23 พ.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อะไร ๆ ก็ “เงินเฟ้อ” มัดรวมคำศัพท์น่ารู้เพื่อเข้าใจความต่างของเงินเฟ้อ

เราอาจเคยได้ยินคำว่า “เงินเฟ้อ” เวลาฟังข่าวหรือบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุน ทั้งเงินเฟ้อสูง เงินเฟ้อต่ำ เงินเฟ้อนั่น เงินเฟ้อนี่ เพื่อความเข้าใจและให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เราจึงขอเล่าความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ พร้อมยกตัวอย่างจากสถานการณ์จริง โดยแบ่งคำศัพท์ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ ประเภทของเงินเฟ้อที่น่ากังวล ผลของเงินเฟ้อ ไปจนถึงรูปแบบของเงินเฟ้อแฝงที่ทุกคนอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน
จะมีคำว่าอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1
ต้นทุน (cost) & ความต้องการ (demand) : สาเหตุสำคัญของการเกิดเงินเฟ้อ
Cost-push inflation คือ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคา “ต้นทุน” การผลิตและวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ตัวอย่างของเงินเฟ้อจากต้นทุนที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ ในช่วงการระบาดของโควิด 19 โรงงานในหลายประเทศถูกปิดหรือเปิดได้เพียงบางส่วน
อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านระบบโลจิสติกส์ เช่น การปิดท่าเรือ ทำให้เกิดเป็นภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (supply disruption) และกดดันต้นทุนสินค้าและค่าขนส่งให้สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับเพิ่มขึ้นมาก เช่น รถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกในปี 2565 ปรับสูงขึ้นถึง 8.7%
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นจากการระบาดของโรค ASF (African Swine Flu) ล้วนเป็นตัวอย่างของ cost-push inflation ที่มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2565 ปรับสูงขึ้นถึง 6.1%
Demand-pull inflation คือ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจาก “ความต้องการซื้อ” ที่มากเกินกว่ากำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาของสินค้าหรือบริการปรับสูงขึ้น
ตัวอย่างของการเกิด demand-pull inflation ที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือ ในปี 2565-2566 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่รัฐบาลแจกเช็คเงินสดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นและความต้องการสินค้าเร่งสูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิต
นอกจากนี้ การทำงานที่บ้าน (work from home) ยังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มขึ้นของบริการขนส่งอาหารและสินค้า จึงทำให้ราคาอาหาร ค่าเช่าบ้าน และราคาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการทำงานที่บ้านเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงดังกล่าว
รู้หรือไม่?
นอกจากต้นทุนและความต้องการแล้ว เงินเฟ้อยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปจาก “เงินเฟ้อคาดการณ์” หรือ Inflation expectations ได้ด้วย
Inflation expectations คือ อัตราเงินเฟ้อที่ประชาชนคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เช่น การบริโภค ลงทุน และการกำหนดค่าจ้าง จนทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม
กรณีที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ครัวเรือนและผู้ประกอบการจะเร่งกักตุนสินค้าและวัตถุดิบ ส่งผลให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนสินค้าต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งอาจทำให้เงินเฟ้อสูงค้างนานกว่าที่ควรจะเป็น
1
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ ปี 2508 ที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากภาวะสงคราม แต่ประชาชนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจึงปรับขึ้นราคาสินค้าในวงกว้าง รวมทั้งแรงงานก็เรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จนทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นอีกระลอกตามต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ทั้งหมดนี้ ทำให้ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงเป็นระยะเวลานานร่วม 10 ปี
เหตุการณ์ที่ลูกจ้างต่อรองค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามราคาข้าวของที่แพงขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจนเป็นวงจรที่ราคาและค่าจ้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนี้ เรียกว่า wage-price spiral ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องและสูงค้างเป็นเวลานานจากสาเหตุนี้ยังเคยเกิดขึ้นในอาร์เจนตินาเมื่อปี 2566 ด้วย ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงถึง 211.4%
อีกกรณีคือกรณีที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในอนาคต ครัวเรือนและผู้ประกอบการก็จะเลื่อนการซื้อสินค้าและวัตถุดิบออกไปในอนาคต ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลง เนื่องจากความต้องการสินค้าในปัจจุบันต่ำกว่าปริมาณสินค้าในตลาด และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
จะเห็นว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนทิศทางของอัตราเงินเฟ้อได้ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องให้ความสำคัญกับการยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ในปี 2565 ที่ไทยเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงจากการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบอย่างน้ำมัน และอาหารสด (Cost-push inflation) ธปท. ได้มีการส่งสัญญาณสื่อสารถึงการเข้าดูแลเงินเฟ้อต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อของไทยจึงไม่ได้สูงค้างนาน และกลับเข้ามาอยู่ในกรอบได้ภายใน 7 เดือน
ประเภทของเงินเฟ้อที่น่ากังวล : สูงไป ต่ำไป หรือไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ
Hyperinflation (ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง) หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 50% ต่อเดือน เช่น จากที่เคยซื้อเนื้อหมูกิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ต้องใช้เงิน 150 บาท (เพิ่มขึ้น 50%) ในการซื้อเนื้อหมูน้ำหนักเท่าเดิมในเดือนถัดมา
ตัวอย่างภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในอดีต ได้แก่ ซิมบับเว ในช่วงวิกฤตการณ์การเงิน (2008 Financial Crisis) ที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2551 ปรับสูงขึ้น 79,600,000,000% หรือคิดเป็น 98% ต่อวัน!
ซึ่งหมายความว่า ทุก ๆ วันราคาสินค้าในประเทศจะปรับสูงขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ การเพิ่มปริมาณเงินในระบบของรัฐบาลเพื่อให้สอดรับกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการทุจริตภายในประเทศ ส่งผลให้ในท้ายที่สุด ค่าเงินดอลลาร์ซิมบับเวอ่อนค่าลงมากจนถูกยกเลิกไปและประเทศต้องนำค่าเงินต่างประเทศมาใช้ทดแทน
Deflation (ภาวะเงินฝืด) หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาโดยรวมในประเทศปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลง แม้ว่าในระยะแรก เงินฝืดอาจดูเหมือนเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงก็ตาม แต่ในระยะยาว เงินฝืดอาจส่งผลเสียให้ปรับลดการผลิตลง เพราะเมื่อสินค้าราคาถูกลงผู้ผลิตก็ขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ส่งผลกระทบต่อความต้องการแรงงาน อัตราการว่างงานสูงขึ้น และรายได้ผู้บริโภคลดลง
ยกตัวอย่างสถานการณ์ของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2472-2476 ที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (the Great Depression) ทำให้จีดีพีปรับลดลง -30% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว -33% ในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งอัตราการว่างงานยังสูงขึ้นจาก 3% ไปอยู่ที่ 25% ขณะเดียวกันตลาดหุ้นก็ปรับลดลงกว่า 90% จากจุดสูงสุดในปี 2472 เพราะเศรษฐกิจที่หดตัวและราคาสินค้าที่ลดลงอย่างมาก จนมีบริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ค่าแรงปรับลดลง ประชาชนจำนวนมากตกงานและกลายเป็นผู้ไร้บ้าน
Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ) หมายถึง สภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับปรับสูงขึ้น โดยคำว่า Stagflation มาจากการรวมกันของคำว่า Stagnation ที่หมายถึงเศรษฐกิจเติบโตช้าหรือไม่เติบโต (จีดีพีน้อยกว่า 2% ต่อปี) และคำว่า Inflation ซึ่งหมายถึงภาวะที่เงินเฟ้อสูง
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนว่าเงินเฟ้อต้องสูงเท่าไหร่จึงจะเกิดภาวะ Stagflation โดยจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่สูงกว่า 5% อาจเป็นสัญญาณของ Stagflation เพราะปกติแล้วเงินเฟ้ออ่อน ๆ (ไม่เกิน 3%) มักสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว ขณะที่ Stagflation จะเป็นการประกอบกันของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำ และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
คำว่า Stagflation กำลังเป็นที่พูดถึงมากในปัจจุบัน เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ โดยในเดือนเมษายน 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการจีดีพีปี 2568 ของสหรัฐฯ ไว้ที่ 1.8% ลดลงจากปี 2567 ที่ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของทรัมป์ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปี 2568 อยู่ที่ 3.0% เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิด Stagflation จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าและต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น
การส่งผ่านของราคา : เงินเฟ้อไม่ได้กระทบกับทุกคนเท่ากัน
ในแง่ของผลกระทบของการปรับราคานั้น เงินเฟ้อสามารถส่งผลต่อไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับคนทั่วไป แน่นอนว่าการที่ราคาสินค้าแพงขึ้น ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งคุณภาพชีวิตได้ ขณะที่ในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ราคาวัตถุดิบ ค่าดำเนินการ หรือค่าการตลาดต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ย่อมเพิ่มความไม่แน่นอนต่อการบริหารจัดการต้นทุนและกำไรของบริษัท และอาจกระทบต่อยอดขายได้ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงที่มากและผันผวนเกินไปย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราคา และกลายเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้
นอกจากนี้ หลายท่านอาจจะไม่เคยทราบว่า แท้จริงแล้วเงินเฟ้อก็มีแง่มุมของความเหลื่อมล้ำ โดยมักมีผลกระทบกับกลุ่มคนรายได้น้อยที่มักใช้จ่ายไปกับสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด อีกทั้งยังมีความแตกต่างของ pattern ในการปรับราคาสินค้าที่อาจส่งผลกับคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น
Cheapflation หมายถึง การที่สินค้าราคาประหยัดมักมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่มาก กว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่อยู่ในกลุ่ม premium ส่งผลให้กลุ่มคนรายได้ต่ำได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มคนรายได้สูง ตัวอย่างเช่น ในปี 2565-2567 ที่ราคาเนื้อไก่ในตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 17.6% แต่ราคาเนื้อไก่ในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตที่ปกติแล้วราคาแพงกว่ากลับปรับเพิ่มขึ้นเพียง 4.2% เท่านั้น
สาเหตุของการปรับขึ้นราคาสินค้าที่ไม่เท่ากันนี้ อาจเกิดจาก
1. สินค้าราคาประหยัด/ต่ำ มักจะมีสัดส่วนของกำไรสุทธิต่ำกว่าสินค้าราคาสูง/premium ส่งผลให้เมื่อต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มได้ และต้องขึ้นราคาเพื่อส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังผู้บริโภค
2. เมื่อราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มคนรายได้สูงสามารถเปลี่ยนไปซื้อสินค้าชนิดเดียวกันแต่ราคาต่ำกว่าที่ตนเคยซื้อ อย่างไรก็ดี กลุ่มคนรายได้ต่ำไม่สามารถขยับไปซื้อสินค้าที่ราคาต่ำกว่าที่ตนเคยซื้อได้ เนื่องจากสินค้าที่ซื้อในปัจจุบันเป็นสินค้าราคาต่ำอยู่แล้ว
Greedflation เป็นคำที่ใช้อธิบายราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากการที่ธุรกิจขึ้นราคาเกินความจำเป็นเพื่อเพิ่มกำไร โดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในช่วงการระบาดโควิด-19 โดยจากผลการศึกษาของ The Institute for Public Policy Research พบว่า ในช่วงปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ เยอรมัน บราซิลและแอฟริกาใต้ โดยเฉลี่ยมีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยพบว่าในหลายบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานและอาหาร กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการขึ้นราคาที่สูงกว่าการเพิ่มของต้นทุนวัตถุดิบในช่วงนั้น
รูปแบบเงินเฟ้อแฝง : ราคาเท่าเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม
ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจเจอกับ “เงินเฟ้อที่ไม่ได้มาในรูปแบบของราคา” ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เพราะถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผู้บริโภคก็อาจกำลังซื้อของที่แพงขึ้นโดยไม่รู้ตัว หรือเรียกได้ว่าเป็นเงินเฟ้อแฝง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ยังได้รับคุณภาพหรือปริมาณสินค้าที่เท่าเดิมนั่นเอง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
Shrinkflation หมายถึง การที่ผู้ผลิตปรับลด “ขนาดหรือปริมาณ” ของสินค้าลง แต่ยังคงขายในราคาเท่าเดิม เปรียบเสมือนกับผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าในปริมาณเท่าเดิม เช่น ขนมคุกกี้ที่ยังคงขายในราคา 50 บาท แต่ลดขนาดจากการให้ปริมาณ 100 กรัม เป็น 85 กรัม
Skimpflation หมายถึง การที่ผู้ผลิตลด “คุณภาพ” ของสินค้าและบริการลง เพื่อประหยัดต้นทุนแต่ ยังคงขายในราคาเท่าเดิม ซึ่งเท่ากับว่าลูกค้าต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อของชิ้นเดิม เช่น การใช้แป้งปริมาณมากขึ้นในลูกชิ้นหมู เพื่อขายก๋วยเตี๋ยวที่ 50 บาทเท่าเดิม หรือข่าวในสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 ที่ผู้บริโภคแสดงความไม่พอใจต่อบริษัทเดอะวอลท์ดิสนีย์ ที่เก็บค่าตั๋วเข้าสวนสนุกในราคาเดิม แต่ลดการบริการลงโดยยกเลิกรถรับส่งระหว่างสวนสนุกกับลานจอดรถ
สุดท้ายนี้ หวังว่าคำศัพท์เศรษฐกิจ ฉบับเงินเฟ้อ ที่เราได้มัดรวมมาเสิร์ฟให้ในครั้งนี้ จะช่วยให้ทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ “เงินเฟ้อ” ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม และสามารถเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินได้อย่างเข้าใจมากขึ้น รวมถึงสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการเงิน การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนได้อย่างเท่าทันกับสถานการณ์
โฆษณา