29 มิ.ย. เวลา 12:39 • การศึกษา

แปลงทรัพย์สินเป็นบุญ

คนไทยชอบทำบุญทำทาน ด้วยการบริจาคทรัพย์กันเป็นส่วนมาก เพราะทำได้ง่ายและถือว่าเป็นการทำประกันเผื่อชาติหน้า เชื่อว่าจะมีความสุขได้ไปสวรรค์ แต่รู้หรือไม่ว่า ทำกันผิด 90% บางครั้งถึงขั้นทำบุญแล้วได้บาป เพราะทำโดยขาดความรู้ขาดปัญญา เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ เพราะได้อิทธิพลจากการนับถือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พุทธ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่มาก่อนพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นมาเสียอีก
ศาสนาพุทธนั้นมีข้อดีที่เป็นเหมือนน้ำ เข้ากันได้กับทุกอย่าง ไม่ต้านใคร กินกับอะไรก็อร่อย แต่เพราะเหตุนี้นี่เอง ที่ทำให้ใครๆ เข้าใจผิดว่าอะไรๆก็เป็นพุทธ ผลคือมีความเชื่อผสมปนเปกัน แบบส่วนใหญ่ผิดส่วนน้อยถูก ข้อเสียของการปนเปื้อนนี้คือ “มิจฉาทิฏฐิ” การเห็นผิด เข้าใจผิด หลงผิดในเรื่องการทำบุญ บริจาคทาน และการปฏิบัติติตัวแบบพุทธจริงๆ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกัน ถึงที่มาที่ไปของคำว่า “บุญ” ซึ่งแปลว่า ชำระ แล้วชำระอะไร? คำตอบ คือ ชำระกิเลส การทำบุญที่ได้บุญอย่างแท้จริง ต้องชำระกิเลสไปด้วย ไม่อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นบุญที่แท้ หากอยากทำบุญแบบผู้มีปัญญา ต้องรู้จักเปลี่ยนโภคทรัพย์เป็นอริยทรัพย์ เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามผ่านสังสารวัฏอันยาวนาน
2
นอกจากนี้ยังต้องรู้ว่ามีสิ่งที่ให้เป็นทานแล้วไม่ได้บุญ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ได้แก่ สุรา ยาเสพติด ภาพอนาจารสื่อลามก มหรสพต่างๆ รวมทั้งให้สิ่งที่เพิ่มกามคุณ เป็นต้น
พระพุทธเจ้าสอนให้จัดการทรัพย์ที่หามาได้หรือโภคทรัพย์ ดังนี้ ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ได้มาโดยธรรม ๕ ประการ คือ
๑. เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารตนให้เป็นสุขสำราญ
๒. เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารตนให้เป็นสุขสำราญ
๓. ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
๓. ปุพพเปตพลี [บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้]
๔. ราชพลี [บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
๕. เทวตาพลี [บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา]
๕. บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลส
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ถ้าอยากได้อะไรให้ทำเหตุให้ตรงกับผล ฉะนั้นคุณต้องเข้าใจให้ถูกก่อนว่า ทำอะไรแล้วจะได้อะไร ไม่ใช่บริจาคทรัพย์แล้วขอดะไปทุกเรื่อง เช่น อยากให้คนรัก เมตตา มีชื่อเสียง รุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ผู้ใหญ่รักเอ็นดู ก็ให้เจริญเมตตารักษาศีล ไม่ใช่ให้อธิฐานขอกับเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ไปทำเสน่ห์, ณ หน้าทอง, สาริกาลิ้นทอง, ฯลฯ
ถ้าอยากฉลาดมีปัญญา หาทางแก้ปัญหาชีวิตได้ ไม่หลงไปตามคำหลอกลวง แม้กระทั่งได้มรรคผลนิพพาน จงให้ธรรมะแก่ผู้อื่น ถ้าตนเองไม่มีความรู้ ก็ให้มีส่วนช่วยในการ เผยแพร่ บริจาคเงินช่วยทำสื่อธรรมะต่างๆ หรือมีส่วนร่วมลงขันในการส่งเสริมให้คนมีปัญญาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การเป็นเจ้าภาพการบวช จัดบรรยายธรรมะ จัดอบรบปฏิบัติธรรม เป็นต้น
แต่ขอเสริมว่าถ้าอยากได้ปัญญาถึงขั้นได้มรรคผล ต้องปฏิบัติกรรมฐาน เจริญมรรคเท่านั้น เพราะแค่ทำทานไม่ถึง บุญไม่พอ แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เรา มีสัมมาทิฐิในการเจริญปัญญาได้ เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ ทำให้ออกจากวงจรมิจฉาทิฏฐิได้ง่ายขึ้น
ส่วนใครที่ขอให้รวยๆ อยากร่ำรวย มีกินมีใช้ ไม่ขัดสน ให้บริจาคทรัพย์ ทำทานอย่างประณีต ตั้งใจ ให้ของใหม่ของดี ก็จะได้ของใหม่ของดีกลับมา ถ้าของบริจาคเป็นของใช้แล้ว ก็จะได้ของมือสองกลับมา ทีนี้เรามาทำความเข้าใจ เรื่องจุดประสงค์ของการทำทานกันดีกว่า ว่าเป็นไปเพื่อให้ สละออก ทำทานเพื่อลดความตระหนี่ ไม่ใช่เพื่อลดหย่อนภาษี
อานิสงส์ของการทำทานสละทรัพย์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการทำใจสละทรัพย์นั้น ทำได้ยากแค่ไหน คนจนทำทาน 5 บาท อานิสงส์อาจเท่ากับเศรษฐีทำ 10 ล้าน เนื่องจากการสละของคนจนทำได้ยากกว่า เพราะมีความขัดสนในการกินการอยู่มากกว่าคนรวย คนรวยคนเดียวกัน สละทรัพย์ที่ได้มาจากแรงงานที่ตนจ้างทำงาน แม้นให้ได้เป็นล้าน อานิสงส์อาจน้อยกว่าการสละทรัพย์ที่หามาได้ จากหยาดเหงื่อแรงงานของตนล้วนๆในเงินหลักสิบ
อีกทั้งเวลาทำบุญบริจาคทาน ให้ทำอย่างประณีต อย่าเป็นนักลงทุนแทนนักทำบุญ เพราะอาจทำให้ได้ไปอยู่ในวงโคจร ของการเป็นเปรตเจอเปรต ฝ่ายหนึ่งหิวบุญ อีกฝ่ายหิวเงิน มิจฉาทิฏฐิกับมิจฉาชีพมันมักจะมาด้วยกัน เป็น "คู่มิจ" ที่ไม่ได้เป็นมิตรกับเราเท่าไหร่
เรื่องสำคัญที่อยากจะเตือนแรงๆ หากคุณอยากจะมีกินมีใช้ หรือถึงขั้นร่ำรวย มีสิ่งที่ต้องระวังมากๆยิ่งกว่าการไม่ทำทานคือ การผิดศีลข้อ 2 เพราะเป็นเหตุให้ทรัพย์วิบัติ อย่าได้ไปถือเอาสิ่งที่เจ้าของเขาไม่ได้อนุญาต บางคนอาจจะเคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า “แกไม่ต้องทำทานเลยชั่วชีวิตก็ได้ แต่อย่าผิดศีล” เพราะศีลมีอานิสงส์ใหญ่กว่าทานมากอย่างเทียบกันไม่ได้
ดังนั้นเมื่อผิดศีล จึงผลาญบุญของคุณอย่างยิ่ง เป็นกฎเหล็กของกรรมอย่างหนึ่ง อธิบายง่ายๆก็คือ ถึงแม้คุณจะทำบุญทำทานฉ่ำขนาดไหน แต่ถ้าผิดศีลข้อ 2 อยู่เนืองๆ ทรัพย์ที่ได้เข้ามาจะไม่มากเท่าที่เสียออกไป Balance บัญชีกันแล้วติดตัวแดงเห็นๆ และที่แย่ยิ่งกว่านั้น อาจจะทำให้เป็นเปรตหรือตกนรกได้เลยถ้าทำกรรมหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมที่ทำกับส่วนรวม มีผู้ร่วมเสียหายด้วยกันจำนวนมาก เป็นบาปใหญ่ และทำให้ทรัพย์วิบัติอย่างร้ายกาจ อาจต้องใช้กรรมแบบผ่อนจ่ายข้ามภพชาติได้เลย
เช่น การฮุบเอาของส่วนรวมมาเป็นของส่วนตัว อธิบายได้จากตัวอย่างดังต่อไปนี้ พื้นที่สาธารณะต่างๆ ในหมู่บ้าน ถนนหนทางของสาธารณะที่เราเห็นกันได้ทั่วไป หากเข้าไปยึดเอาโดยการสร้าง หรือกั้นเกินออกมาบนทางเท้า หรือกั้นใช้ที่ว่างส่วนรวมในหมู่บ้านโครงการต่างๆไว้ใช้ส่วนตัว อย่างนี้ถือว่าผิดศีลข้อ 2
รวมทั้งการที่ไม่ช่วยกันรักษาดูแล ทำลายข้าวของสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น สายไฟ สวนสาธารณะ สิ่งก่อสร้างต่างๆที่เป็นสาธารณะ มีคนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นจำนวนมาก หากทำลายโดยคิดว่า ก็ไม่ใช่ของของเราไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ หรือภาษีกู อย่างนี้จะนำความเดือดร้อน มีภัยพิบัติทางด้านทรัพย์สินเสียหาย มาให้อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะมีคนเดือดร้อนจากการที่ใช้สิ่งนั้นไม่ได้ ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ ตัวคูณก็ยิ่งสูง กรรมที่กลับมาหาคนทำจะทวีคูณอย่างน่ากลัวมาก
เช่นนั้นในทางกลับกัน คุณคงพอจะเดาได้ว่า ถ้าทำทานกับสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ อย่างเช่น ก่อสร้างถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน ทำนุบำรุงซ่อมแซม สาธารณูปโภคต่างๆ หรือแม้กระทั่ง สร้างศาลา โบสถ์ วิหาร สถานปฏิบัติธรรม ที่คนจำนวนมากได้ใช้ประโยชน์ ก็จะได้บุญที่มีอานิสงส์มากเช่นกัน
นอกจากนี้อานิสงส์จากการทำบุญทำทานไว้มาก แต่ไม่มีศีล อาจส่งผลทำให้ไปเกิดเป็น หมาเศรษฐี โปรดฟังให้ชัดๆอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้เขียน ห. หีบกับ ม. ม้า สลับกันนะ ใช่ค่ะ หมา(ของ)เศรษฐี บางคนอาจเคยนึกอิจฉาหมาแมวเซเลบ สัตว์เลี้ยงของพวกเศรษฐี ที่อยู่ดีกินดี บางทีดีกว่าคนธรรมดาอย่างเราๆซะอีก แต่อย่าไปอิจฉาเลยค่ะ เขาอยู่ในอบายภูมิต่อให้ดีแค่ไหน ก็สู้เป็นมนุษย์ในสุขคติภูมิไม่ได้
3
เพราะหมดโอกาสเจริญในธรรม สร้างสมกรรมดีเพื่อยกจิตใจให้สูงขึ้น พัฒนากรรมของตัวเองในภพชาติต่อๆไป และเมื่อทำบุญแล้วควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า “ทำบุญแล้วอย่าบ้าบุญ ติดบุญ หลงบุญ” ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา ทำเพื่อสละออกไม่ยึดติดในบุญของตัวเอง ตัวอย่างก็มีมาแล้ว ที่ไปเป็นเปรต เพราะไม่ยอมทิ้งบุญของตัวเองนี่แหละ
2
ทำดีเพื่อความดีไม่ใช่เพื่อหวังได้อะไร เพราะตามกฎแห่งกรรม ต่อให้ไม่หวังอยากได้อะไร แต่ทำเหตุก็จะได้รับผลอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ดั้งนั้นเราควรเจริญทั้งทาน ศีล ภาวนา จะได้มีอริยทรัพย์ที่จะสามารถทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย ในการเดินทางผ่านวัฏสงสารที่ยาวนานนี้ และในวันหนึ่งได้ออกไปในที่สุด
ขอบคุณภาพจาก
โฆษณา