4 ก.ค. เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์

• ประวัติศาสตร์อิสราเอล ฉบับจบในโพสต์เดียว

• โพสต์นี้จะนำเสนอข้อมูลแบบไทม์ไลน์เวลา ดังนั้นในบางเหตุการณ์อาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงในโพสต์นี้
ประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล: อับราฮัม (Abraham) บิดาของชาวฮีบรู (บรรพบุรุษของชาวยิว) ตามคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม อับราฮัมได้รับการเรียกจากพระเจ้าให้อพยพจากเมืองอูร์ในเมโสโปเตเมียไปยังดินแดนคานาอัน (บริเวณอิสราเอลและปาเลสไตน์ในปัจจุบัน) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชาวยิว
ประมาณ 1,900-1,800 ปีก่อนคริสตกาล: อิสอัค (Isaac) และยาโคบ (Jacob) ผู้เป็นบุตรและหลานของอับราฮัม สืบทอดพันธสัญญา ยาโคบเปลี่ยนชื่อเป็น "อิสราเอล" และมีบุตร 12 คน ซึ่งกลายเป็นบรรพบุรุษของ 12 เผ่าของอิสราเอล
ประมาณ 1,700 ปีก่อนคริสตกาล: โยเซฟ (Joseph) บุตรของยาโคบ ถูกขายเป็นทาสที่อียิปต์ แต่ต่อมากลายเป็นผู้มีอำนาจในราชสำนักฟาโรห์ ชาวอิสราเอล (หมายถึงลูกหลานของยาโคบหรืออิสราเอล) อพยพจากดินแดนคานาอันมายังอียิปต์เพื่อหลบหนีจากความอดอยาก
ประมาณ 1,600-1,250 ปีก่อนคริสตกาล: ชาวอิสราเอลถูกกดขี่เป็นทาสที่อียิปต์ โมเสส (Moses) นำชาวอิสราเอลหนีออกจากอียิปต์ (เหตุการณ์ Exodus) และได้รับบัญญัติ 10 ประการจากพระเจ้าที่ภูเขาซีนาย
ประมาณ 1,250 ปีก่อนคริสตกาล: โยชูวา (Joshua) นำชาวฮีบรูพิชิตดินแดนคานาอัน ตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่พระเจ้าเคยสัญญาไว้
ประมาณ 1,200-1,000 ปีก่อนคริสตกาล: ยุคของผู้วินิจฉัย (Judges) ชาวอิสราเอลถูกปกครองโดยผู้นำท้องถิ่น (เช่น เดโบราห์, กิเดโอน, แซมสัน) ต่อสู้กับชนชาติอื่น ๆ ในดินแดนคานาอันอย่างเช่น ชาวฟิลิสติน (Philistines ที่มาของชื่อปาเลสไตน์)
1
ประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล: ซาอูล (Saul) เป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรอิสราเอล ตามมาด้วยกษัตริย์ดาวิด (David) ผู้รวมชาติและตั้งเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง
ประมาณ 970 ปีก่อนคริสตกาล: กษัตริย์โซโลมอน (Solomon) บุตรของดาวิด สร้างพระวิหารแห่งแรกในเยรูซาเล็ม อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรืองถึงขีดสุด
ประมาณ 930 ปีก่อนคริสตกาล: หลังกษัตริย์โซโลมอนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรอิสราเอลได้แตกออกเป็นสองส่วน คืออาณาจักรอิสราเอลทางเหนือของสิบเผ่าอิสราเอล กับอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ของเผ่ายูดาห์กับเผ่าเบนจามิน (ต่อมารู้จักในนามชาวยิว)
722 ปีก่อนคริสตกาล: จักรวรรดิอัสซีเรียยึดครองอาณาจักรอิสราเอล เผ่าทั้ง 10 ของอาณาจักรอิสราเอลถูกเนรเทศ (กลายเป็น 10 เผ่าอิสราเอลที่สูญหาย)
587 ปีก่อนคริสตกาล: จักรวรรดิบาบิโลนภายใต้พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 พิชิตอาณาจักรยูดาห์ ทำลายเยรูซาเล็มและพระวิหารแห่งแรก ชาวยิวถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน
538 ปีก่อนคริสตกาล: บาบิโลนถูกพิชิตโดยเปอร์เซีย กษัตริย์เปอร์เซียไซรัสมหาราชทรงอนุญาตให้ชาวยิวกลับสู่เยรูซาเล็มและสร้างพระวิหารแห่งที่สอง
333 ปีก่อนคริสตกาล: อเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตภูมิภาคนี้ อิทธิพลวัฒนธรรมกรีก (Hellenism) แพร่ขยายเข้ามา
167-160 ปีก่อนคริสตกาล: การก่อกบฏของมัคคาบี (Maccabees) ต่อต้านการปกครองของจักรวรรดิเซลูซิด (ที่สืบทอดจากอเล็กซานเดอร์มหาราช) นำไปสู่การปกครองตนเองของชาวยิวแห่งราชวงศ์ฮัสโมเนียน
63 ปีก่อนคริสตกาล: โรมันยึดครองเยรูซาเล็ม อิสราเอลกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรมัน (มณฑล Syria Palaestina)
1
ค.ศ. 70: โรมันทำลายพระวิหารแห่งที่สองหลังการก่อกบฏของชาวยิว การกระจัดกระจายของชาวยิวไปยังที่ต่าง ๆ (Diaspora)
ค.ศ. 70-1800: ชาวยิวกระจัดกระจายไปทั่วยุโรป เอเชีย และแอฟริกา พัฒนาวัฒนธรรมยิวในชุมชนต่าง ๆ แต่เผชิญการกดขี่และการต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism)
ศตวรรษที่ 7: จักรวรรดิมุสลิมยึดครองปาเลสไตน์
1096-1291: สงครามครูเสด ดินแดนปาเลสไตน์หรือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ถูกแย่งชิงระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม สงครามจบลงด้วยชัยชนะของชาวมุสลิม
1492: ชาวยิวถูกขับออกจากสเปนในช่วงการสอบสวนศาสนา (Spanish Inquisition)
1517-1917: ปาเลสไตน์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน
1880s-1900s: ขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) เริ่มขึ้นโดยธีโอดอร์ เฮิร์ซล์ (Theodor Herzl) เรียกร้องให้ชาวยิวกลับสู่ดินแดนปาเลสไตน์และก่อตั้งรัฐยิว
1917: คำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) สหราชอาณาจักรสนับสนุนการจัดตั้ง "บ้านแห่งชาติ" ของชาวยิวในปาเลสไตน์
1933-1945: การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) โดยนาซีเยอรมนี สังหารชาวยิว 6 ล้านคน ส่งผลให้การสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์และการอพยพของชาวยิวมายังปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น
1947: สหประชาชาติ (UN) ผ่านมติสมัชชาใหญ่ที่ 181 เสนอแผนแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐ คือรัฐของชาวยิวและรัฐของชาวอาหรับ โดยเยรูซาเล็มอยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ ชาวยิวยอมรับแผนนี้ แต่ผู้นำอาหรับปฏิเสธ
14 พฤษภาคม 1948: รัฐอิสราเอลถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ดาวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล
15 พฤษภาคม 1948: สงครามอิสราเอล-อาหรับครั้งที่หนึ่ง (หรือสงครามเพื่ออิสรภาพในมุมของอิสราเอล) เริ่มขึ้นเมื่อชาติอาหรับที่ประกอบด้วยอียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน อิรัก บุกโจมตีอิสราเอล (เรียกว่า "นากบา" หรือ "ภัยพิบัติ" ในมุมมองปาเลสไตน์)
1949: สงครามจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล อิสราเอลควบคุมดินแดนมากกว่าที่กำหนดในแผนของ UN จอร์แดนยึดเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออก อียิปต์ยึดฉนวนกาซา ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มากกว่า 700,000 คน อพยพไปยังเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และประเทศใกล้เคียง
1
1950: อิสราเอลออกกฎหมาย "Law of Return" อนุญาตให้ชาวยิวทั่วโลกอพยพมายังอิสราเอลและได้รับสัญชาติ
1956: วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) อิสราเอลร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศสโจมตีอียิปต์หลังประธานาธิบดีกามาล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประกาศยึดคลองสุเอซ อิสราเอลยึดคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ชั่วคราว แต่ถอนตัวหลังถูกแรงกดดันจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
มิถุนายน 1967: สงครามหกวัน (Six-Day War) อิสราเอลเอาชนะสงครามเหนืออียิปต์ ซีเรีย และจอร์แดน อิสราเอลยึดครองเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา เยรูซาเล็มตะวันออก คาบสมุทรไซนายของอียิปต์ และที่ราบสูงโกลันของซีเรีย
ปลายทศวรรษ 1960s: อิสราเอลเริ่มตั้งถิ่นฐานของชาวยิว (settlements) ในดินแดนที่ยึดครอง กลายเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญ
ตุลาคม 1973: สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) อียิปต์และซีเรียโจมตีอิสราเอลในวันยมคิปปูร์ (วันสำคัญทางศาสนายูดาห์) เพื่อยึดดินแดนคืน อิสราเอลตอบโต้และรักษาดินแดนไว้ได้ แต่สูญเสียอย่างหนักเช่นกัน
1
1978: ข้อตกลงแคมป์เดวิด (Camp David Accords) ระหว่างอิสราเอล (นายกฯ เมนาเคม เบกิน) และอียิปต์ (ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต) โดยการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ นำไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพ
1979: สนธิสัญญาสันติภาพอิสราเอล-อียิปต์ อิสราเอลคืนคาบสมุทรไซนายให้อียิปต์ เป็นสันติภาพครั้งแรกของอิสราเอลกับชาติอาหรับ
1982: อิสราเอลบุกโจมตีเลบานอน (สงครามเลบานอนครั้งที่หนึ่ง) เพื่อกำจัดองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (หรือ PLO) ที่ตั้งฐานในเลบานอน กำเนิดกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ที่ต่อสู้กับอิสราเอล
1987–1993: การลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งที่ 1 (First Intifada) ชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาประท้วงการยึดครองของอิสราเอลด้วยการนัดหยุดงานและการประท้วงที่รุนแรง
1993–1995: ข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) ระหว่างอิสราเอล (นายกฯ อิตซัค ราแบน) และ PLO (ยัสเซอร์ อัล อาราฟัต) เพื่อสร้างสันติภาพ โดยจัดตั้งองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เปรียบเสมือนเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์ ที่มีอำนาจในพื้นที่บางส่วนของเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา
1994: สนธิสัญญาสันติภาพอิสราเอล-จอร์แดน เป็นชาติอาหรับที่สองที่ทำสันติภาพกับอิสราเอล
1995: อิตซัค ราแบนถูกลอบสังหารโดยชาวยิวยิวหัวรุนแรงที่ต่อต้านข้อตกลงออสโล กระบวนการสันติภาพเริ่มสะดุด
ปลายทศวรรษ 1990: การเจรจาสันติภาพล้มเหลว ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
3
2000–2005: การลุกฮือของปาเลสไตน์ครั้งที่ 2 (Second Intifada) เริ่มจากความตึงเครียดที่มัสยิดอัลอักซอ ความรุนแรงทวีคูณทั้งการโจมตีของปาเลสไตน์และการตอบโต้ของอิสราเอล
2002: อิสราเอลเริ่มสร้างกำแพงกั้นในเวสต์แบงก์ (West Bank Barrier) เพื่อป้องกันการโจมตีจากปาเลสไตน์
2005: อิสราเอลถอนทหารและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวออกจากฉนวนกาซา แต่ยังควบคุมน่านฟ้าและพรมแดน
2007: กลุ่มฮามาสยึดอำนาจในฉนวนกาซา ทำให้เกิดการแบ่งแยกการปกครองระหว่างฮามาสในฉนวนกาซา และ Palestinian Authority (PLO) ในเวสต์แบงก์
2012 และ 2014: ปฏิบัติการทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา ("Pillar of Defense" และ "Protective Edge") เพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยจรวดของฮามาส สร้างความสูญเสียรุนแรงในฉนวนกาซา
2018: การประท้วง "Great March of Return" ที่พรมแดนฉนวนกาซา นำไปสู่การปะทะที่รุนแรง
2020: ข้อตกลงอับราฮัม (Abraham Accords) อิสราเอลสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซูดาน และโมร็อกโก โดยการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ
2021: ความรุนแรงปะทุในเยรูซาเล็มตะวันออก นำไปสู่สงคราม 11 วันระหว่างอิสราเอลและฮามาส
7 ตุลาคม 2023: ฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ เริ่มต้นความขัดแย้งระลอกใหม่จนถึงปัจจุบัน
2024-ปัจจุบัย: ความขัดแย้งขยายวงไปยังประเทศรอบข้างทั้งเลบานอน ซีเรีย และอิหร่าน
2
อ้างอิง • Britannica. Israel summary. https://www.britannica.com/summary/Israel
• BBC. Israel and the Palestinians: History of the conflict explained. https://www.bbc.com/news/newsbeat-44124396
• Ducksters. Israel Timeline and History Overviews. https://www.ducksters.com/geography/country/israel_history_timeline.php
#HistofunDeluxe
โฆษณา