13 ก.ค. เวลา 00:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คืออะไร? ลดหย่อนภาษีได้แค่ไหน? แล้วถ้าออกจากงานจะมีทางเลือกยังไงบ้าง?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund – PVD) เป็นสวัสดิการที่ดีที่นายจ้างจัดให้กับลูกจ้างประจำ เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและใช้เป็นเงินเกษียณในอนาคต
การเข้าร่วม PVD จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะมีนะ
✅ สมัครเข้า PVD แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
• พนักงานจะเลือกได้ว่าให้หักเงินเดือนกี่ % เข้า PVD (สูงสุดไม่เกิน 15%)
• นายจ้างจะสมทบเงินเพิ่มเข้าไปให้ตามเงื่อนไขบริษัท เช่น ออม 4% นายจ้างสมทบอีก 4% เหมือนได้เงินเพิ่มโดยอัตโนมัติเลย
• บลจ. จะนำเงินไปลงทุนตามแผนที่เราเลือก เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ฯลฯ
💼 เงินใน PVD แบ่งออกเป็น 4 ส่วน:
1. เงินสะสม: เงินที่เราหักจากเงินเดือนเข้าไปทุกเดือน
2. ผลประโยชน์ของเงินสะสม: ดอกผลหรือกำไรที่เกิดจากเงินสะสม
3. เงินสมทบ: เงินที่นายจ้างสมทบให้
4. ผลประโยชน์ของเงินสมทบ: กำไรที่เกิดจากเงินสมทบ
เราจะเห็นทั้ง 4 ส่วนนี้แยกชัดเจนในใบรายงานกองทุนที่ส่งมาให้ทุกปี
✨ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
• ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะ “เงินสะสม” ไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อนับรวมกับ RMF + ประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท/ปี
• เป็นการออมแบบ DCA หักเงินทุกเดือนโดยอัตโนมัติ หักตาม % ของเงินเดือนที่แจ้งความประสงค์ไว้ มีวินัยการเงิน และนายจ้างยังช่วยออมเพิ่มให้ด้วย
📌 3 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ PVD
1. แผนการลงทุนเลือกได้
หลายบริษัทมีแผนลงทุนหลากหลาย เช่น
• แผนตราสารหนี้เน้นความปลอดภัย
• แผนผสมที่มีหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรืออสังหาริมทรัพย์
เราสามารถเปลี่ยนแผนได้ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
ถ้าใครเริ่มศึกษาการลงทุน ลองนำแผนต่างๆ ของ PVD มาศึกษาและลองเลือกแผนที่เหมาะกับตนเองนะ
2. ภาษีตอนออกจาก PVD ขึ้นกับเงื่อนไข
ยกเว้นภาษี ถ้า
• ออกจากงาน + ออกจาก PVD ตอนอายุ ครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกมา ≥ 5 ปี
• หรือ เสียชีวิต / ทุพพลภาพ
ต้องเสียภาษี ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น โดยคำนวณจาก
• ผลประโยชน์ของเงินสะสม
• เงินสมทบ
• ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
(แต่ “เงินสะสม” ที่เราจ่ายเอง ไม่ต้องเสียภาษีนะ)
🧭 ถ้า “ลาออกจากงาน” แล้วต้องการเก็บไว้้เพื่อเกษียณต่อ มีทางเลือกอะไรบ้าง?
1. คงเงินไว้ในกองทุนเดิม
o ไม่ต้องส่งเงินเพิ่ม
o เสียค่าธรรมเนียมคงเงินประมาณ 500 บ./ปี
o ยังได้ดอกผลจากการลงทุนตามแผนเดิม
2. โอนไป PVD/กบข. ที่ใหม่
o ถ้าที่ทำงานใหม่มี PVD
o หรือถ้าย้ายไปเป็นข้าราชการ โอนไป กบข. ได้
3. โอนเข้า RMF for PVD
o เป็น RMF ประเภทพิเศษสำหรับรับโอนย้ายจาก PVD
o เงินนี้ ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก
o ต้องถือจนอายุครบ 55 ปี และรวมระยะเวลา PVD+RMF ≥ 5 ปี ถึงจะไม่เสียภาษี
o สามารถเปลี่ยนกอง RMF ได้ภายในกลุ่ม RMF for PVD
🎯 ย้ำอีกครั้ง: ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะ “เงินสะสม” ที่เราจ่ายในปีนั้น
เช่น ถ้าจ่ายเข้า PVD ปีละ 80,000 บาท เราสามารถนำยอดนี้ไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนตามเกณฑ์
และผลประโยชน์ทางภาษีตรงนี้พี่สรรพากรไม่ทวงคืน ถ้าเป็น RMF ถ้าผิดเงื่อนไขบางกรณี ผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้ลดหย่อนมาต้องคืนเงินให้พี่สรรพากรด้วย.
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเก็บเงินเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือน ช่วยออมแบบมีวินัย ได้สิทธิลดหย่อนภาษี และยังมีนายจ้างช่วยออมให้อีกด้วย
แต่อย่าลืมว่า…เราควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจ และเลือกแผนลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง เพื่ออนาคตที่มั่นคงในวัยเกษียณนะ🌱
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #PVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #ลดหย่อนภาษี #มนุษย์เงินเดือน
โฆษณา