28 มิ.ย. เวลา 12:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ย้อนประวัติ “ช่องแคบฮอร์มุช” จากเส้นทางค้าดิ้นไหมสู่เส้นเลือดใหญ่น้ำมันโลก

ช่วงนี้ข่าวสารบ้านเมืองเกี่ยวกับน้ำมันมีมากมายให้เห็นเต็มไปหมด ตั้งแต่การตัดขาดการค้าน้ำมันระหว่างไทยและกัมพูชาอันเนื่องมาจากกรณีพิพาทเขตแดน ไปจนถึงข่าวน้ำมันสำรองของประเทศเหลือเพียงแค่ 60 วัน นอกไปจากนั้นแล้วยังมีเรื่องราวของการที่อิหร่านขู่ที่จะปิด “ช่องแคบฮอร์มุช” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางค้าน้ำมันใหญ่ที่ส่งออกน้ำมันดิบจากอาระเบียไปยังฝั่งตะวันออกของโลก
ชื่อของช่องแคบฮอร์มุชฟังดูเป็นชื่อที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย แต่สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารต่างประเทศ อาจจะคุ้นชื่ออยู่บ้าง ซึ่งปริมาณน้ำมันที่นำเข้ามาในประมาณไทยจำนวนหนึ่งก็เดินทางจากอาหรับผ่านเส้นทางช่องแคบนี้มายังประเทศไทย ตลอดจน 1 ใน 4 ของน้ำมันโลกก็ล้วนเดินทางผ่านช่องทางนี้เหมือนกัน แต่กว่าที่จะกลายมาเป็นเส้นเลือดใหญ่อีกสายหนึ่งของน้ำมันโลกได้นั้น ช่องแคบฮอร์มุชมีความเป็นมาอย่างไร All About History สัปดาห์นี้จะขอพาทุกท่านย้อนกลับไปดูความเป็นมาของช่องแคบแห่งนี้กัน
⭐สารพัดที่มาของชื่อ “ฮอร์มุช”
ช่องแคบฮอร์มุช นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องแคบธรรมชาติที่สำคัญ โดยเป็นช่องแคบที่มีจุดที่แคบราว ๆ 39 กิโลเมตร เชื่อมต่ออ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานเข้าไว้ด้วยกัน โดยประวัติของความเป็นมาชื่อฮอร์มุชนี้มีหลากหลาย บ้างก็ว่าเป็นการตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ อิฟรา ออร์มิซด์ พระราชมารดาและผู้สำเร็จราชการในพระเจ้าซาปูร์มหาราช ราชาเหนือราชาแห่งเปอร์เซีย โดยเป็นพื้นที่ที่มาความอุดมสมบูรณ์สูง ซึ่งในคู่มือเดินเรือทะเลอีริทเธรียนของฝั่งกรีกได้เขียนบรรยายเอาไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยหอยมุก
อย่างไรก็ดี เรื่องที่มาของชื่อที่กล่าวว่าเป็นการให้เกียรติพระราชมารดาในพระเจ้าซาปูร์มหาราช อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่าก็เป็นไปได้ เพราะยังคงมีอีกหลายทฤษฎีที่บอกเล่าถึงที่มาของชื่อที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าฮอร์มุชในที่นี้มีที่มาจากภาษาเปอร์เซียในพื้นที่แถบนั้น ซึ่งมีการออกเสียงที่ใกล้เคียงกับคำเรียก “อันทผลัม” บ้างก็ว่าชื่อนี้ไม่ได้ถูกเรียกมาตั้งแต่ต้น หากแต่เป็นชื่อที่เพิ่งถูกเรียกในช่วงศตวรรษที่ 10 โดยเรียกตาอาณาจักรที่ตั้งขึ้นอยู่ใกล้กับช่องแคบแห่งนี้อย่างอาณาจักรออร์มุช
⭐เส้นทางค้าจากอาหรับสู่เอเชีย
ในเอกสารของทางฝั่งจีนจากศตวรรษที่ 7 ปรากฎการกล่าวถึงเมืองการค้าในช่องแคบนี้ซึ่งขนานนามว่า โฮโม ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงฮอร์มุช ในขณะที่เอกสารของทางฝั่งอินเดียมีการกล่าวถึงฮอร์มุชในศตวรรษที่ 13 ซึ่งการค้นพบการกล่าวถึงนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานะของความเป็นเมืองท่าในอาณาบริเวณช่องแคบฮอร์มุชมาอย่างยาวนาน
ช่องแคบฮอร์มุชได้เข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์มากเป็นพิเศษก็ในสมัยของอาณาจักรออร์มุช อาณาจักรออร์มุชในช่วงที่รุ่งเรืองสุด ๆ ราวศตวรรษที่ 14 นั้นได้มีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งที่ในบริเวณช่องแคบ ทำให้อาณาจักรออร์มุชครอบครองพื้นที่ทางทะเลและเป็นเมืองท่าสำคัญที่สินค้าจากอาหรับฝั่งอ่าวเปอร์เซีย และสินค้าจากฝั่งตะวันออกไกล ได้มาบรรจบพบกันที่นี่
นี่เองทำให้เศรษฐกิจของพวกเขารุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยสินค้าที่ทำการแลกเปลี่ยนกันก็มีตั้งแต่ผลไม้แห้ง ไปจนถึงดิ้นไหมและพรมเปอร์เซียอันโด่งดัง ซึ่งออร์มุชนั้นก็ยังคงมีสถานะเป็นรัฐบรรณาการของทางอิหร่านอีกทีหนึ่ง
ความเป็นมหาอำนาจการค้าทางทะเลระหว่างอาหรับกับเอเชีย ทำให้ออร์มุชเป็นสถานที่ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้เดินทางมา ยกตัวอย่างเช่นเจิ้งเหอ นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองจีน ก็ยังเดินทางมาและพำนักอยู่ที่ออร์มุชนานถึง 2 เดือนด้วยกัน นอกจากนี้แล้ว ทุกท่าเรือในช่องแคบแห่งนี้ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในด้านการค้าของภูมิภาคเสมอมา
บทบาททางการค้าของอาณาจักรออร์มุชนั้นค่อย ๆ ลดความสำคัญลง โดยเริ่มจากการที่อาณาจักรออร์มุชถูกปกครองโดยนักล่าอาณานิคมจากโปรตุเกส ซึ่งภายใต้การปกครองของโปรตุเกสนั้น ฮอร์มุชก็ยังนับว่าเป็นเมืองท่าแต่ไม่ถึงกับสำคัญ อีกทั้งหลังจากที่ฮอร์มุชถูกตีคืนโดยอาณาจักรซาฟาวิดและขับไล่อิทธิพลของโปรตุเกสออกจากอ่าวเปอร์เซีย เส้นทางการค้าก็เปลี่ยนเป็นการนำของไปขึ้นที่บนฝั่งแทนเกาะฮอร์มุช ทำให้บทบาทของอาณาจักรออร์มุชต่อการค้าในช่องแคบเป็นอันสิ้นสุดลง
⭐เส้นทางน้ำมันโลก
ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาณาจักรออร์มุช แต่ช่องแคบแห่งนี้ก็ยังคงเป็นเส้นทางเดินสินค้าสำคัญที่เชื่อมเปอร์เชียกับอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน และเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็เกิดการใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโลกให้ก้าวไปข้างหน้า
ซึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้น ก็มีการใช้พลังงานมากมายหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่ถ่านหินไปจนถึงน้ำมันต่าง ๆ ที่ค้นพบทั้งในยุโรปและอเมริกา ไม่เคยมีใครนึกถึงอาหรับ เพราะกว่าที่ประเทศในดินแดนอาหรับจะค้นพบว่าตัวเองมีทรัพยากรอันทรงคุณค่าอย่างน้ำมัน ก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 กันแล้ว
จำนวนปริมาณน้ำมันที่ค้นพบทำให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศสามารถพัฒนาจนรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรต์ หรือคูเวตก็ตาม ซึ่งน้ำมันจำนวนหนึ่งจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนี้ ก็ได้เดินทางผ่านช่องแคบฮอร์มุชในทุก ๆ วัน ซึ่งในช่วงปี 2018 นั้น มีสถิติส่งออกน้ำมันมากกว่า 21 ล้านบาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว โดยน้ำมันที่เดินทางออกจากอ่าวเปอร์เซียผ่านช่องแคบนี้นั้น ส่วนใหญ่แล้วมีจุดหมายปลายทางมายังทางตะวันออกไกล ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เป็นต้น
⭐ช่องแคบฮอร์มุชในวันที่อิหร่านขู่ปิด
อันที่จริงช่องแคบแห่งนี้เป็นจุดที่มีข้อพิพาทที่มากมายตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามอิหร่านอิรัก และนำมาซึ่งการปิดช่องแคบฮอร์มุชและโจมตีเรือชาติที่เป็นกลางจนทำเอาราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงและเกิดความกดดันทางเศรษฐกิจตามมา สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อิหร่านขู่ที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุชเหมือนเดิม แต่ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นเหมือนเดิมหรือไม่? ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป…
เรื่อง : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #เศรษฐกิจ #อิหร่าน #อเมริกา #น้ำมัน #ช่องแคบฮอร์มุช #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
อ้างอิง
Moosvi, Shireen. “INDIA’S SEA TRADE WITH IRAN IN MEDIEVAL TIMES.” Proceedings of the Indian History Congress 70 (2009): 240–50. http://www.jstor.org/stable/44147672.
Kauz, Ralph, and Roderich Ptak. “Hormuz in Yuan and Ming Sources.” Bulletin de l’École Française d’Extrême-Orient 88 (2001): 27–75. http://www.jstor.org/stable/43731513.
Mohta, Nikita. From empires to oil: The story of the Strait of Hormuz. The Indian Express (๋June, 2025)
Rezakhani, Khodadad. The Kingdom of Hormuz. on Iranologies blog. https://iranologie.com/the-history-page/the-kingdom-of-hormuz/
Butler, Gavin. Strait of Hormuz: What happens if Iran shuts global oil corridor?. on BBC
โฆษณา