24 พ.ค. เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

• ‘Beijing’ หรือ ‘Peking’ ‘Canton’ หรือ ‘Guangzhou’

ทำไมชื่อเมืองของจีน สะกดภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน?
ทุกคนเคยสังเกตไหมครับว่า ทำไมชื่อเมืองหรือมณฑลของประเทศจีน เวลาที่สะกดเป็นชื่อภาษาอังกฤษถึงสะกดไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นกรุงปักกิ่งที่สะกดได้ทั้ง ‘Beijing’ หรือ ‘Peking’ กว่างโจว (Canton หรือ Guangzhou) หรือจะเป็นเสฉวน (Szechuan หรือ Sichuan)
สำหรับคำตอบของข้อสงสัยนี้ ก็คือชื่อเหล่านี้มีการสะกดเป็นภาษาอังกฤษสองแบบ คือแบบที่ชาวตะวันตกใช้กับแบบที่ชาวจีนใช้
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นักการทูตชาวอังกฤษ โทมัส ฟรานซิส เวด (Thomas Francis Wade) ได้คิดค้นระบบการถอดเสียงภาษาจีนโดยใช้อักษรละติน
ต่อมานักการทูตอีกคนหนึ่งคือ เฮอร์เบิร์ต ไจลส์ (Herbert Giles) ก็ได้พัฒนาระบบที่เวดคิดค้นจนเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการตีพิมพ์พจนานุกรม A Chinese–English Dictionary ในปี 1892 โดยเรียกระบบการถอดเสียงที่ทั้งคู่คิดค้นนี้ว่า ระบบเวด-ไจลส์ (Wade-Giles System)
นอกเหนือจากชื่อสถานที่อย่างชื่อเมืองหรือชื่อมณฑลแล้ว รระบบเวด-ไจลส์ยังถอดเสียงคำภาษาจีนอื่น ๆ อย่างเช่นชื่อบุคคล ชื่อราชวงศ์ รวมถึงชื่อที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของจีน ที่สำคัญก็คือ ระบบเวด-ไจลส์ ไม่ได้ถอดเสียงแค่คำภาษาจีนกลางเท่านั้น แต่ยังถอดเสียงคำภาษาจีนสำเนียงอื่น ๆ อย่างจีนกวางตุ้ง รวมถึงจีนฮกเกี้ยนอีกด้วย
ระบบเวด-ไจลส์ ถูกใช้งานทั่วไปในช่วงต้นจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งในปี 1958 เมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศใช้ระบบถอดเสียงภาษาจีนกลางด้วยอักษรละตินที่จีนคิดค้นเองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือระบบพินอิน (Pinyin) ที่คนเรียนภาษาจีนคุ้นเคยกัน
แม้ว่าปัจจุบันระบบถอดเสียงแบบพินอินจะเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ระบบเวด-ไจลส์ก็ไม่ได้หายไปไหน อย่างเช่นเมนูเป็ดปักกิ่งที่ยังคงเรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘Peking Duck’ ไม่ใช่ ‘Beijing Duck’ หรือวัฒนธรรมของชาวจีนกวางตุ้งโพ้นทะเล ที่เรียกว่า ‘Cantonese’ ไม่ใช่ ‘Guangdonese’ หรือจะเป็นที่ไต้หวัน ที่ระบบเวด-ไจลส์ ยังคงมีการใช้งานอยู่
1
• ตัวอย่างการถอดเสียงระบบเวด-ไจลส์กับระบบพินอิน
ปักกิ่ง Peking - Beijing
กว่างโจว Canton - Guangzhou
เสฉวน Szechuan - Sichuan
เจ้อเจียง Chekiang - Zhejiang
เหอเป่ย Hopei - Hebei
ฉงชิ่ง Chungking - Chongqing
ซินเจียง Sinkiang - Xinjiang
เหมาเจ๋อตง Mao Tse-Tung - Mao Zedong
เติ้งเสี่ยวผิง Teng Hsiao Ping - Deng Xiaoping
ราชวงศ์ฉิน Ch'in - Qin
ราชวงศ์ถัง T'ang - Tang
ราชวงศ์ชิง Ch'ing - Qing
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe เวด-ไจลส์
อ้างอิง
• SCMP. Reflections | How Chinese place names like Beijing, Xian, Guangzhou changed under foreign control, and how the new monikers came about. https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/short-reads/article/3173338/how-chinese-place-names-beijing-xian-guangzhou
#HistofunDeluxe
โฆษณา