30 มิ.ย. เวลา 11:26 • ประวัติศาสตร์

จุดเริ่มต้นและการล่มสลายของ “สงครามครูเสดชาวบ้าน (People's Crusade)“

ในปีค.ศ.1095 (พ.ศ.1638) “สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II)” ทรงมีพระดำรัส เรียกร้องให้กองกำลังชาวคริสต์ลุกฮือเพื่อปลดปล่อย “เยรูซาเล็ม (Jerusalem)” จากอำนาจของต่างชาติ
แรงจูงใจในการเรียกระดมพลเพื่อเริ่มต้น “สงครามครูเสดครั้ง แรก (First Crusade)” นั้นมีหลายชั้นและซับซ้อน สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ทรงหวังที่จะทำให้ขบวนการปฏิรูปสันตะสำนักมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทรงตั้งใจที่จะฟื้นฟูอิทธิพลของพระองค์ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลด้วยการให้ความช่วยเหลือจักรวรรดิไบแซนไทน์ในการต่อสู้กับกองกำลังมุสลิมในท้องถิ่น
นอกจากนั้น องค์พระสันตะปาปายังมองเห็นโอกาสในการสร้างอำนาจเหนือบรรดาขุนนางและอัศวินทั้งหลายในยุโรปตะวันตก
สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II)
สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ทรงใช้เวลาหลายเดือนในการวางรากฐานสำหรับแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และก่อนที่จะตรัสถ้อยคำใดต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการปลดปล่อยกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ก็ได้ชักจูงบรรดานักบวชและขุนนางท้องถิ่นจำนวนมากให้เข้าร่วมในภารกิจนี้แล้ว ซึ่งนี่คือปฏิบัติการแบบรวมศูนย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุโรปมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมันโบราณ
กำหนดการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของสงครามครูเสด ได้ถูกวางกำหนดการณ์ไว้ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1096 (พ.ศ.1639)
แต่อย่างไรก็ตาม เหล่าชาวนาและผู้ยากไร้ก็อาจจะไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดนัก
ถ้อยแถลงของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ในปี ค.ศ. 1095 (พ.ศ.1638) ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง และไปถึงหูของชาวนาและผู้ยากไร้จำนวนมากที่ต่างใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น
ภาพของทรัพย์สมบัติล้ำค่าแล่นอยู่ในหัวของพวกเขา ขณะที่คำมั่นสัญญาเรื่องความเป็นนิรันดร์ก็ดังก้องอยู่ในหูของพวกเขา
ในช่วงหลายปีก่อนค.ศ.1096 (พ.ศ.1639) คลื่นแห่งความทุกข์ยาก ทั้งภัยแล้ง โรคระบาด และความอดอยาก ได้โหมกระหน่ำจู่โจมชนชั้นล่างในยุโรปอย่างหนัก
ท่ามกลางความทุกข์ทรมาน กลุ่มคนหลายกลุ่ม ทั้งชาวนาและขุนนางบางส่วน ได้ตัดสินใจออกเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มด้วยตนเองทั้งๆ ที่ไม่มีคำสั่งและปราศจากการเตรียมตัวใดๆ
สำหรับผู้คนจำนวนมาก สงครามครูเสดไม่ได้เป็นเพียงหนทางสู่ความรอดทางจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่จะหลบหนีจากโลกที่กำลังล่มสลาย ความมุ่งมั่นของพวกเขายิ่งแน่วแน่มากขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ประหลาดบนท้องฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1095 (พ.ศ.1638) ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แสงไฟพาดผ่านท้องฟ้ายามค่ำคืน แสงเหนือระยิบระยับ ดวงจันทร์ที่มืดมน และการปรากฏของดาวหาง เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนถูกตีความว่าเป็นสัญญาณจากสวรรค์ ปลุกเร้าให้ชนชั้นล่างลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว
ที่เมืองอาเมียง ประเทศฝรั่งเศส นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ปีเตอร์ผู้สันโดษ (Peter the Hermit)“ ได้เริ่มจัดระเบียบกลุ่มชาวบ้านที่หลั่งไหลมาหาเขาเพื่อขอคำชี้แนะ
ปีเตอร์ผู้สันโดษหวังจะตอบรับคำเรียกร้องของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ด้วยการระดมกองกำลังของตนเอง และออกเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มก่อนที่กองทัพที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการของสันตะสำนักจะเคลื่อนพล
1
ปีเตอร์ผู้สันโดษ (Peter the Hermit)
สงครามที่จะเป็นที่รู้จักในนาม “สงครามครูเสดชาวบ้าน (People's Crusade)“ได้เริ่มต้นออกเดินทางสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในช่วงปลายปีค.ศ.1095 (พ.ศ.1638) โดยกลุ่มผู้เดินทางประกอบด้วยชายหญิงและเด็กจำนวนประมาณ 40,000 คน
คนเหล่านี้แทบจะไม่มีอาวุธหรืออุปกรณ์ใดที่เหมาะสมสำหรับการสู้รบ อีกทั้งยังขาดแคลนเสบียงอาหาร และไม่มีการจัดระบบหรือวางแผนอย่างเป็นระเบียบใดๆ เลย
ระหว่างการเดินทาง กลุ่มผู้ร่วมขบวนสงครามครูเสดได้บุกปล้นแคว้นไรน์ลันท์และสังหารชาวยิวที่ไม่มีทางสู้นับพัน ชาวยิวจำนวนมากถูกทรมาน ปล้นทรัพย์สิน และถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เหตุการณ์อันโหดร้ายนี้ได้สร้างบรรทัดฐานที่น่าหวั่นเกรงสำหรับสงครามครูเสดในอนาคต โดยปีเตอร์ผู้สันโดษได้บอกกับผู้ติดตามว่า กองทัพของตนได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าให้ต่อสู้กับศัตรูของศาสนาคริสต์ ซึ่งในความเชื่อนั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงชาวมุสลิมในแดนไกลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวยิวในยุโรปอีกด้วย
มีการประเมินจำนวนตัวเลขชาวยิวที่ถูกสังหารไว้สูงถึง 12,000 คน แต่การประเมินส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงระหว่าง 4,000-8,000 คน
หลังจากที่กองทัพประชาชนได้สังหารชาวยิวจนหนำใจแล้ว พวกเขาก็เดินหน้าต่อ มุ่งไปยังแคว้นอนาโตเลีย โดยหวังว่าจะไปถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อเติมเสบียงและรวบรวมกำลังพลมากขึ้น
กองทัพบ้านนอกอย่างนี้ไม่ใช่กองทัพที่ “จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอส (Alexios I Komnenos)” พระประมุขแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์คาดหวังจะได้เห็น
จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอส (Alexios I Komnenos)
เมื่อพระองค์รับสั่งขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 พระองค์ไม่ได้คาดหวังที่จะเห็นกองทัพที่กระจอกงอกง่อยเช่นนี้ แต่ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังมีรับสั่งให้ส่งนักรบครูเสดชาวบ้านพวกนี้จำนวน 30,000 นายข้ามช่องแคบบอสฟอรัสเข้าสู่อนาโตเลีย โดยนักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอสทรงตระหนักดีว่ายังไงซะ กองทัพนี้ต้องล่มแน่นอน ไม่มีทางชนะได้เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังส่งนักรบชาวบ้านพวกนี้เข้าสู่แดนศัตรูอยู่ดีโดยไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไร
1
เมื่อกองทัพประชาชนเคลื่อนผ่านไปทางตะวันออกของกรุงคอนสแตนติโนเปิล พวกเขาก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพเติร์กที่รอคอยอยู่ก่อนแล้ว โดยกองทัพเติร์กได้รับทราบข่าวล่วงหน้าถึงการมาถึงของกองทัพแฟรงก์และละตินที่มุ่งหน้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์
เมื่อกองทัพครูเสดเดินทางออกห่างจากยุโรปมากขึ้น กองทัพก็เริ่มจะมีปัญหา
ปีเตอร์ผู้สันโดษได้สูญเสียอำนาจในการควบคุมผู้คน และย้อนกลับไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งจักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอสก็ทรงแนะนำให้ตั้งค่ายพัก รอคอยกองทัพครูเสดหลักที่จะมาถึงในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ผู้สันโดษก็ไม่มีอำนาจในการสั่งการกองทัพที่เขาเคยช่วยรวมตัวขึ้นมาอีกต่อไป กองทัพอันยุ่งเหยิงของเขาจึงยังคงมุ่งหน้าไปยังเมืองไนเซีย
เมื่อปราศจากผู้นำที่เข้มแข็ง กองทัพก็กลายเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอและง่ายต่อการถูกบ่อนทำลาย สายลับชาวเติร์กสามารถแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มนักรบครูเสด และแพร่ข่าวลือว่าเมืองไนเซียได้ถูกยึดครองเรียบร้อยแล้ว พร้อมเชิญชวนให้กองทัพเข้าร่วมในการปล้นสะดมและสังหารศัตรู
ข่าวลือนี้ทำให้กองทัพต้องรีบร้อนยกทัพออกจากค่าย เดินผ่านหุบเขาแคบโดยไม่ทันระวังตัว และถูกซุ่มโจมตี
กองกำลังเติร์กได้ทำการโจมตีกองทัพชาวนาจากป่าที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้กองทัพแตกกระเจิง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
ชาวนาที่เข้าร่วมกับขบวนนักรบครูเสดประมาณ 20,000 คนถูกสังหาร หลายคนรีบหนีกลับไปยังค่ายพัก ซึ่งผู้หญิงและเด็กก็ถูกจับตัวและขายเป็นทาส
จากกองทัพเดิมที่มีกำลังคนราว 40,000 คน เหลือรอดชีวิตเพียงแค่ประมาณ 3,000 คน ซึ่งรวมถึงปีเตอร์ผู้สันโดษด้วย
กล่าวได้ว่ามากกว่า 90% ของผู้ที่ออกเดินทางจากยุโรปถูกฆ่าตายหรือถูกจับตัว กองทัพประชาชนไม่สามารถคว้าชัยชนะได้แม้แต่ครั้งเดียว คนที่พวกเขาสังหารได้ก็คือเหล่าชาวยิวที่เป็นพลเรือนเท่านั้น
สงครามครูเสดชาวบ้าน ได้กลายเป็นบทเรียนอันชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ไร้ประสิทธิภาพ เมื่อปราศจากระเบียบวินัย ผู้นำที่เข้มแข็ง และการฝึกรบ เหล่านักรบครูเสดกลุ่มแรกนี้จึงถูกกองทัพเซลจูคเติร์กบดขยี้อย่างง่ายดายในการรบที่ซีเวอตอตในปีค.ศ.1096 (พ.ศ.1639)
ความล้มเหลวนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางแผนและการมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการทำศึกในอนาคต และกลายเป็นบทนำอันมืดมนต่อสงครามครูเสดครั้งแรกที่มีการจัดระเบียบอย่างจริงจังตามมา
หายนะของสงครามครูเสดชาวบ้าน ได้นำไปสู่ความเข้มงวดมากขึ้นในสงครามครูเสดครั้งต่อๆ ไป ทั้งสันตะสำนักและอำนาจฆราวาส ต่างตระหนักถึงอันตรายของความคลั่งศาสนาและอารมณ์มวลชนที่ไร้แบบแผน จึงพยายามอย่างยิ่งในการตรวจสอบ คัดกรอง และจัดระเบียบกองทัพในอนาคตให้มีความพร้อมและมีระเบียบมากยิ่งขึ้น
และเหตุการณ์การสังหารชาวยิวนับพันคน ก็ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุโรป และได้วางแบบแผนสำหรับความรุนแรงทางศาสนาในสงครามครูเสดครั้งต่อๆ ไป
โฆษณา