26 มิ.ย. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เจาะพอร์ต หมื่นล้าน 'มงคล ประกิตชัยวัฒนา’ 4 หุ้น ดิ่งฟลอร์ 2 วัน มูลค่าวูบหลายพันล้าน

ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงเปราะบาง ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศไม่ว่าจะเป็นการเจรจาการค้าไทยกับสหรัฐที่ยังคงไม่แน่ชัดว่าจะเจรจาได้สำเร็จหรือไม่ รวมถึงสงครามตะวันออกกลางที่ยังคงต้องจับตาว่า จะปะทุความรุนแรงขึ้นมาอีกเมื่อใด ขณะที่ชายแดนไทย-กัมพูชา สถานการณ์ยังคงอึมครึม! และปัญหาการเมืองในประเทศ
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนให้ขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย และหุ้นบางตัวราคาถอยลงมาลึก ทำให้มูลค่าของหุ้นที่นักลงทุนถืออยู่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีบัญชีมาร์จินสูงๆ เมื่อชักหน้าไม่ถึงหลัง หากเงินมาเติมพอร์ตไม่ทันสุดท้ายต้องถูก Forced Sell หรือ ถูกบังคับขายในที่สุด
และก่อนหน้าที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อ-ขายในวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.2568 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดจากสงคราม อิหร่าน-อิสราเอล ที่มีความตึงเครียดในขณะนั้น จากเดิมที่ให้ราคาบวกลบสูงสุด 30% ให้กลายเป็น 15% และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายเบาบางลง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กลับมาประกาศใช้กณฑ์ Ceiling & Floor ตามเดิมที่ 30% ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2568
ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา หุ้นนับ 10 ตัวดิ่งฟลอร์ลงมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ 4 หุ้น ที่ถูกเชื่อมโยงนักลงทุนรายใหญ่ระดับหมื่นล้านบาท อย่าง มงคล ประกิตชัยวัฒนา ดิ่งฟลอร์ลงมาพร้อม ๆ กัน ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC และบริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TPS จึงเป็นข้อสังเกต ว่าอาจมีการ "บังคับขาย" (Force Sell) หุ้นในพอร์ตของนักลงทุนรายใหญ่นี้
ทั้งนี้ หุ้น KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในยุคหนึ่งหุ้นตัวนี้ถือว่าเป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุน ปัจจุบันอยู่ในดัชนี SET100 กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน ในหมวดธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ เข้าจดทะเบียนในวันที่ 28 ต.ค. 2545 ไอพีโอที่ 19.00 บาทต่อหุ้น ในขณะนั้น หุ้นมีราคาพาร์ (Par Value) ที่ 10.00 บาทต่อหุ้น และวันที่ 13 ก.ค.2561 ซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ที่ 1 บาทต่อหุ้น
โดยในเดือน พ.ค.2568 หุ้น KTC มีหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น จำนวน 420,204,381 หุ้น คิดเป็น 16.30% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
สำหรับราคาปิด ช่วงที่หุ้น KTC ดิ่งฟลอร์
วันที่ 20 มิ.ย.2568 ราคาปิดที่ 34.75 บาท มาร์เก็ตแคป 89,597.11 ล้านบาท
วันที่ 23 มิ.ย.2568 ราคาปิดที่ 29.50 บาท เปลี่ยนแปลง -15.11% มาร์เก็ตแคปลดลง 76,060.86 ล้านบาท
วันที่ 24 มิ.ย.2568 ราคาปิดที่ 25.00 บาท เปลี่ยนแปลง -15.25% มาร์เก็ตแคปลดลง 64,458.35 ล้านบาท
เท่ากับในช่วง 2 วัน ราคาหุ้น KTC หายไป 9.75 บาท หรือ ลดลง 28.06% มาร์เก็ตแคปหายไป 25,138.76 ล้านบาท หรือ ลดลง 28.06%
มงคล ประกิตชัยวัฒนา ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 327,466,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.70% วันที่ 20 มิ.ย.2568 มีมูลค่าพอร์ต KTC อยู่ที่ 11,379 ล้านบาท ขณะที่วันที่ 24 มิ.ย.2568 อยู่ที่ 8,187 ล้านบาท
ทั้งนี้ "มงคล" เข้าถือหุ้น KTC ตั้งแต่ปี 2555 ประมาณ 29.6 ล้านหุ้น ซึ่งราคาต่ำ และสูงสุดในช่วงปี 2555 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 1.39-3.20 บาท
วันที่ 25 มิ.ย.2568 พบมีการซื้อขายบิ๊กล็อต หุ้น KTC อีก 129,204,600 หุ้น มี 14 รายการ มูลค่าสูงสุด 2,672.84 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 20.69 บาท
โฆษณา