3 ก.ค. เวลา 14:05 • ธุรกิจ

เวนดิ้งแมชชีนไทยยังโต แม้ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติเลิกฮิต 'ซันเวนดิ้ง' ลุยขยาย 1,800 ตู้

"ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี" เจ้าตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมชะลอตัว ลดคนงาน ลดโอที ธุรกิจกระทบ ไตรมาส 3 ฟื้น หวังยานยนต์ญี่ปุ่นกลับมาคึกคัก
“ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” หรือเวนดิ้งแมชชีนในประเทศไทย พัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งขายเครื่องดื่มกระป๋อง(Can) ตู้จำหน่ายสินค้าแบบบานกระจก(Glass Font) ตู้จำหน่ายสินค้าแบบถ้วยอัตโนมัติ(Cup) ตู้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอัตโนมัติ(Noodle) ฯ
เจ้าตลาดเวนดิ้งแมชชีน ยกให้ “ซันเวนดิ้ง” ของเครือสหพัฒน์ เพราะองค์กรยืนหยัดมากว่า 50 ปี สร้างการเติบโตทางธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 7 ปีที่ผ่านมา จากมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 10,277 ตู้ เพิ่มเป็น 17,935 ตู้ในปี 2567 ทำรายได้จาก 1,653 ล้านบาท มาแตะ 2,529 ล้านบาท
“ซันเวนดิ้ง มีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 25 ปี โดย 7-8 ปีที่ผ่านมาเติบโต 8-10% เราทำกำไรตั้งแต่ปีแรกเลย” พิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ฉายภาพ
เส้นทางซันเวนดิ้ง เริ่มจากธุรกิจที่ถูกเทคโนโลยี ดิสรัปหมดแล้ว ทั้งฟิล์มถ่ายรูป เครื่องเล่นวิดีโอเทป ฯ ทว่า จุดเปลี่ยนเกิดเมื่อ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผ่องถ่ายตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 1,000 ตู้แก่บริษัทสู่การต่อยอดเติบโต
ยุคนั้นผู้บริโภคชาวไทยไม่รู้จักเวนดิ้งแมชชีน หากนึกถึงประสบการณ์ใช้บริการกดสินค้า ย่อมเคยถูกตู้กินเงินทั้งเหรียญและธนบัติกันบ้าง จนเกิดความไม่ไว้ใจใข้งาน บริษัทจึงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขายสินค้าปลีก ปรับปรุงให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและบริบทแวดล้อม
“เราครบรอบ 50 ปี และผ่านการล้มลุกคลุกคลานในช่วง 25 ปีแรก เราประสบกับเทคโนโลยี ดิสรัปชัน ทั้งฟิล์มถ่ายรูป เครื่องเล่นวิดีโอเทป ไม่มีอยู่แล้ว ผู้บริหารของเราผ่านความยากลำบากและเรียนรู้ธุรกิจ”
โฆษณา