9 ก.ค. เวลา 14:00 • สิ่งแวดล้อม

'น้ำท่วมเท็กซัส’ ผลพวงจากโลกร้อน ทำให้ฝนตกหนัก คพยากรณ์ยาก เกิดบ่อยและรุนแรงกว่าเดิม

น้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ทางตอนกลางของรัสเท็กซัส ในสหรัฐ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 ราย ยังคงสูญหายอีกหลายสิบราย และชุมชนบางส่วนยังจมอยู่ใต้น้ำ โดยเจ้าหน้าที่เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น “อุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี”
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือเด็ก ๆ ที่ไปค่ายฤดูร้อนริมฝั่งแม่น้ำกัวดาลูเป ที่ระดับน้ำขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนรุ่งสางโดยแทบไม่มีการเตือนล่วงหน้า ทำให้เด็ก ๆ อย่างน้อย 10 คนและผู้ดูแลยังคงสูญหาย
ภาคกลางของรัฐเท็กซัส ถูกขนานนามว่าเป็น “พื้นที่น้ำท่วมฉับพลัน” เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่ลาดชัน ความชื้นในเขตร้อน และพายุที่เคลื่อนตัวช้า โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม แต่นักอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ปรกติ
ตามรายงานของบริษัทพยากรณ์อากาศ AccuWeather ระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกในสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่าปรกติ เมื่อวันศุกร์ที่เมืองเคอร์วิลล์ มีฝนตกมากกว่า 25 ซม. ในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ส่วนในวันศุกร์พายุทำให้เมืองออสตินมีฝนตกหนักเกือบ 35 ซม. ในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง
ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในเมืองฮันท์ แม่น้ำกัวดาลูเปเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 2 เมตรเป็นเกือบ 9 เมตร ซึ่งถือเป็นระดับน้ำสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (NWS)
แอนดรูว์ เดสสเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศและผู้อำนวยการศูนย์สภาพอากาศเลวร้ายแห่งเท็กซัสแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม กล่าวว่า สาเหตุหลักของฝนตกหนักมาจากอากาศที่อุ่นขึ้น เนื่องจากอากาศอุ่นสามารถกักเก็บน้ำไว้มากขึ้น ดังนั้น เมื่ออากาศชื้นอุ่น ๆ เหล่านี้ไหลเข้าไปในพายุ และเริ่มลอยขึ้นเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง น้ำทั้งหมดก็จะถูกบีบออก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อ่าวเม็กซิโกซึ่งอยู่ติดกับรัฐเท็กซัสมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้มีน้ำที่อุ่นขึ้นมาก ทำให้เกิดการระเหยจำนวนมาก ปล่อยความชื้นจากเขตร้อนสู่บรรยากาศมากกว่าที่เคยพบเห็นในอดีต
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงส่งผลต่อรูปแบบสภาพอากาศ อาจทำให้พายุที่รุนแรงในระดับ 100 ปีมีครั้ง มีบ่อยขึ้นจนกลายเป็นทุก 10 ปี ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศให้ดียิ่งขึ้น
โฆษณา