เมื่อวาน เวลา 14:04 • ความคิดเห็น

รีวิวชีวิตหลังอ่าน Fluke ครบ 1 ปี

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ทราบข่าวดีว่าหนังสือ Fluke ของ Brian Klaas ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ Sophia ในเครืออมรินทร์ ภายใต้ชื่อ 'FLUKE บังเอิญอย่างมีนัยสำคัญ' สำนวนแปลของคุณจิตติณี รองหานาม
เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นคนไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อันผันผวนของโลกเป็นอย่างยิ่ง
1
ผมได้อ่าน Fluke ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 และเขียนถึงหนังสือเล่มนี้สองเดือนต่อมา โดยยกให้ Fluke เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี
สำหรับผม หนังสือเปลี่ยนชีวิต คือหนังสือที่อ่านแล้วเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด และการกระทำของเราอย่างจับต้องได้ และบทเรียนต่างๆ จะกลับมาหาเราอยู่เรื่อยๆ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น Outlive, Four Thousand Weeks, The Psychology of Money หรือ Sapiens
3
Fluke ก็ทำงานอย่างนั้นกับผมเช่นกัน โดยหนังสือ Fluke จะมีความคล้าย Sapiens ตรงที่มันช่วยให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น แต่ไม่ได้บอกชัดๆ ว่าความรู้ที่ได้มันจะมีประโยชน์อะไรในเชิงปฏิบัติ (practical use) ต้องทอดเวลาให้ผ่านไปพอสมควรเราถึงจะประสบได้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ซึมซับจากหนังสือแบบนี้มันมีประโยชน์กับเรายังไง
Fluke เป็นหนังสือที่อ่านสนุก แต่ไม่ได้อ่านง่าย แถมการแปลเป็นไทยก็ไม่ง่าย แค่คำที่เป็นคีย์เวิร์ดอย่าง divergence กับ convergence ก็แปลยากมากแล้ว ฉบับภาษาไทยแปลคำว่า divergence เป็น "ดำเนินไปแบบไร้ทิศทาง" และแปล convergence ว่า "มีทิศทางที่จะบรรจบกันในท้ายสุด"
แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราใจเย็นๆ และค่อยๆ อ่าน เราจะได้รับคุณค่าบางอย่างที่จะติดตัวเราไปอย่างไม่ต้องสงสัย
และจากนี้ไปคือบางสิ่งที่ผมได้รับจากหนังสือ Fluke: Chance, Chaos and Why Everything We Do Matters ครับ
-----
Experiment More
คำนี้เป็นประโยคติดปากที่ผมพูดกับภรรยาเป็นประจำ และภรรยาก็ทำด้วยเหมือนกัน
ปกติผมเป็นคนที่ไม่ได้เสาะแสวงหาอะไร เป็นคนมีความสุขง่ายๆ กับเรื่องเดิมๆ มีร้านประจำไม่กี่ร้าน และพอไปร้านประจำก็จะสั่งแต่เมนูที่เราชอบ
แต่พออ่าน Fluke ก็เข้าใจว่า กว่าโลกของเราจะมาถึงปัจจุบันนี้ได้ มันผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยห้องทดลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือสิ่งที่เรียกว่าวิวัฒนาการ ที่ใช้หลักการ survival of the fittest ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ใครที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมกว่าก็ได้ไปต่อ จนเราวิวัฒนาการจากสัตว์เซลล์เดียวและกลายมาเป็นมนุษย์ที่ขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารได้
ดังนั้น ชีวิตเราจึงไม่ควรหยุดทดลอง โดยเฉพาะการทดลองที่มี limited downside เพราะมันจะเปิดโอกาสให้เราได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ และทำให้เรามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
ผมกับแฟนเลยเริ่มลองไปกินร้านใหม่ๆ หรือถ้าไปร้านเดิมก็จะลองสั่งเมนูที่ไม่เคยลอง
ไม่ใช่แค่เรื่องกิน แต่รวมถึงการเลือกอ่านหนังสือด้วย ปีที่แล้วผมอ่านนิยายจบไปสองเล่ม ปีนี้อีกสองเล่ม หลังจากที่ไม่ได้อ่านนิยายมาหลายปี ส่วนภรรยาก็ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำเช่นลงเรียนร้องเพลงและเรียนเปียโน
เรื่องการทำงาน ผมก็ลองขยับน้องในทีมให้ไปทำงานในตำแหน่งที่เขาไม่เคยลอง ทำให้เขาได้พบจุดแข็งใหม่ๆ และความเป็นไปได้อื่นในวิชาชีพของเขา
พอเรามีมายด์เซ็ตที่จะ experiement ไปเรื่อยๆ ข้อเสียคือบางครั้งทดลองแล้วไม่เวิร์ค แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการเรียนรู้และความมีชีวิตชีวา ซึ่งผมคิดว่าสำคัญเหมือนกันสำหรับคนที่มี routine เดิมๆ
1
-----
Don't Over-Optimize Your Life. Have Some Slack.
เราอาจบูชา productivity และ effectiveness มากเกินไปนิด พยายามที่จะ optimize ทุกอย่าง เพื่อไม่ให้มีอะไรที่มีมากเกินความจำเป็น
1
แต่ในโลกที่ผันผวนและ Fluke บางอย่างส่งผลกระทบแบบที่เราคาดไม่ถึง การมี "มากเกินไปหน่อย" ในบางเรื่องก็ถือว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท
ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Morgan Housel ในหนังสือ The Psychology of Money ว่าเขาเชื่อว่าเราควรมีเงินสดมากเกินจำเป็นไปอีกนิดนึง เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราจะได้ใช้เงินสดสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะได้ไม่ต้องไปขายหุ้นเพื่อเอาเงินมาใช้หรือแม้กระทั่งกู้หนี้ยืมสินใครเขา
โลกของเรา optimize ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในแง่นึงมันก็ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความเร็ว แต่ในอีกแง่มันก็เปราะบางมาก
ยกตัวอย่างวิกฤติเรือ Ever Given ของบริษัท Evergreen Marine
วันที่ 23 มีนาคม 2021 เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Ever Given ออกจากท่าเรือในจีนและมุ่งหน้าสู่เนเธอร์แลนด์ แต่ระหว่างที่แล่นผ่านคลองสุเอซก็เกิดลมแรงจนเรือสูญเสียการควบคุม หัวเรือไปเกยเข้ากับฝั่ง และกีดขวางเส้นทางของคลองสุเอซอยู่ 6 วัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 54,000 ล้านดอลลาร์
เรือแค่ลำเดียวไม่เคยสร้างความเสียหายระดับนี้ได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว และเหตุผลที่มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราได้ปรับแต่งโลกให้มีประสิทธิภาพเสียจนไม่มีพื้นที่ว่างให้ความยืดหยุ่นเลย
ปีที่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ Crowdstrike ที่ทำให้เครื่องจอฟ้าไปทั่วโลก ส่วนปีนี้ก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในโปรตุเกส สเปน และฝรั่งเศส ที่โกลาหลกันน่าดู เพราะระบบไฟฟ้าเชื่อมโยงถึงกันหมด ทำให้มี economy of scale แต่พอมีปัญหาก็สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง
1
ถ้าประเทศที่พัฒนาแล้วยังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ประเทศของเราก็มีโอกาสเจอเหตุการณ์ประมาณนี้ได้เช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้เลยก็เช่นการมีเงินสดติดตัวหรือติดบ้านไว้บ้าง เผื่อว่าวันหนึ่งระบบธนาคารมีปัญหา หรือมีวิทยุใส่ถ่านเอาไว้รับข่าวสารในวันที่อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้
ส่วนในเรื่องการทำงานหรือการใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ระวังอย่าใส่อะไรลงไปในตารางชีวิตจนเต็มเอี้ยด ควรจะมีเวลาอยู่เฉยๆ มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ มีพื้นที่ให้ปรับตัวเมื่อเกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราควรให้ความสำคัญกับ resiliency มากกว่า optimization
1
-----
ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด (โดยไม่ต้องใช้ศรัทธา)
ด้วยวัฒนธรรมตะวันออก เราได้ยินกันมานานว่าทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงกัน
แต่สำหรับผมที่ยังไม่ได้ภาวนาหรือมีประสบการณ์จน 'เห็น' ได้ด้วยตัวเอง คำว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันนั้นเป็นเพียงสิ่งที่เราจำมาจากตำราและครูบาอาจารย์ เราเข้าใจในเชิงทฤษฎี แต่มันก็เป็นเพียงสุตมยปัญญาที่เราจำเขามาเท่านั้น
ความเจ๋งของหนังสือ Fluke ก็คือมันทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งโดยไม่ต้องมีศรัทธาในพระคัมภีร์หรือพระเถระใดๆ สุตมยปัญญาจึงปรับระดับขึ้นมาเป็นจินตามยปัญญาหรือปัญญาที่เกิดจากการคิดและไตร่ตรองมาดีแล้ว
ในบทความ 'Fluke หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024' ผมเล่าว่าถ้าอุกกาบาตเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วมาถึงช้ากว่านี้แค่นาทีเดียว ไดโนเสาร์ก็อาจจะไม่สูญพันธุ์และเผ่าพันธุ์ Sapiens ก็น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
หรือการมาเที่ยวกันของคู่รักชาวอเมริกันในเมืองเกียวโต ทำให้ชาวเมืองเกียวโตนับแสนคนรอดชีวิตในอีก 19 ปีต่อมา แต่ชาวเมืองฮิโรชิม่ากับนางาซากิสองแสนกว่าคนต้องดับสูญ
1
เมืองไทยเป็นเมืองพุทธผสมพราหมณ์ เราจึงคุ้นเคยกันดีเรื่องของกฎแห่งกรรมและเจ้ากรรมนายเวร ที่เชื่อว่าหากเราเคยทำร้ายใครมา ถึงวันหนึ่งเราก็จะโดนเขาทำร้ายกลับด้วยเช่นกัน
3
แต่กฎแห่งกรรมที่เราคุ้นเคยมันคือการปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงของคนสองคนหรือคนกลุ่มหนึ่ง มีคู่กรณีที่พอจะจับต้องได้
แต่การตัดสินใจของ Henry L. Stimson ที่หลงรักเมืองเกียวโตเมื่อ 19 ปีที่แล้ว และขอให้ประธานาธิบดีทรูแมนถอดเกียวโตออกจากลิสต์เมืองเป้าหมายของระเบิดปรมาณู เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องกฎแห่งกรรมที่เราได้ยินได้ฟังกันมา เพราะนาย Stimson ไม่ได้มีความแค้นกับใครเลยในเมืองฮิโรชิม่าหรือนางาซากิ แต่การตัดสินใจของเขาที่จะเซฟเมืองเกียวโตก็ทำให้คนเกือบสองแสนในอีกสองเมืองนั้นกลายเป็นเถ้าถ่าน
2
ในหนังสือยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่บอกถึงความเชื่อมโยงกันและกันที่เราคาดไม่ถึงเช่นการปล่อยหมาป่า 31 ตัวเข้าไปใน Yellowstone National Park ในปี 1995 ทำให้กวางเอลก์ปรับพฤติกรรมการกิน จนต้นไม้ขึ้นได้อุดมสมบูรณ์ขึ้น แม่น้ำเปลี่ยนทิศ สัตว์ที่เคยหายไปจากป่านี้หวนกลับมา และระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ขึ้น
3
เมื่อได้อ่าน Fluke เราจะเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งโดยไม่ต้องอาศัยศรัทธาหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณใดๆ
1
-----
เราอาจได้รับโชคแห่งโคคุระมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
หลังจากปล่อยระเบิดที่ฮิโรชิม่าแล้ว เมืองเป้าหมายถัดไปคือโคคุระ แต่ปรากฎว่าตอนที่เครื่องบินปล่อยระเบิดไปถึงนั้นเมืองนี้มีเมฆบัง มองไม่เห็นเป้าหมายด้านล่าง นักบินจึงบินไปปล่อยระเบิดที่เมืองนางาซากิแทน
1
ชาวโคคุระไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าตัวเองเฉียดเส้นยาแดงผ่านแปดแค่ไหน เป็นความโชคดีที่เราไม่รู้ตัว จนเกิดคำสำนวนที่เรียกว่า 'โชคแห่งโคคุระ'
เมื่อมองยอนกลับไป เราอาจจะเคยพบประสบการณ์หวาดเสียว เกือบเจออุบัติเหตุและคลาดแคล้วไปนิดเดียว
แต่นั่นคือเฉพาะเหตุการณ์ที่เรารู้ตัวเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย แต่มันก็ทำให้รอดมาได้เหมือนชาวเมืองโคคุระ
เมื่อตระหนักได้เช่นนี้ เราจะไม่หงุดหงิดเวลาที่อะไรไม่เป็นไปดั่งใจ เช่นมีเหตุการณ์ทำให้การเดินทางของเราล่าช้า เราก็สามารถบอกตัวเองได้ว่า อ้อ มันอาจจะช่วยให้เรารอดพ้นจากเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ได้นะ
2
ลองมองไปทุกอุบัติเหตุหรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น หากคนที่เกี่ยวข้องออกจากบ้านช้าเพียงนิดเดียว หรือแวะกลางทางแค่แป๊บเดียว เขาก็อาจจะแคล้วคลาดไปแล้วก็ได้
-----
ทุกเรื่องดีและร้ายทำให้เราได้เป็นเราในวันนี้
Brian Klaas ผู้เขียนหนังสือบอกว่า เพราะการฆาตกรรมหมู่ของภรรยาคนแรกของคุณปู่ จึงทำให้เขาได้เกิดมา และได้รับประสบการณ์ทั้งหมดที่มีในชีวิต
เรื่องร้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเรา ทำให้เราเดินทางมาถึงจุดที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
และเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็ส่งผลให้เกิดเรื่องร้ายๆ ในอนาคตได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปลูกต้นไม้ในวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะมีเด็กคนหนึ่งปีนต้นไม้ต้นนี้และตกลงมาขาหักก็ได้
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราไม่ควรปลูกต้นไม้ เพราะความน่าจะเป็นก็คือต้นไม้ต้นนี้น่าจะสร้างประโยชน์มากกว่าโทษ เราไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าสิ่งที่เราทำจะก่อให้เกิดแต่สิ่งดีงาม แต่เราก็ควรเลือกทำสิ่งที่มีประโยชน์อยู่ดี
2
-----
เรามึความหมายกับใครบางคนเสมอ
ชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้คือ Fluke: Chance, Chaos, and Why Everything We Do Matters - โชคชะตา ความยุ่งเหยิง และเหตุผลที่ทุกสิ่งที่เราทำนั้นส่งผลกระทบกับอะไรบางอย่างเสมอ
นักท่องเที่ยวชาวมาซิโดเนียเหนือชื่อ 'อีวาน' ถูกกระแสน้ำพัดออกไปจากชายฝั่ง
เพื่อนๆ ของเขารีบแจ้งหน่วยยามฝั่ง แต่การค้นหาล้มเหลว อีวานถูกประกาศว่าสูญหายในทะเลและถูกสันนิษฐานว่าอาจเสียชีวิต
แต่อีก 18 ชั่วโมงต่อมา อีวานก็ถูกพบตัว และยังมีชีวิตอยู่!
ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก่อนที่อีวานจะจมลงสู่พื้นบาดาล เขาเห็นลูกฟุตบอลลูกเล็กๆ กำลังลอยอยู่ไกลๆ เขาใช้แรงทั้งหมดที่เหลืออยู่ว่ายไปหาบอลลูกนั้น และเกาะมันไว้ทั้งคืนจนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือ
เมื่อเรื่องราวการรอดชีวิตของอีวานกลายเป็นข่าวในกรีซ ผู้หญิงคนหนึ่งถึงกับช็อก เพราะเธอจำลูกบอลที่ช่วยชีวิตอีวานได้
มันคือลูกบอลที่ลูกชายทั้งสองของเธอเล่นกันเมื่อ 10 วันก่อนหน้านี้และเตะพลาดตกลงไปในทะเล
ลูกบอลได้ลอยละล่องในท้องทะเลเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตรจนมาพบกับอีวานที่กำลังจะจมน้ำพอดิบพอดี
เด็กชายทั้งสองไม่ได้คิดอะไรมากกับลูกบอลที่หายไป พวกเขาก็แค่ซื้อบอลลูกใหม่
กว่าจะได้มารู้ในภายหลังว่า หากไม่ใช่เพราะการเตะบอลพลาดครั้งนั้น อีวานก็คงไม่รอดชีวิต
1
เราทุกคนเป็นเหมือนก้อนหินที่ตกน้ำ หินทุกก้อนย่อมสร้างแรงกระเพื่อมออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าเราพูดและทำดีกับลูกเราในวันนี้ ลูกของเราก็จะพูดดีและทำดีกับลูกกับหลานของเขา คำพูดของเราไม่ได้มีผลแค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่จะส่งผลไปถึงคนที่เราไม่มีวันได้เจออีกมากมายหลายร้อยหลายพันชีวิต
ประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนใช้บ่อยๆ คือ We control nothing, but we influence evrything. เราควบคุมอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่เราส่งผลกับทุกสิ่งทุกอย่าง
2
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมองว่าตัวเองตัวเล็กแค่ไหน งานที่เราทำดูเล็กน้อยแค่ไหน ขอให้มั่นใจเถอะว่าการมีอยู่ของเรานั้นทำโลกนี้ไม่เหมือนเดิม
-----
เราคืออุบัติเหตุของจักรวาล
เวลาเกิดสิ่งดีๆ เรามักจะบอกว่าเราโชคดี แต่พอเกิดเรื่องราวร้ายๆ เรามักจะมองหาเหตุผลหรือความหมายว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา จนมีคำพูดที่ว่า Everything happens for a reason.
แต่ Klaas มองว่า Not everthing happens for a reason. Things just happen.
1
ซึ่งใกล้เคียงกับคอนเซ็ปต์ "มันเป็นเช่นนั้นเอง" หรือ "ตถตา" ของท่านพุทธทาส
ไม่ได้บอกว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป ทุกสิ่งมีที่มาที่ไปเสมอตามหลักอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้จึงเกิดสิ่งนี้ เพียงแต่มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์
1
เอาเข้าจริง Klaas เชื่อในทฤษฎี Determinism หรือนิยัตินิยม ที่เชื่อว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วโดยเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งถ้ามองกันแบบสุดทางเลยก็คือ การที่คุณมานั่งอ่านบทความผมอยู่ตรงนี้มันถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่บิ๊กแบงแล้ว
1
[ถ้าอยากเข้าใจนิยัตินิยมมากขึ้น แนะนำให้อ่านงานของ Robert Sapolsky เช่นเรื่อง Behave ที่สำนักพิมพ์ Sophia เพิ่งเอามาแปลเช่นกัน และมีเล่มภาคต่อที่ยังไม่ได้แปลคือ Determined จากนักเขียนคนเดียวกัน]
ดังนั้น ถ้าวางความรู้จากพระคัมภีร์ลง การที่มนุษย์ได้เกิดมาอาจไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย
แต่การที่ชีวิตไม่มีความหมาย ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีคุณค่า
1
ตรงกันข้าม การที่เราได้เกิดมา นับเป็นลูกฟลุกซ้อนลูกฟลุกนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าพ่อแม่ของเราไม่ได้เจอกัน รวมถึงบรรพบุรุษของเราตลอดทั้งสายไม่ได้มาพบกันตามจังหวะและเวลาเช่นนั้นเป๊ะๆ เราย่อมไม่ได้เกิดมา
4
ซึ่งนั่นก็รวมถึงการเกิดของลูกเราด้วย ถ้าสเปิร์มอีกตัวเจาะรังไข่ได้สำเร็จก่อนเพียงเสี้ยววินาที เด็กที่เกิดมาก็จะเป็นเด็กอีกคนที่ไม่ใช่ลูกของเราคนปัจจุบัน
การที่เราได้มีโอกาสมีชีวิตและได้รับประสบการณ์ต่างๆ ได้กินของอร่อย ได้ทำงานที่รัก ได้ท่องเที่ยว ได้หัวเราะ ต้องนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เพราะเพียงย้อนกลับไปแก้ไขอะไรเพียงนิดเดียว ทุกอย่างอาจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
1
ในเมื่อเราเป็นอุบัติเหตุของจักรวาล - We are a cosmic fluke. - สิ่งเดียวที่เราทำได้คือใช้สิทธิ์นี้ให้คุ้มค่า ใช้ชีวิตให้เต็มที่ ให้สมฐานะความมหัศจรรย์ทุกอย่างที่ทำให้เราได้เป็นเราอย่างทุกวันนี้ครับ
3
โฆษณา