22 พ.ค. เวลา 05:35 • ข่าว

ภาษีเรื่องใหญ่! อย่าคิดว่า สรรพากรไม่รู้ เสี่ยงหมดตัว-ธุรกิจล้มละลายได้ ถ้าโดน “ภาษีย้อนหลัง”

ทำงานอิสระ ขายของออนไลน์ ค้าขายเล็ก ๆ อย่าชะล่าใจ สรรพากรเริ่มไล่เช็ก ส่งหนังสือ “ภาษีย้อนหลัง” ถึงบ้าน เงินหมุนเวียนถึงเกณฑ์เสียภาษี อย่าคิดว่าสรรพากรไม่รู้ เสี่ยงหมดตัว-ธุรกิจล้มละลายได้ เปิดทางออก โดนภาษีย้อนหลังต้องทำอย่างไรบ้าง ?
เรียกว่าเป็นอีกปีที่กรมสรรพากร ทำงานหนักมาก ในการไล่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง ส่งจดหมายเตือน และทวงถามไปยังผู้ที่มีรายได้ เงินหมุนเวียนในบัญชี ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามกฎหมายอย่างจริงจัง
ไปจนถึง บุคคลที่จ่ายภาษีไม่ตรง ซึ่งมีโอกาสถูกตรวจสอบย้อนหลังสูงสุดนับ 10 ปี ยอดรวมเบ็ดเสร็จ อาจทำให้บางคนถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทั้ง บุคคลธรรมดาที่มีหลายรับหลายทาง และ ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ ไม่ควรละเลยเรื่องภาษี อีกต่อไป
ดั่งที่ปรากฎ ข้อความตัดพ้อ ของพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ Influencer หลายราย ออกมาเปิดเผย ว่าโดนภาษีย้อนหลังแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้กระทั่ง ผู้ที่มีเงินผ่านบัญชี จำนวนมาก ไปยังบุคคลอื่น ก็อาจโดนตรวจสอบภาษีย้อนหลังด้วยเช่นกัน
ภาษีย้อนหลัง คือ อะไร?
สำหรับ หลายคนที่อาจยังสงสัย ว่า “ภาษีย้อนหลัง” คือ อะไร ทำไม กรมสรรพากรถึงรู้ข้อมูลว่าใครบ้างไม่ยื่นภาษี และ ไม่เสียภาษี อย่างถูกต้องครบถ้วน
ว่าง่ายๆ “ภาษีย้อนหลัง” นั้น คือ การเรียกเก็บภาษี หลังจากกรมสรรพากร ตรวจสอบแล้วพบว่า เราเข้าข่ายเลี่ยงภาษี หรือจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จึงมีการส่งหนังสือแจ้งการชำระภาษีย้อนหลังมาให้
“ภาษีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บจากผู้เสียภาษีในกรณีที่ไม่ยื่นภาษี หรือยื่นไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด อาจเกิดจากการยื่นภาษีผิดพลาด หรือไม่ยื่นภาษีเลยในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมค่าปรับ และดอกเบี้ย”
ส่วนคำถามที่ว่ากรมสรรพากรรู้ได้อย่างไร? ปัจจุบันมีหลายช่องทางในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่สรรพากรออกตรวจเยี่ยมด้วย ที่สถาบันการเงินส่งข้อมูลให้เมื่อมีการรับโอนเงิน ผ่านระบบE-payment หรือดูข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่าย) ที่บริษัทต่างๆ ส่งให้กับกรมสรรพากร ตลอดจนการเปิดให้แจ้งเบาะแสผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th เป็นต้น
- การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ถ้าเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ
- นิติบุคคล มีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี
- หากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าจงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีสามารถขยายเวลาอายุความไปได้ถึง 5 ปี
- กรณีผู้ที่เคยยื่นแบบภาษีสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 10 ปี
- ภาษีธุรกิจสามารถตรวจสอบย้อนหลัง ได้มากถึง 10 ปีเช่นกัน
ใครเสี่ยงโดนภาษีย้อนหลัง?
- ฟรีแลนซ์
- เจ้าของธุรกิจ ที่มีรายได้ไม่ประจำ
- ผู้ที่ยื่นภาษีผิด หรือ ยื่นไม่ครบถ้วน
- ผู้ที่ไม่ยื่นภาษีในบางปีโดยไม่รู้ตัว
- ผู้ที่มีรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่ไม่แจ้งให้ครบ
เปิดข้อมูลเบี้ยปรับ ,เงินเพิ่ม และบทลงโทษคนเลี่ยงภาษี
เบี้ยปรับ
- ปรับ 1 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องจ่าย : กรณียื่นภาษีทันกำหนดและเสียภาษีไม่ครบ
- ปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องจ่าย : กรณีไม่ยื่นภภาษีภายในกำหนดเวลา
เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยผิดชำระหนี้)
เงินเพิ่ม ถือเป็นมาตรการลงโทษทางแพ่ง กับผู้เลี่ยงภาษีหรือจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง โดยปกติหากโดนเบี้ยปรับแล้วก็ต้องเสียเงินเพิ่มด้วย โดยจะถูกคิด 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่ายเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่เลยกำหนดยื่นภาษีจนถึงวันที่จ่ายภาษี
“บางกรณีอาจมีโทษทางอาญา เช่น ปรับ 2,000-200,000 บาท หรือ จำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี สำหรับกรณีที่พบว่าจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร”
โดนหนังสือภาษีย้อนหลังต้องทำอย่างไรบ้าง ?
สำหรับผู้ที่โดนส่งหนังสือแจ้งเรื่องการชำระภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร สิ่งที่ต้องทำ มีดังนี้
1.ตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจน ทั้งเอกสาร หรือ ใบแจ้งหนี้ที่ส่งมาจากกรมสรรพากรอย่างละเอียด
2.หากการคำนวณ หรือ มีข้อมูลมีข้อผิดพลาด ให้ยื่นคำร้องขอการปรับปรุงข้อมูลใหม่
3.ชำระภาษีที่ค้างอยู่ตามกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มค่าปรับและดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้น
4.เราสามารถขอปรับลดค่าปรับและดอกเบี้ยได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ทำให้การยื่นภาษีผิดพลาด หรือ ช้ากว่ากำหนด
“เบี้ยปรับ สามารถขอลด หรือ ยกเว้นได้ แต่เงินต้น และเงินเพิ่มของภาษี ยังต้องจ่ายให้ครบถ้วนไม่สามารถขอยกเว้นได้”
6.เรียนรู้จากความผิดพลาด ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องภาษี วิธีการยื่นภาษีให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาษีย้อนหลังในอนาคต
ไม่อยากโดนภาษีย้อนหลัง ป้องกันอย่างไรได้บ้าง ?
- ยื่นภาษีให้ตรงเวลา หากยื่นภาษีล่าช้า จะโดนค่าปรับทันที (สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออนไลน์ หมดเขต 8 เม.ย.2568 )
- ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย และเอกสารทุกอย่างให้ถูกต้องและครบถ้วน
- รายงานรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ฟรีแลนซ์ หรือ ค่าคอมมิชชั่น
- ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อบริหารภาษีอย่างคุ้มค่า
- เก็บหลักฐานภาษีไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อตรวจสอบย้อนหลัง
สุดท้าย จำไว้ว่า เรื่องภาษี ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และ ไม่เข้าใครออกใคร หากยื่นผิด ยื่นช้า หรือไม่ยื่นเลย วันหนึ่งเราอาจโดนภาษีย้อนหลังโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน
ที่มา : กรมสรรพากร , K SME , AIA
อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา