22 พ.ค. เวลา 07:16 • ความคิดเห็น

ปัญหาแท็กซี่คือปัญหาอีโคโนมี่

ข่าวร้อนช่วงนี้ข่าวหนึ่งก็คือการที่กลุ่มแท็กซี่ออกมาประท้วงแกร็บที่สุวรรณภูมิ อยากให้รัฐบาลยกเลิกแกร็บ บอกว่าถ้ามีอยู่คือขายชาติเพราะแกร็บไม่ใช่คนไทย ถ้าไม่ยกเลิกก็มีขู่จะปิดทางเข้าออกสุวรรณภูมิด้วยซ้ำ
ความเห็นของคนทั้งประเทศไม่ว่าจะเพจไหนเว็บไหนนี่คือระดับฉันทามติที่นานๆทั้งประเทศจะเห็นตรงกันซักทีว่าถ้าให้เลือกก็เอาแกร็บดีกว่ามาก
เพราะทุกคนเคยมีประสบการณ์เลวร้ายไม่ว่าทางใดทางหนึ่งกับแท็กซี่ไทย แค่เอ่ยปากเรื่องนี้ก็เคสมาเล่ากันสนุกปากถึงวีรกรรมแท็กซี่ เอาแค่ที่สุวรรณภูมิก็มีตั้งแต่บวกราคา ขับอ้อม มารยาทแย่ ฯลฯ
อาทิตย์ก่อนรุ่นน้องผมคนหนึ่งกลับมาพร้อมกับลูก 9 เดือน แท็กซี่ไม่พอใจ ขับกระชากและบ่นตลอดทางว่าอดงานพัทยา เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงแทนที่จะได้เหยื่อฝรั่งกลับซวยได้คนไทยปกติแทน
คนไทยเอาจริงๆยังโดนไม่เยอะเท่าต่างชาติที่เราขึ้นชื่อมากๆด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ที่สุวรรณภูมิ วัดพระแก้ว ภูเก็ต หรือตุ๊กตุ๊กในเมือง
ข่าวนี้ซักพักก็อาจจะหายไปเหมือนกับข่าวอื่น แท็กซี่ก็ยังก่อเหตุอื้อฉาวเหมือนเดิมเพื่อปากท้องตัวเอง เราทุกคนก็จะต้องทนและเม้ากับเรื่องนี้เหมือนเรื่องอื่นที่ทับถมกันในประเทศต่อไป
แต่ผมคิดว่าไหนๆ เราบ่นเรื่องปัญหาประเทศมาเยอะแล้ว ปัญหาแท็กซี่นี้น่าจะแก้ง่ายที่สุดสำหรับผู้มีอำนาจ และแก้แล้วอาจจะได้ผลกลับมาคุ้มสุดก็ได้
ในทางกลับกัน ถ้าไม่แก้ ปัญหานี้มันจะไม่ใช่แค่ปัญหาแท็กซี่ แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติที่มีผลรุนแรงกว่าที่คิดมาก
เศรษฐกิจไทยนั้น ใครๆ ก็รู้ว่าพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก เป็นเครื่องยนต์สำคัญหนึ่งในสองของเรา การท่องเที่ยวเราอยู่ในช่วงขาลง อาจจะมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่พบได้ตามเว็บต่างชาติก็คือความตุกติก ขี้โกงที่เขาเจอ
ล่าสุด Mastercard Economics Institute สำรวจเมืองท่องเที่ยวต่างๆในโลก 9 อันดับเมืองที่มีการหลอกลวงนักท่องเที่ยวเยอะสุดนั้น นอกจากจะมีเมืองอย่าง แคนคูน เม็กซิโก ดักกา บังคลาเทศ อะไรประมาณนี้แล้ว
กรุงเทพฯของเราก็ติดหนึ่งในเก้ากะเขาด้วยแถมมีภูเก็ตอีก เราคือติด 2 ใน 9 กันเลยทีเดียว ภาพลักษณ์แบบนี้ก็อธิบายได้ไม่ยากว่า ถ้าไม่แก้ที่รากนี้ โอกาสที่การท่องเที่ยวจะฟื้นคงมีไม่มาก
1
แล้วจะแก้ที่ไหนก่อน ดูกราฟแล้วชัดมากเลยครับ 48% ของปัญหา scam ของกรุงเทพฯ คือแท็กซี่ขี้โกง ครึ่งนึงของภาพลักษณ์เราคือแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊กนั่นเอง
2
ปัญหาแท็กซี่ก็คือปัญหาท่องเที่ยว ซึ่งก็คือปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่ใครๆเริ่มบอกว่าเป็นรัฐเริ่มล้มเหลว มันใหญ่กว่าแค่ปัญหาแท็กซี่เพียงอย่างเดียวมาก
ในเมืองใหญ่ต่างๆ มีหลายเมืองที่แท็กซี่ให้บริการได้ดี เป็นธรรม แทบไม่มี scam เลยก็มีไม่น้อย บางเมืองถึงกับเป็นจุดขายของเมืองเอาด้วยซ้ำและแข่งกับรถเรียกผ่านแอฟได้อย่างสูสี ที่อังกฤษ แท็กซี่ black cab ขึ้นชื่อเรื่องความรู้เส้นทาง มาตรฐานที่เป๊ะมากๆ ที่ญี่ปุ่นคือความสุภาพขั้นสูงสุดแม้ราคาจะแพงหน่อย
ที่นิวยอร์คที่เคยแย่ ตอนนี้ก็บริการดี ราคาเป็นธรรมมากๆ แม้แต่ที่จีนก็ปรับปรุงจนไปล่าสุดยังต้องทึ่งกับมาตรฐานการให้บริการ แล้วเมืองต่างๆเหล่านี้ทำได้อย่างไร ทำไมไทยถึงทำไม่ได้
ประการแรก ไทยไม่มีหน่วยงานที่เบ็ดเสร็จที่คุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงคุณภาพการให้บริการ กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจด้านทะเบียน ตำรวจมีอำนาจที่จะจับ ปรับตามกฎจราจร แต่ไม่มีหน่วยงานไหนควบคุมคุณภาพ มีเป้าหมายด้านนี้เลย
ที่นิวยอร์คมีหน่วยงานที่ชื่อ TLC (Taxi and Limousine commission) ที่ควบคุมคุณภาพการให้บริการของแท็กซี่ที่ทำได้ดีมากๆ ถ้าจะเริ่ม เราก็น่าจะต้องเริ่มที่ตรงนี้ก่อน แล้วผูกการจดทะเบียน ต่อทะเบียนกับคุณภาพการให้บริการ
3
ประการที่สอง เอาระบบให้คะแนน ให้ดาวเข้ามาใช้ เมื่อสิบปีก่อน ผมได้ดูคลิปของทีวีไต้หวันเตือนประชาชนว่าให้ระวังจีนไว้ อีกไม่นานจีนจะมีคุณภาพการให้บริการที่ยกระดับเร็วมากจนไต้หวันตามไม่ทัน เพราะเอาระบบ rating มาใช้ไปทั่ว ขึ้นลงแท็กซี่ก็รีวิวให้คะแนนได้ คนขับก็ไม่กล้าทำผิด ไม่กล้าพูดจาไม่ดี
2
เพราะถ้าดาวน้อยก็จะไม่มีใครเรียกหรือถูกยึดใบอนุญาติได้ ทำไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัยของคนขับและคนทั้งประเทศไปโดยปริยาย
ระบบการให้คะแนน หรือ rating นั้น tom strandage เคยยกให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของโลกเลยทีเดียวเพราะมันจะทำให้ความดีถูกพบเห็นและความแย่ถูกลงโทษได้ แท็กซี่ที่แย่ก็จะถูกรายงานจนออกจากระบบ แท็กซี่ที่ดีก็จะได้รางวัล มีกำลังใจในการทำดี
1
เหตุเดียวกันที่ทำไมคนถึงชอบระบบแกร็บ ก็เพราะ rating เช่นกัน rating นั้นควบคุมพฤติกรรมได้ดีกว่ารัฐหรือตำรวจมากมายนักและใช้กันในหลายธุรกิจบริการทั่วโลก
ถ้ามีหน่วยงานกลางแล้วใช้ระบบ rating เข้ามา ก็จะยกระดับการให้บริการแท็กซี่ให้มีมาตรฐานและลดปัญหาที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในวันนี้ได้
ประการที่สาม คือการสร้างความรู้และความภาคภูมิใจให้กับแท็กซี่ ที่อังกฤษ คนขับ black cab ต้องสอบ “the knowledge” ใช้เวลาสอบ 2-4 ปีจนรู้เรื่องถนนทุกซอย มีระบบกล้องวงจรปิดในรถ ตรวจสอบพฤติกรรมได้ คนที่สอบได้ มีพฤติกรรมดีก็จะได้ป้ายติดรถ ทำให้ผู้โดยสารไว้วางใจ
1
ที่ญี่ปุ่น บริษัทให้เช่าแท็กซี่เป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ เน้นการอบรมคนขับในระดับโรงแรม ตั้งแต่มารยาท เส้นทาง กลิ่นในรถ Uniform คนขับรถมีรายได้ประจำ ไม่ต้องวิ่งวน แน่นอนว่าราคามิเตอร์ก็ต้องสูงพอที่จะจูงใจให้มีการบริการแบบนี้ได้
ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ถ้าจะมีก็ต้องพิจารณาด้านนี้ด้วยเช่นกัน
ผมคิดว่าในปัญหายากๆระดับโครงสร้างของไทย หลายปัญหาก็เถียงกัน ไม่มีฉันทามติและแก้ยากมาก มีการเมืองฝั่งโน้นฝั่งนี้เสมอ ปัญหาแท็กซี่จึงเป็นปัญหาที่น่าแก้มากเพราะเป็นฉันทามติในระดับ 100% ของคนในสังคม แถมมีผลมากๆต่อภาพลักษณ์ประเทศและการท่องเที่ยวไทยที่กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
1
ถ้าเรายังไม่จัดการให้ความดีถูกเห็น และความแย่ถูกออกจากระบบ เราจะไม่มีวันฟื้นความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวได้เลย
และถ้าแก้จริงๆก็ดูจะอยู่ในวิสัยอำนาจรัฐที่พอจะแก้ได้ ตั้งหน่วยงานกลางในการแก้ทั้งเรื่อง มาตรฐาน คุณภาพ มีระบบ rating ที่ช่วยควบคุมดูแล ส่งเสริมแท็กซี่ดี เอาพวกแย่ๆ ออกไป ตั้งราคาที่ทำให้แท็กซี่อยู่ได้ หรือจนทำให้บริษัทที่มีมาตรฐานอยากเข้ามาวงการแท็กซี่ เหล่านี้ดูจะพอเป็นไปได้และไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง
ใครคนไหน พรรคไหนทำได้ ผมจะเชียร์จะเลือกในสมัยหน้าเลยจริงๆ ครับ….
โฆษณา