24 พ.ค. เวลา 12:56 • ธุรกิจ

MSN ย้อนรอยตำนานแชทที่หายไป จากเบอร์หนึ่งสู่ความพ่ายแพ้ที่ทำให้ Microsoft เจ็บปวด

ย้อนกลับไปในยุค 90 ยังไม่มี WhatsApp , Instagram หรือแม้กระทั่ง Line เด็กสมัยนั้นมีแค่ MSN Messenger เป็นเครื่องมือแชท เด็กทุกคนต่างรีบกลับบ้านหลังเลิกเรียนเพื่อเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยไปแชทกับเพื่อนที่เพิ่งเจอกันมาตลอดทั้งวัน
การแชทออนไลน์สมัยก่อนไม่ใช่แค่การส่งข้อความธรรมดา แต่เป็นศิลปะการสื่อสารที่มีเอกลักษณ์ ด้วยอีโมติคอนที่มีสีสัน และการกดปุ่ม “nudge” เขย่าหน้าจอเพื่อเร่งให้อีกฝ่ายตอบกลับ
แต่หลายท่านอาจจะไม่รู้ว่าเบื้องหลังความสนุกสนานเหล่านั้น MSN Messenger ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มแชทธรรมดา มันเป็นส่วนหนึ่งในสงครามระหว่างยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ที่กำลังขีดชะตาของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในอนาคต
ปลายทศวรรษ 90 Microsoft หมายปองที่จะเข้าสู่ตลาด instant messenger ที่กำลังบูม แต่ต้องเข้าไปฟาดกับพี่ใหญ่สามรายในตลาด ICQ, Yahoo! Messenger และ AOL Instant Messenger (AIM)
David Auerbach อดีตวิศวกรของ MSN เล่าถึงความท้าทายที่ Microsoft เจอ ต้องดึงผู้ใช้จำนวนมหาศาลให้มาลองแพลตฟอร์มใหม่ พร้อมหาทางเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย
แต่ Microsoft มีไพ่ตายอยู่ในมือ นั่นคือ Hotmail บริการอีเมลที่ซื้อมาก่อนหน้า พวกเขาวางแผนให้ MSN Messenger เชื่อมต่อกับบัญชี Hotmail โดยตรง ทำให้คนหลายล้านแชทกันได้ทันที
แต่ทีมงาน Microsoft ไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขารังสรรค์ไอเดียที่ทั้งแหลมคมและอาจเรียกได้ว่าเป็นการเล่นนอกเกม นั่นคือการแฮ็กเข้าถึงระบบของ AIM แบบลับหลัง
เมื่อ MSN Messenger เปิดตัววันที่ 22 กรกฎาคม 1999 ผู้ใช้สามารถพูดคุยกับคนจากทั้งสองแพลตฟอร์มได้ จนกระทั่ง AOL ค้นพบการแทงข้างหลังนี้ แล้วรีบบล็อกทันที
เกิดสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ Microsoft พยายามหาทางแฮ็กเข้าระบบ AIM อยู่เรื่อยๆ ขณะที่ AOL ก็พยายามบล็อคไม่ให้เข้าถึงอยู่ตลอด
ในที่สุด AOL ตอบโต้กลับด้วยการใช้ช่องโหว่ความปลอดภัยของตัวเองมาหลอกไคลเอนต์ของ MSN ซึ่งถือเป็นกลโกงที่โครตเทพแม้จะมีข้อถกเถียงมากมายในยุคนั้นก็ตาม
1
ทั้งสองบริษัทกล่าวหากันเรื่องไม่เล่นตามกติกา แต่นี่คือโลกเทคโนโลยีที่เหมือนการต่อสู้ในสนามเด็กเล่น ไม่มีใครยอมแพ้ง่ายๆ
เวอร์ชันแรกของ MSN Messenger เรียบง่ายมาก มีแค่ข้อความกับรายชื่อติดต่อ แต่เมื่อ Windows XP เปิดตัวเดือนตุลาคม 2001 Messenger จึงเริ่มพุ่งทะยาน
Windows XP ไม่เพียงทำให้ Messenger หน้าตาดูดีขึ้น แต่ยังเพิ่มฟีเจอร์เจ๋งๆ เช่น การสนทนาด้วยเสียงและการจัดกลุ่มเพื่อน
เวอร์ชันต่อๆ มาได้รวม Windows Media Player การส่งไฟล์ และอีโมติคอนที่หลากหลายแบบจัดเต็ม คนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจว่าอีโมติคอนมันเทพขนาดไหนในสมัยนั้น
เรามีแค่การพิมพ์ข้อความล้วนๆ ดังนั้นการส่งรูปหน้ายิ้มเล็กๆ จึงทำให้การสนทนามีชีวิตชีวาขึ้นมาแทบจะทันที
ปี 2003 MSN Messenger เวอร์ชัน 6.0 เปิดตัวพร้อมการปรับโฉมครั้งใหญ่ ยกระดับจากอินเทอร์เฟซข้อความธรรมดาให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสุดล้ำ
เพิ่มองค์ประกอบที่ปรับแต่งได้ อีโมติคอน อวตาร์ส่วนตัว และภาพพื้นหลัง ตามมาด้วยการสนทนาผ่านเว็บแคม ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยการใช้งาน 2.5 ล้านครั้งต่อวัน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นปี 2005 เมื่อ MSN Messenger เวอร์ชัน 7.0 เปิดตัวพร้อมฟีเจอร์ “nudge” อันโด่งดัง ที่ทำให้เขย่าหน้าจอเพื่อนเพื่อเร่งให้ตอบกลับ
แม้หลายคนจะรำคาญมัน แต่มันก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจดจำได้ เวอร์ชันนี้ยังมี “Winks” ภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ที่เพิ่มความสนุกให้การสนทนา
ด้วยฟีเจอร์เหล่านี้ MSN สร้างเส้นทางของตัวเองในโลกการส่งข้อความ จนถึง 13 ธันวาคม 2003 Microsoft ประกาศผู้ใช้งานประจำเดือน 110 ล้านคน
แม้ MSN Messenger จะมีผู้ใช้หลายล้านและฟีเจอร์เทพๆ แต่มันก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ปี 2002 ผู้ใช้จำนวนมากประสบปัญหาการเชื่อมต่อขัดข้องและรายชื่อเพื่อนหายไปกะทันหัน ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก มีการประมาณกันว่าผู้ใช้ประมาณหนึ่งในสามเจอปัญหานี้
นอกจากนี้ยังมีปัญหา Microsoft Passport ระบบล็อกอินสำหรับบริการต่างๆ ที่เริ่มเละไม่เป็นท่า ทำให้ล็อกอิน Hotmail และ Messenger ไม่ได้
ความท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ MSN กำลังอยู่จุดพีคของสงครามแชทกับ AOL ซึ่งช่างเป็นจังหวะที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย
อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องความปลอดภัยในห้องแชท พื้นที่เสมือนที่คนแปลกหน้าพูดคุยกันได้ เมื่อมีคนเข้าใช้งานมากขึ้น ปัญหาผู้ล่าเหยื่อออนไลน์ก็รุมเร้าตามมา
ความเสี่ยงพุ่งขึ้นมากจนปี 2003 Microsoft ต้องตัดสินใจปิดห้องแชททั้งหมด ทำให้เยาวชนแชทได้เฉพาะผ่าน MSN Instant Messaging เท่านั้น
MSN Messenger ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1999 จนถึงกลางปี 2005 ในเวอร์ชัน 1 ถึง 7.5 จากนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
Microsoft ตัดสินใจเปลี่ยนแบรนด์ภายใต้ชื่อ Windows Live เวอร์ชัน 8 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Windows Live Messenger พร้อมปรับเปลี่ยนหน้าตาและฟีเจอร์ใหม่
ช่วงแรกผู้ใช้หลายคนไม่ชอบ Messenger โฉมใหม่ เพราะความรู้สึกแตกต่างจากของเดิมที่คุ้นเคย ยังมีปัญหาบั๊กมากมายและเข้ากันไม่ได้กับระบบเก่า
แม้คนใช้ Windows XP ก็ถูกบังคับอัปเดตเป็น Live Messenger อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ท่ามกลางปัญหาก็มีข่าวดี เมื่อปี 2006 Microsoft ประกาศความร่วมมือกับ Yahoo! ทำให้ผู้ใช้ทั้งสองแพลตฟอร์มติดต่อกันได้
ด้วยพันธมิตรนี้ บริการส่งข้อความทั้งสองรวมผู้ใช้เข้าด้วยกัน ทำให้มีความได้เปรียบเหนือ AOL อย่างเห็นได้ชัด
เวอร์ชันใหม่ๆ ที่ออกมาเรื่อยๆ ทำให้ผู้ใช้คุ้นชินกับ Windows Live Messenger มากขึ้น แม้จะมีปัญหาการทำงานล่าช้าและโฆษณารบกวนก็ตาม
ปี 2009 Messenger ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ด้วยผู้ใช้งาน 330 ล้านคนทั่วโลก แต่คำถามคือมันจะอยู่รอดได้นานแค่ไหน
แม้จะมีการอัปเกรดและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จำกัดผู้ใช้จากระบบเก่า ขณะที่มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายโซเชียลมีเดียมากขึ้น Messenger ยังคงเป็นเพียงบริการส่งข้อความที่ไม่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น
ปี 2010 Microsoft พยายามเพิ่มฟีเจอร์คล้าย Facebook ด้วย “social pane” แสดงกิจกรรมของผู้ใช้คนอื่น แต่ปัญหาคือมันดูเป็นทางการและแข็งทื่อเกินไป
ไม่มีใครใช้ฟีเจอร์นี้จริงจัง Messenger เริ่มต้นเป็นสิ่งสนุกและทำให้ผู้คนเสพติด แต่ด้วยความพยายามทำให้เป็นผู้ใหญ่ กลับสูญเสียเสน่ห์เดิม
ขณะที่ Facebook กำลังบูม มีทุกอย่างที่ Messenger ให้ได้แต่ดีกว่า Facebook ถึงกับลอกฟีเจอร์ “nudge” เพื่อดึงผู้ใช้
ตัวเลขผู้ใช้งาน Messenger ลดฮวบลงเรื่อยๆ ขณะที่ Skype กำลังพุ่งทะยานขึ้น Microsoft ตระหนักถึงแนวโน้มนี้และตัดสินใจยอมแพ้การพัฒนา MSN Messenger
พวกเขาเลือกซื้อ Skype ราคา 8.5 พันล้านดอลลาร์ปี 2011 แทนการต่อสู้ต่อไป การซื้อกิจการครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบสำหรับ Messenger
Microsoft ประกาศว่าแพลตฟอร์มการส่งข้อความในตำนานจะถูกยกเลิก ผู้ใช้ทั่วโลกต้องย้ายไป Skype หรือเลิกใช้ไปเลย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น Microsoft พยายามอย่างเต็มที่เตือนผู้ใช้ให้ย้ายไป Skype
แม้ Skype จะมีฐานผู้ใช้แข็งแกร่งและปัญหาส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไข แต่มันก็ไม่สามารถทดแทนความสนุกสนานที่ MSN Messenger มอบให้ได้
1
เนื่องจาก Skype ดูเป็นทางการและจริงจังเกินไป ไม่มีความรู้สึกเหมือนคุยกับเพื่อนในห้องนอน
ปี 2013 การย้ายผู้ใช้ไปยัง Skype เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการทั่วโลกยกเว้นจีน และในวันที่ 31 ตุลาคม 2014 MSN Messenger สิ้นสุดการให้บริการอย่างสมบูรณ์ เมื่อผู้ใช้ชาวจีนรายสุดท้ายถูกย้ายไป Skype
Messenger ไม่ใช่แพลตฟอร์มแรกหรือสุดท้ายที่หายไป แต่เป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในความทรงจำของคนหลายล้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่น Millennials ที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแชทหลังเลิกเรียน
แม้ไม่มีอยู่แล้ว แต่อิทธิพลของ MSN Messenger ก็ยังคงอยู่ในแพลตฟอร์มสมัยใหม่ ฟีเจอร์อย่างอีโมจิ การแชทกลุ่ม การแชร์ไฟล์ การสนทนาวิดีโอ และการเขย่าหน้าจอ ล้วนได้แรงบันดาลใจจาก MSN Messenger แทบจะทั้งสิ้น
การสิ้นสุดของยุค MSN Messenger ไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวทางเทคนิค แต่เกิดจาก Microsoft ที่พยายามเปลี่ยนมันให้เป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวมันเอง
จากแพลตฟอร์มที่สนุกสนานมีชีวิตชีวา กลายเป็นบริการเป็นทางการขาดเสน่ห์ นี่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับบริษัทเทคโนโลยี
บางครั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ได้หมายถึงการเพิ่มฟีเจอร์หรือทำให้ดูเป็นมืออาชีพ แต่หมายถึงการรักษาคุณค่าหลักและเอกลักษณ์ไว้
การที่ Microsoft พยายามแข่งกับ Facebook ทำให้ลืมไปว่าอะไรทำให้ Messenger พิเศษตั้งแต่แรก
MSN Messenger อาจไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เป็นส่วนสำคัญในวิวัฒนาการการสื่อสารออนไลน์ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มต้นและยุคโซเชียลมีเดีย
จากจุดเริ่มต้นการแฮ็ก AOL ไปจนถึงการเพิ่มอีโมติคอนและเว็บแคมที่ปฏิวัติวงการ Messenger สร้างนวัตกรรมและความทรงจำมากมาย
แม้ Microsoft จะทำให้แพลตฟอร์มสนุกๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ใหญ่จนสูญเสียเสน่ห์ แต่มรดกของ MSN Messenger ยังคงอยู่ในแอปแชทและเครือข่ายสังคมปัจจุบัน
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว MSN Messenger เป็นเครื่องเตือนใจว่าบางครั้งความเรียบง่ายและจริงใจมีค่ามากกว่าความล้ำสมัย
4
แม้ในทุกวันนี้ MSN Messenger อาจไม่อยู่กับเราแล้ว แต่สำหรับคนหลายล้าน ความทรงจำเกี่ยวกับ MSN Messenger จะยังคงตราตรึงอยู่ในใจเสมอ
References: [wikiwand, techspot, windowscentral, theverge, digitaltrends]
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา