19 พ.ค. เวลา 13:00 • ข่าว

ทำความรู้จักโรคลีเจียนแนร์ โรคจากน้ำ ภัยเงียบในชีวิตประจำวันที่ตัองระวัง

เคยได้ยินชื่อ "โรคลีเจียนแนร์" กันหรือไม่ ชื่อนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้ซ่อนตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา โรคลีเจียนแนร์เกิดจากการที่เราสูดดมละอองน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า "ลีจีโอเนลลา" เข้าไปในปอด ซึ่งเจ้าเชื้อร้ายนี้ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ รอบตัวเรา
โรคลีเจียนแนร์ มาจากการระบาดครั้งแรกในปี 1976 ในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมทหารผ่านศึกอเมริกัน (American Legion) ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างคนสู่คน โดยจะไม่แพร่กระจายจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง แต่เกิดจากการสูดดมละอองน้ำที่มีเชื้อเท่านั้น
  • อาการของโรคลีเจียนแนร์
ผู้ที่ติดเชื้ออาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไอ บางรายอาจมีอาการปอดบวมร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
  • วิธีการป้องกันโรคลีเจียนแนร์
การป้องกัน สามารถทำได้ด้วยการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาระบบน้ำต่างๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อระบบปรับอากาศ, การจัดการระบบน้ำร้อนให้มีอุณหภูมิสูงพอที่จะฆ่าเชื้อได้, และการบำรุงรักษาสระว่ายน้ำและสปาอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
แหล่งน้ำแบบไหนบ้าง ที่เป็นจุดเสี่ยงที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ลองสำรวจรอบตัวกันดูสถานที่ที่เราอาจคาดไม่ถึงก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็น ในอาคารและสถานที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ถาดรองน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศที่เราอาจมองข้าม, สระว่ายน้ำและน้ำพุประดับอาคารที่ดูสวยงามแต่ก็อาจมีเชื้อปะปน, หรือแม้แต่ในสปาที่เราไปผ่อนคลายก็ต้องใส่ใจความสะอาดของระบบน้ำ
รวมถึงในโรงแรม โดยเฉพาะระบบหอผึ่งเย็น (Cooling Tower) ที่มีการระบายความร้อนด้วยน้ำ, ถังพักน้ำและถังเก็บน้ำขนาดใหญ่, หัวก๊อกน้ำและฝักบัวในห้องพักที่เราใช้ชำระล้างร่างกายทุกวัน, รวมถึงระบบท่อน้ำปิดและระบบน้ำร้อนส่วนกลาง แน่นอนว่าโรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดบางครั้งเชื้อก็อาจแฝงตัวอยู่ในระบบน้ำที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน หากการดูแลรักษาไม่ถูกสุขลักษณะ
ถึงแม้ว่าทุกคนมีโอกาสสัมผัสเชื้อลีจีโอเนลลาได้ แต่จะมีกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มที่หากติดเชื้อแล้วอาการอาจรุนแรงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ (เช่น ผู้ป่วย HIV, ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน) และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดหรือไตเรื้อรัง กลุ่มเหล่านี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ภัยเงียบจากละอองน้ำนี้อาจดูน่ากลัว แต่ถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจ รวมถึงใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ถูกสุขลักษณะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลีเจียนแนร์ได้
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา