค. เวลา 12:34 • ธุรกิจ

Foursquare หายไปไหน? จากโซเชียลล้มเหลวสู่ยักษ์ใหญ่เบื้องหลังแอปที่คุณใช้ทุกวัน

ถ้าใครทันยุคช่วงแรกเริ่มของเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่าต้องเคยกดเช็คอินผ่าน Foursquare อย่างน้อยสักครั้งในชีวิตอย่างแน่นอน บางคนอาจเคยได้เป็น “mayor” หรือได้รับเหรียญตรา super user มาแล้วด้วยซ้ำ
แต่เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ Foursquare อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว หลายคนคิดว่าแอปนี้ตายไปแล้ว แต่เรื่องราวของพวกเขาไม่ได้จบแบบที่หลายคนคิด
ย้อนกลับไปปี 2009 Dennis Crowley และ Naveen Salvadore อยากสร้างแอปคู่แข่ง Twitter แต่มีจุดเด่นตรงที่รู้ว่าเพื่อนอยู่ที่ไหน Foursquare จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดสุดเรียบง่าย แต่เจ๋งมากๆ คือให้ผู้ใช้ระบุตำแหน่งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบาร์ ร้านอาหาร คาเฟ่ และคนที่ติดตามจะรู้ว่าอยู่ที่ไหน
ผู้ใช้ยังสามารถโพสต์สถานะ รีวิวสถานที่ และบางแห่งยังเช็คอินให้แบบอัตโนมัติ ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือผู้ใช้สามารถสะสมเหรียญตรา (Badges) ได้ด้วย และถ้าเช็คอินบ่อยที่สุดในที่ไหนสักแห่ง ก็จะได้เป็น “mayor” ซึ่งในยุคอินเทอร์เน็ตปี 2010 เรื่องนี้ยิ่งใหญ่มาก
เสน่ห์อันโดดเด่นของ Foursquare คือช่วยให้เราค้นพบสถานที่ใหม่ๆ ตั้งแต่ร้านหนังสือยันคาเฟ่ ธุรกิจก็ได้ประโยชน์จากการเช็คอินสุดล้ำนี้ เกิดเป็นเครือข่ายเล็กๆ สำหรับทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
แนวคิดนี้ฮิตสุดๆ จนบางคนทำนายว่าอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Facebook ช่วงหนึ่งคำทำนายนี้ดูแม่นมาก Foursquare กลายเป็นเด็กใหม่สุดเจ๋งในวงการ ธุรกิจต่างๆ รีบไปติดโลโก้ Foursquare ที่หน้าต่างและฟอร์มติดต่อของพวกเขา
สำหรับผู้ใช้ Foursquare การรู้ว่าเพื่อนอยู่ไหนและการสะสมเหรียญกลายเป็นเรื่องที่คนหมายปอง ไม่นานนักเหล่าคนดังก็เข้าร่วมขบวน บางคนถึงกับสร้างโหมดพิเศษสำหรับคนดัง ให้แฟนๆ ติดตามพวกเขาได้
นักบินอวกาศอย่าง Doug Wheelock ได้เช็คอินบน Foursquare จากสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้เขาได้เหรียญ NASA Explorer ซึ่งดูเหมือนมันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ NASA เลยต้องสร้างเว็บพิเศษให้คนอื่นๆ มีโอกาสได้เหรียญนี้บ้าง แม้แต่ Barack Obama ก็ยังเช็คอินในงานประชุมสาธารณะ
ธุรกิจต่างๆ ก็สร้างเหรียญเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยผู้ใช้อาจจะได้รางวัลเป็นไอศกรีมฟรี พิซซ่า หรือหนังสือ ขึ้นอยู่กับที่ที่เคยไป ช่วงนั้น Foursquare มาแรงมาก มีการพูดถึงมูลค่าสูงถึงพันล้านดอลลาร์ และคู่แข่งก็เริ่มชายตามอง
Yahoo มาเคาะประตูเป็นรายแรกในปี 2010 เสนอเงินประมาณ 100-120 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย Facebook ที่เสนอ 120 ล้านดอลลาร์ แต่ Crowley ขอเงิน 150 ล้าน ทำให้ Zuckerberg ยอมถอย Crowley ยืนยันว่ากำลังมองหาอนาคตที่ดีที่สุดให้บริษัท
แต่อีกไม่กี่ปีต่อมา สื่อโจมตีเขาที่ไม่รับเงินตอนนั้น เพราะการเจรจาซื้อกิจการจบลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาหลักคือตัวเลขรายได้ Foursquare ที่มีแค่ 1.35 ล้านดอลลาร์ การลงทุน 120 ล้านดอลลาร์ดูจะเป็นเรื่องบ้าคลั่ง
ไม่นานนัก Foursquare ก็สูญเสียเสน่ห์ สาเหตุหลักเป็นเพราะ Facebook ที่มีอิทธิพลเกินต้านทาน และมีเครือข่ายสังคมอื่นๆ ที่ฮอตกว่า เช่น Instagram และ Snapchat เริ่มเติบโตขึ้น การเช็คอินก็ไม่เซ็กซี่เท่าการโพสต์รูปภาพอีกต่อไป
Foursquare เริ่มดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว Crowley ต้องการเงินสด เมื่อไม่มีข้อตกลงซื้อกิจการ เขาจึงหานักลงทุน Ben Horowitz ได้ทุ่มเงิน 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือได้ว่าแทบจะเป็นเงินที่ส่งมาจากสวรรค์เลยทีเดียว
ช่วงเวลานั้น Foursquare ไม่ได้เผชิญแค่คู่แข่งภายนอก แต่ Crowley ยังต้องฝ่าฝันต่อสู้กับปัญหาการเติบโตที่กินเงินบริษัทไปมากโข ไม่มีเงินหมายถึงไม่มีนวัตกรรม เขาจึงระดมทุนเพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์ด้วยมูลค่า 550 ล้านดอลลาร์
แต่นั่นก็คือเงินทุนก้อนสุดท้าย ไม่มีเงินเพิ่มอีกต่อไปแล้ว เพราะเขายังไม่สามารถแสดงโมเดลทางการเงินที่คุ้มค่า การทำเงินยังเป็นความท้าทายหลักของ Foursquare
ในปี 2012 บริษัททำเงินได้แค่ 2 ล้านดอลลาร์ สื่อจึงทำนายว่า Foursquare จะล่มสลาย ปี 2013 Business Insider บอกว่า Foursquare จะตายภายในสิ้นปี ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย
แต่เบื้องหลังฉาก Crowley กำลังเจอขุมทรัพย์บางอย่าง เพราะเรื่องที่น่าตลกก็คือ Foursquare นั่งอยู่บนหีบทองคำโดยไม่รู้ตัว เพราะทั้ง การเช็คอิน สถานที่ ตำแหน่ง อาหาร การจราจร ทั้งหมดนี้มันคือข้อมูลที่มีค่ามหาศาล
มีสถานที่ลงทะเบียนถึง 85 ล้านแห่ง และคนรักข้อมูลพวกนี้มากในทุกวันนี้ จนเจ้าของธุรกิจเริ่มเข้าหาพวกเขาด้วยคำถามเกี่ยวกับตลาด
ในปี 2014 Crowley จึงเลิกสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเน้นการใช้งานแบบเครือข่ายโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว Foursquare จะช่วยเหลือธุรกิจ นักโฆษณา แบรนด์ และนักพัฒนาทั้งหมดผ่านข้อมูลของพวกเขา
เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ Foursquare แยกตัวและปล่อย Swarm เครือข่ายสังคม ที่ยังเน้นการเช็คอิน แต่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่างเพื่อนสนิทและเครือข่าย ส่วนอีกแอปคือ Foursquare City Guides ที่เป็นคู่แข่ง Yelp ผู้ใช้เช็คอินและรีวิวสถานที่
ดูเหมือนว่าการแยกจะได้ผล แต่ก่อนการตัดสินใจ ยอดดาวน์โหลด Foursquare ใน App Store ลดฮวบ แต่หลังการแยกยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นและเกิดกระแสคุยเกี่ยวกับการเปิดตัวแอปใหม่นี้
Swarm ติดอันดับใน 10 อันดับแรกช่วงสิงหาคม 2014 แต่กระแสดับสนิทเร็วมาก ภายในเดือนกันยายน มันตกต่ำกว่าอันดับ 1,000 ทั้งใน iOS และ Android Foursquare ก็เจอชะตากรรมคล้ายกัน ดูเหมือนจุดจบใกล้มาถึง
เป็นเวลาหลายปีที่บริษัทได้ปรับปรุงข้อมูล เครื่องมือ และเทคโนโลยี รายได้จะมาจากการให้ใบอนุญาต ทำให้ตัวของ Crowley ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ในปี 2016 และให้ Jeff Glueck เข้ามากุมบังเหียนแทน
Foursquare ก็กำลังหายไปจากสายตาโลกภายนอก เว้นแต่กลุ่มผู้ใช้ที่สนใจรีวิวและเยี่ยมชมสถานที่นั้นจริงๆ ฝั่งของ Swarm ก็มีผลงานไม่ดีนัก แม้แต่ Crowley เองก็ยอมรับในปี 2017 ว่าเขาไม่ได้ใช้มันมากในฐานะเครือข่ายสังคม
แต่ Crowley มีอาวุธลับเรียกว่า Pilgrim ซึ่งเป็นชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ตรวจจับว่าโทรศัพท์กำลังเคลื่อนที่เข้าออกจากสถานที่โดยอัตโนมัติ โดยผู้ใช้ไม่ต้องกดเช็คอิน
การขาย Pilgrim มีความหมายสุดๆ การติดตามอัตโนมัติทำนายแนวโน้มและแสดงพฤติกรรมผู้ใช้ได้แม่นยำกว่า และ Pilgrim เป็นของ Foursquare ที่ไม่ได้เป็นของยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook หรือ Google ทำให้น่าดึงดูดสำหรับผู้ใช้บางประเภท
ภายในปี 2018 ข้อมูล Foursquare มี 3 พันล้านการเข้าชม และมีคน 25 ล้านคนทั่วโลกเลือกให้ติดตามข้อมูลตลอดเวลา อีกปีต่อมา นักพัฒนา 150,000 คนใช้เทคโนโลยีของพวกเขา ซึ่งนั่นคือเงินมหาศาล
ในปี 2019 Foursquare ควบรวมกับบริษัทข้อมูล Factual และ Placed และด้วยบริษัทเหล่านี้ มันสร้างชื่อเป็นยักษ์ใหญ่ด้านข้อมูล นี่หมายถึงโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่งเสียที
ข้อมูลและซอฟต์แวร์ของ Foursquare ตอนนี้ช่วยให้แอปต่างๆ ทำงาน เช่น Microsoft, Samsung, Twitter และ Uber
ไตรมาส 4 ปี 2020 บริษัทมีกำไรครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ และในปี 2019 พวกเขามีรายได้มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่เราเชื่อว่า Foursquare ล้มเหลวในฐานะเครือข่ายสังคม และมันดูเหมือนจะล้มเหลวจริงๆ แต่พวกเขาสามารถสร้างตัวเองขึ้นใหม่ได้
สรุปแล้วพวกเราทุกคนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ Foursquare ในแบบที่เราไม่เคยคาดคิด เราเพียงแค่ไม่รู้ตัวว่าเรากำลังใช้มันอยู่ทุกวัน ผ่านแอปและบริการต่างๆ ที่พึ่งพาข้อมูลของพวกเขา
เรื่องราวของ Foursquare สอนบทเรียนล้ำค่าเกี่ยวกับการปรับตัวและการค้นพบคุณค่าที่แท้จริงในสิ่งที่คุณมี บางครั้ง ‘ความล้มเหลว’ ที่โลกมองเห็น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
1
การที่ Crowley กล้าปฏิเสธข้อเสนอหลายร้อยล้าน และเปลี่ยนทิศทางบริษัทอย่างสิ้นเชิง พิสูจน์ให้เห็นว่าบางครั้งการยอมแพ้ในสิ่งที่เราสร้างมากับมือ อาจนำไปสู่โอกาสที่ดีกว่า
และใครจะรู้ เผลอๆ ตอนนี้คุณอาจกำลังใช้เทคโนโลยีของ Foursquare อยู่ผ่านแอปโปรดของคุณโดยไม่รู้ตัว มันแสดงให้เห็นว่าในโลกดิจิทัล ความสำเร็จอาจไม่ได้มาในรูปแบบที่คาดหวังเสมอไป บางครั้งมันอาจซ่อนอยู่เบื้องหลังฉาก ขับเคลื่อนโดยข้อมูลและนวัตกรรมที่เราแทบไม่สังเกตเห็น
References : [mashable, techcrunch, fastcompany, forbes, businessinsider]
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
The original article appeared here https://www.tharadhol.com/where-has-foursquare-gone/
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา