9 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

การเมืองกับภาษีทรัมป์อย่างไหนโหดกว่ากัน | บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

ชัดเจนที่สุดสำหรับข้อตกลงการค้าสหรัฐ-เวียดนาม ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันพุธ (2 ก.ค.) ตามเวลาวอชิงตันว่า สองประเทศตกลงกันได้แล้ว
สินค้าเวียดนามส่งออกมาสหรัฐจะต้องเสียภาษี 20% ส่วน สินค้าประเทศอื่นที่ส่งผ่านเวียดนามมายังสหรัฐต้องเสียภาษี 40% เวียดนามถือเป็นประเทศแรกที่ทำข้อตกลงการค้าหลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรเป็นการตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่เจ้าตัวเรียกว่า “วันปลดปล่อย” ก่อนระงับให้เป็นการชั่วคราว 90 วันในสัปดาห์ต่อมา
นั่นหมายความว่าสงครามภาษีทรัมป์กำลังใกล้เส้นตายเข้ามาทุกขณะ นานาประเทศต้องเร่งสรุปดีลให้ได้ เราอาจเคยได้ยินข่าวสหรัฐทำข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรไปแล้วตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. เรียกว่าข้อตกลงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจครอบคลุมเนื้อหาหลายเรื่อง ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นเคสพิเศษตรงที่เสียเปรียบดุลการค้าสหรัฐ และสองประเทศนี้ก็ผูกพันกันเป็นพิเศษ จะพูดจะจาอะไรคงไม่ยาก
หากจำกันได้หลายเดือนก่อนมีข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงฝากจดหมายมากับนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ เชิญประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 ด้วย ถือว่าให้เกียรติอย่างมาก
ส่วนสัปดาห์ก่อนสหรัฐทำข้อตกลงกับจีนได้เน้นเรื่องการส่งออกแร่ธาตุหายาก ซึ่งสำคัญมากสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐ แต่รายละเอียดมีว่าอย่างไรไม่ปรากฏ ข้อตกลงกับเวียดนามจึงเป็นครั้งแรกที่ชัดเจนที่สุด
หลังจากเพียรพยายามเจรจากันหลายครั้งผู้นำยกหูคุยโทรศัพท์กันหลายรอบ เวียดนามเองก็ยื่นข้อเสนอแบบเปิดให้สหรัฐสุดๆ ตั้งแต่ภาษี 46% ถูกประกาศออกมา เหมือนรู้ตัวว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าเรื่องสินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิ เนื่องจากในสงครามการค้ารอบแรกสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เวียดนามได้ประโยชน์อย่างมากกับการที่หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อเลี่ยงภาษี
ความแข็งขันของเวียดนามถูกนำมาเปรียบเทียบกับไทยตลอดเวลา แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่า จับตาสถานการณ์มาโดยตลอดและติดต่อกับฝ่ายสหรัฐอยู่เสมอ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาและสำคัญมากคือการเมืองภายในของไทย ความปั่นป่วนช่วง 2-3 สัปดาห์เกิดแรงกดดันถึงขั้นให้นายกรัฐมนตรีลาออกบ้าง ยุบสภาบ้าง ล่าสุดนายกฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
กรณีนี้แม้รัฐบาลยังคงอยู่แต่คาดว่าคงเสียสมาธิไปไม่น้อย กลายเป็นว่าประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการอย่างคอมมิวนิสต์เวียดนามการเมืองกลับนิ่งจนสามารถโฟกัสกับปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกได้มากกว่า ขณะที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยกลับเจอแรงกดดันจนเกือบถึงทางตัน ถึงบัดนี้ยังไม่รู้ว่าการเมืองไทยหรือภาษีทรัมป์อย่างไหนจะโหดกว่ากัน
โฆษณา