Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WhoChillDay
•
ติดตาม
3 ก.ค. เวลา 07:47 • การเมือง
วันนี้แน่ชัด อำนาจไม่ใช่ประชาชนแน่ ๆ !!
เวลาทำการอภิวัฒน์ก่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าที่ไหนในโลก ไม่ใช่ทำวันนั้นเสร็จ จะชนะเด็ดขาด แต่จะต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หรือทำเสร็จแล้วเขียนรัฐธรรมนูญมี 1 มาตราว่าอำนาจสูงสุดเป็นของ “ราษฎร" ทั้งหลายแล้ว...จะเป็นไปในชั่วข้ามคืน
สุดท้ายเป็นเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ
“จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า พาเหลียวหลัง แลหน้า โครงสร้างการเมืองไทย นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 คือการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานระบอบประชาธิปไตย จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กลายมาเป็น “อำนาจสูงสุดของราษฎร”
จนถึงวันนี้ ยังเป็นเรื่องของการต่อสู้กันในทางอำนาจ ระหว่าง “กลุ่มชนชั้นปกครอง” ปะทะ “กลุ่มชนชั้นใต้การปกครอง” เป็นปัญหาเรื้อรัง พัวพันกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าดูตัวอย่างจากบ้านเมืองอื่น เวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือปฏิวัติเสร็จ ก็มีลักษณะ “เปลี่ยนไป-เปลี่ยนมา” ต่อสู้กันเป็นยก ๆ
โดยเฉพาะประเทศไทย ยิ่งยากกว่าที่อื่นในแง่อะไร !?
ประเทศอื่น อาจเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก เช่น สงคราม กรณีญี่ปุ่น แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโอกาสให้อเมริกา เข้ามาจัดระเบียบอำนาจของสถาบันจักรพรรดิและทหารญี่ปุ่น วันนี้ถึงเป็นอย่างนี้ได้
หรือประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น เวลาเขาปลดปล่อยอาณานิคมจะเปลี่ยนระบอบออกเอียงซ้าย และฝ่ายสังคมนิยมมากขึ้น เช่น เวียดนาม เป็นต้น หรือทางอินโดนีเซีย เขาปลดปล่อยอิสรภาพตัวเอง เปลี่ยนระบอบการปกครอง
แต่ไทยมีลักษณะบางอย่าง “ไม่ได้เป็นอาณานิคม” ใครเลย การเปลี่ยนแปลงของเรา 2475 มาช้ามาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก
ขณะเดียวกัน “สถาบันกษัตริย์” ของเรามีความพยายาม “ปรับตัว” มาเรื่อย ๆ
สมัยรัชกาลที่ 4 ปรับตัวเข้ากับทุนนิยมโลกมากขึ้น ผ่านสนธิสัญญาเบาว์ริง
สมัยรัชกาลที่ 5 ปรับตัวเข้ากับระบบราชการแบบสมัยใหม่ เอาอำนาจรวมศูนย์ เข้ามาจัดระเบียบราชการบริหารแผ่นดินใหม่
มาถึงรัชกาลที่ 7 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และกลุ่มคณะราษฎร สามัญชนที่ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ กลับมาปุ๊บก็อยากเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ ซึ่งในต่างประเทศ เขาไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน ผ่านการเขียนบัญญัติ 1,2,3,4...ลงไปหรอก แต่มีการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างสถาบันกับสภาอยู่ตลอด เช่นฝรั่งเศส - อังกฤษ สู้กันมา 100 ปี เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่าเวลาเปลี่ยน ณ 24 มิ.ย. มีวิธีคิดเรื่องประชาธิปไตย - รัฐธรรมนูญ – ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน สภา รัฐบาล สุดท้ายเรื่องจบด้วยการที่ “ในหลวง รัชกาลที่ 7” ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ
พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ในหลวง รัชกาลที่ 8 พระองค์ทรงพระเยาว์ ทำให้คณะราษฎรก่อตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นแทน ปกครองอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องสมัครสมานกันต่อสู้ไปด้วยกันอีกระยะหนึ่ง
กระทั่ง 2490 เกิดรัฐประหารโดยกองทัพ มาจากความขัดแย้งกันเองในคณะราษฎรด้วย ระหว่างฝั่งทหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับฝั่งพลเรือน อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีการ “ช่วงชิงความชอบธรรมทางจารีตประเพณี” ขึ้น
รัฐธรรมนูญ 2490 เพิ่มพระราชอำนาจมากขึ้น เปลี่ยนโฉมจากสิ่งที่คณะราษฎรตอนต้นคิด
หลังจากนั้น พอการเมืองถึงทางตัน ก็กลายเป็น “วัฏจักร” ทหารออกมายึดอำนาจ !!
เลือกตั้งไปสักพัก – เกิดความขัดแย้ง จากปัจจัยภายใน ภายนอก – มีรัฐประหาร และดำรงอย่างนี้เรื่อยมา
ทำให้ระบอบประชาธิปไตยค่อยๆ ต่อสู้ ค่อยๆ ปะทะกัน ค่อยๆ ปรับตัวซึ่งกัน จนไม่สามารถหา “จุดสมดุล” ได้ว่าอยู่ตรงไหน ยื้อกันไปมาถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังเป็นปัญหาเดิม ๆ
ผมตั้งชื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 ใบอนุญาต”
ปฏิเสธไม่ได้...โลกสากล - ต้องมีการเลือกตั้ง
ปฏิเสธไม่ได้...โลกสากล - ทุก 4 ปี ต้องให้ประชาชนเลือกใหม่ - ใครจะเป็นเสียงข้างมากในสภา – จะให้ใครเป็นรัฐบาล
ดังนั้นนักการเมือง พรรคการเมืองทุกคนจะต้องหา “ใบอนุญาตที่ 1 เสียงสวรรค์จากประชาชน”
แต่ไทยพิเศษกว่านั้น ต้องมี “ใบอนุญาตที่ 2 กลุ่มก้อนชนชั้นนำ” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นใคร - องค์กรใด – กลุ่มก้อนอำนาจใด - ชนชั้นนำทางทหาร ทางเศรษฐกิจใด ปนๆ กันไป
เมื่อสภาพการเป็นแบบนี้ นักการเมืองกับพรรคการเมืองที่ต้องการเข้าไปมีอำนาจ ต้องพยายามปรับตัว ใบอนุญาตเดียวไม่พอ ต่างมุ่งหาใบอนุญาตที่ 2 ด้วย พอชนะเลือกตั้ง...มันก็จบ
ความสำคัญอยู่ที่ว่าตกลงแล้วใบอนุญาตไหน “สำคัญ” กว่ากันแน่
ในมุมวิชาการ ปัญหานักการเมือง...
มัก “คิดระยะสั้น” คิดเฉพาะหน้าว่าจะทำอย่างไร ถ้าได้เป็นรัฐบาล และเข้าไปแล้วก็พยายาม “ละทิ้ง” ใบอนุญาตที่1 มุ่ง “รักษา” ใบอนุญาตที่ 2 เพราะกลัวตัวเองมีอันเป็นไป ดูจากตำแหน่ง
ถ้านักการเมือง “คิดยาวกว่านี้” ต้องผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหาให้ใบอนุญาตที่ 1 อย่างเข้มข้น ส่วนใบอนุญาตที่ 2 อาจยังมีอยู่บ้าง ก็ต้องบริหารประเทศจริง ๆ ต้องคุยกับกลุ่มชนชั้นนำให้รู้เรื่อง ไม่ใช่เป็น “Final” ชี้ขาด ทำให้ใบอนุญาตเสียงสวรรค์ประชาชน...ไม่มีค่า
แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเข้าไปมี “อำนาจรัฐ” ดันสู้กันเอง ทำลายอีกฝั่ง มุ่งประคองตัวเองจนหมดวาระ แล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันไหม่...ขตอนเลือกตั้ง
ดังนั้น 93 ปี การเมืองไทย มันเรื้อรัง พันแบบนี้ ตกลงแล้ว “ระเบียบการเมืองสมัยใหม่” ที่พยายามสร้าง พัฒนากันมา ณ วันนี้ย้อนกลับไปเรื่องเดิม ท้ายสุด “ผู้ทรงอำนาจสูงสุด” คือใคร
แน่ชัด...ไม่ใช่ประชาชนแน่ ๆ
เพราะถ้าเป็นประชาชน เลือกตั้งแล้วต้องจบ...ถูกไหมล่ะ แต่มันมีปัญหาทุกครั้ง นิติสงคราม – ศาลตัดสิน – รัฐประหาร ลองสังเกต มันจะวนมาทุก 2 ทศวรรษ !!
ทางกลับกัน ชวนคิดระเบียบการเมืองสมัยใหม่...
ที่เราพยายามสร้างมาตั้งแต่ 2475 ถึงวันนี้ ไม่เคยมีโอกาสได้พัฒนายาวนานเพียงพอ เดินไปสักพักเดี๋ยวสะดุดอีก และรัฐประหารทุกครั้ง มักสร้างกับดัก ระเบียบกติกาไว้ในกลไก “รัฐธรรมนูญ” เสมอ
ไม่ต้องย้อนไปไกล รัฐธรรมนูญ 2492, 2511, 2521, 2534, 2549 – 2557 ก็ดี จะมี “วุฒิสภา” จากการแต่งตั้งคุมเอาไว้
กลไกเหล่านี้ ทำให้ศูนย์อำนาจใบอนุญาตที่1 หดแคบลง – ใบอนุญาตที่ 2 ขยายใหญ่ ๆ “จุดสมดุล” จึงไม่เกิดขึ้นสักที นี่คือปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475
แต่แน่นอนที่สุด “รัฐประหาร” โดยกองทัพยุคสมัยนี้เกิดยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกหลายอย่าง ฝังเข้าไปในรัฐธรรมนูญ 60 และการรัฐประหาร จะต้อง “บ่ม - บิ้ว” สร้างสถานการณ์ลากกันไป ดูจากครั้งที่แล้วลากเป็นปีกว่าจะยึดอำนาจ
1
ฉะนั้น ยังไม่เกิดเร็ว ๆ นี้หรอก และเชื่ออาจไม่เกิดด้วยในยุคสมัยนี้
สภาพการณ์ปัจจุบัน...ยุบสภา รีบูตการเมือง
1
ถ้าเชื่อว่า “ใบอนุญาตที่ 1” อำนาจของประชาชนยังอยู่กับคุณ ก็จะไม่กลัว “การเลือกตั้ง” เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้น คุณพร้อมผ่าทางตัน ลงไปเลือกตั้งใหม่ และคุณอาจได้เสียงกลับมา
แต่ครั้งนี้ คุณไม่กล้ากลับไปเลือกตั้ง เพราะรู้ดีเลือกแล้ว...จะไม่ได้กลับมาอีก ไม่ได้เป็นรัฐบาลใช่ไหม เลยขอสู้แบบนี้ ประคับประคองกันไป และกอดใบอนุญาตที่ 2 ไปดีกว่าจนครบวาระ คิดกันแบบ “ไม่เกินจมูกตัวเอง”
ขืนปล่อยเดินต่อ พายุหมุน “นิติสงคราม” จะมาเป็นลูกระนาดกวาดทั้งกระดาน ซึ่งผมต่อต้านนิติสงครามคัดค้านการร้องเรียนเรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และการจัดการนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด
เสนอผ่าทางตันประเทศ...ยุบสภา !!
รีบูตฟื้นชีวิตสภา - รัฐบาล มีกำลังวังชาเต็มสูบกลับมาดีกว่า - ป้องกันเกิดสุญญากาศทางการเมือง เข้าทางปืน “ขบวนการนักสร้างสุญญากาศ” ที่กำลังรออยู่
เพราะนักการเมืองที่เป็นรัฐบุรุษ รัฐสตรี เป็นผู้นำชาติได้ เวลาเกิดวิกฤติต้องมอง ต้องคิดถึงรุ่นถัดไป สังคมส่วนรวม ไม่คิดว่าตัวเองต้องมีอำนาจต่อรอง
ยุบสภาปุ๊บ...เชื่อพี่น้องประชาชนกลับมาคึกคัก
คืนอำนาจให้ประชาชน กลับมาเป็นผู้กำหนดชะตากรรม นี่คือหลักการพื้นฐาน --//--
.
By #บูรพาแมวเหมียว
3 กรกฎาคม 2568
Note. สัมภาษณ์ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้นายกฯแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.68
#WhoChillDay #ปิยบุตร แสงกนกกุล
#ยุบสภา #อภิวัฒน์สยาม
การเมือง
ข่าว
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย