27 พ.ค. เวลา 12:30 • ท่องเที่ยว

รู้ทัน ‘กับดักของถูก’ คนโดนหลอก เพราะอยากประหยัด นักท่องเที่ยวตกเป็นเป้ามิจฉาชีพ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือภาคส่วนที่มักจะคึกคักเสมอในหลากหลายประเทศ จากการหลั่งไหลเข้าของนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะในฤดูร้อน ฤดูหนาว แต่ละพื้นที่ก็มักจะมีช่วงไฮซีซันของตัวเองเสมอ และนอกจากเม็ดเงินที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว อุตสาหกรรมนี้กลับกำลังเผชิญปัญหาจากเหล่า “มิจฉาชีพ” ที่ใช้โอกาสจากแหล่งท่องเที่ยวดังมาดึงเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
  • ยิ่งนักท่องเที่ยวเยอะ ยิ่งหลอกได้เงินเยอะ
จากรายงานของ Mastercard Economics Institute (MEI) ระบุว่า ในปี 2024 อัตราการโกงในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 18% ในช่วงฤดูร้อน และพุ่งสูงถึง 28% ในฤดูหนาว โดยเฉพาะในจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังผันผวน ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกิดการโกงมากที่สุด
โดยได้มีการจัดอันดับ รูปแบบกลโกง ที่ถูกใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่ง MEI พบว่า ทัวร์และเอเจนซี่ท่องเที่ยวมีอัตราการโกงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 4.5 เท่า รองลงมาคือสินค้าในกลุ่มกระเป๋าเดินทางและสินค้าหนังที่มีอัตราเสี่ยงสูงใกล้เคียงกันกับทัวร์ ซึ่งอาจมีเบื้องหลังเป็นมิจฉาชีพขายของปลอม ตามมาด้วยบริการแท็กซี่และรถเช่า ซึ่งก็เผชิญกับระดับการโกงที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน
ในขณะที่บริการอื่น ๆ อย่างการจองตั๋วเครื่องบินหรือรถไฟมักจะมีอัตราการโกงต่ำกว่า และส่วนของการจองโรงแรมก็ถือว่าเสี่ยงน้อยที่สุดในกลุ่ม และลำดับถัดจากนั้นจะเป็นในกลุ่มร้านขายสินค้าและร้านอาหารที่มักจะมีการโกงในบางพื้นที่
ทั้งนี้ กลโกงต่าง ๆ มักจะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ที่โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวมักจะทำการจองที่พัก สถานที่ ตลอดจนตั๋วต่าง ๆ ก่อนเดินทางจริงเสมอ จึงเป็นการเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยโอกาส โดยข้อมูลจาก MEI ชี้ว่า ในปี 2024 การโกงในขั้นตอนแรกของการวางแผนท่องเที่ยว อย่างเช่น การจองทัวร์ จองโรงแรม เพิ่มขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยกลโกงที่พบบ่อย ได้แก่ รูปภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกปรับแต่งให้ดูเว่อร์เกินจริง ลิงก์ยืนยันปลอม โปรโมชั่นลวงที่เสนอราคาถูกเกินจริง ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ความต้องการของผู้คนที่อยาก “เที่ยวถูก” ในช่วงเงินเฟ้อ กดดันให้คนรีบตัดสินใจโดยไม่ตรวจสอบให้ดี
นอกจากนี้ ยังมีรายงานออกมาอีกว่า สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปจำนวนมาก มักกลายเป็นเป้าหมายชั้นดีของกลุ่มมิจฉาชีพ เนื่องจากมีทั้งจำนวนคนและปริมาณธุรกรรมที่สูงเป็นพิเศษ มิจฉาชีพจึงมักตั้งบริษัททัวร์ปลอมขึ้นมา หลอกล่อนักท่องเที่ยวด้วยข้อเสนอสุดล่อตาล่อใจ เช่น ทัวร์พิเศษ ทริปท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือประสบการณ์สุดพรีเมียม พร้อมเรียกเก็บเงินล่วงหน้าหรือเสนอราคาถูกผิดปกติเพื่อดึงดูดเหยื่อ
ทั้งนี้ อัตราการโกงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง โดยรายงานพบว่า เมืองที่มีรายงานการโกงน้อยที่สุด ได้แก่ ซานฟรานซิสโก (สหรัฐฯ), ดับลิน (ไอร์แลนด์), โซล (เกาหลีใต้), บูดาเปสต์ (ฮังการี) และเอดินบะระ (สก็อตแลนด์) ขณะที่เมืองที่มักถูกรายงานว่ามีการโกงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสูง ได้แก่ คนคูน (เม็กซิโก), ฮานอย (เวียดนาม), ธากา (บังกลาเทศ) และกรุงเทพฯ (ประเทศไทย)
(ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ ไม่ใช่การจัดอันดับว่าเมืองใดมีการโกงสูงสุดหรือต่ำสุด)
  • “กลโกง” กระทบแค่ไหนกับคนเที่ยวและธุรกิจ?
ทั้งนี้ การโกงในการท่องเที่ยวไม่ได้กระทบแค่ผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงธุรกิจด้วย ตั้งแต่พวกมิจฉาชีพที่จ้องหลอกนักท่องเที่ยว ไปจนถึงกลโกงที่แฝงอยู่ในขั้นตอนจองบริการต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมนี้กลายเป็นเป้าหมายโปรดของเหล่าคนโกง
ยกตัวอย่างตัวเลขของปี 2020 ในธุรกิจสายการบิน เมื่อเกิดการทุจริตในการชำระเงิน (Payment Fraud) ทำให้สายการบินทั่วโลกสูญเสียรายได้ไปราว 1.2% ของรายได้ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนคนที่เดินทางมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเริ่มมองหาดีลตั๋วเครื่องบินหรือที่พักราคาถูกเกินจริงมากขึ้น
ซึ่งกลโกงของมิจฉาชีพได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจเร่งหาแนวทางป้องกัน มิเช่นนั้นธุรกิจอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น
- ขาดทุนทางการเงิน: การทุจริตส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยตรงจากการจองที่ถูกหลอก การขอคืนเงิน (Chargeback) หรือธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงต้นทุนในการสอบสวนหรือจัดการปัญหาเบื้องหลัง
- แบรนด์เสียชื่อเสียง: เมื่อเกิดเหตุโกง ลูกค้าจะเริ่มไม่มั่นใจ และลังเลที่จะกลับมาใช้บริการอีก ส่งผลให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสียหายโดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสข่าวในวงกว้าง
ปัญหาด้านกฎหมายและการกำกับดูแล: หากข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ารั่วไหล อาจนำไปสู่การถูกปรับจากหน่วยงานกำกับดูแล หรือการฟ้องร้องทางกฎหมายได้
- ประสบการณ์ลูกค้าที่แย่ลง: การโกงอาจทำให้ระบบล่าช้า เกิดการยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่คาดคิด หรือบริการอื่น ๆ ติดขัด ทีมดูแลลูกค้าต้องใช้เวลานานขึ้นในการตอบกลับ ส่งผลให้ความพึงพอใจโดยรวมลดลง
นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวิธีการวางแผนและจองทริปของนักท่องเที่ยว รวมถึงพฤติกรรมขณะเดินทางด้วย ยิ่งในยุคที่การขโมยข้อมูลส่วนตัวและการหลอกลวงทางออนไลน์แพร่หลาย นักท่องเที่ยวจำนวนมากจึงเริ่มหาวิธีป้องกันตัวเองจากภัยเหล่านี้
โดยนักท่องเที่ยวได้หันมาป้องกันภัยให้ตัวเองในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) การซื้อประกันการเดินทาง หรือเลือกใช้บัตรเครดิตที่มีนโยบายไม่รับผิดชอบเมื่อเกิดการฉ้อโกง ตลอดจนเพิ่มระบบป้องกันการหลอกลวง (ซึ่งบางผู้ให้บริการทั้งทางการเงินและอื่น ๆ ได้หันมาใช้งาน AI ในการตรวจสอบความผิดปกติแล้ว) และสำหรับจุดหมายปลายทางที่พบว่ามีอัตราการหลอกลวงสูง โดยเฉพาะการหลอกนักท่องเที่ยว อาจทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจเพิ่มความระมัดระวัง หรือเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่นแทน
ที่มา: Mastercard [1][2], CNBC, DataDome
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา