14 ก.ค. เวลา 05:22 • ประวัติศาสตร์

“เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks)” เรื่องจริงของผู้หญิงที่ถูกโลกขโมยร่างกายและศักดิ์ศรี

เซลล์ของเธอยังมีชีวิตอยู่แม้เธอจะตายไปนานแล้ว
คุณอาจไม่รู้จักชื่อของเธอ แต่ถ้าคุณเคยฉีดวัคซีน เคยใช้ยารักษาโรคมะเร็ง เคยได้ยินคำว่า “เซลล์อมตะ” นั่นก็มาจากเธอทั้งสิ้น
เธอชื่อ “เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks)”
เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks)
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) ที่บัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา
ชีวิตของหญิงสาวผิวดำชื่อ “เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks)” กำลังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่อยู่ๆ วันหนึ่ง เฮนเรียตตาเริ่มรู้สึกปวดท้องอย่างผิดปกติ มีเลือดออกไม่หยุด และตัดสินใจเดินทางไปที่โรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) ซึ่งในเวลานั้น เป็นโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในสหรัฐอเมริกาที่ยอมรักษาคนผิวดำ
หลังจากตรวจร่างกาย แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเฮนเรียตตาเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม โดยการรักษาในเวลานั้น ก็คือการฉายรังสีและการผ่าตัดแบบหยาบๆ
แต่สิ่งที่เฮนเรียตตาไม่รู้เลยก็คือ แพทย์ได้ทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนของเธอออกมา และเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการขออนุญาต
1
ในเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามที่จะเพาะเลี้ยงเซลล์มนุษย์ในหลอดทดลองเพื่อใช้ในการทดลองรักษาโรค ผลิตยาและวัคซีน แต่เซลล์ที่นำมาเลี้ยงก็มักจะตายภายในไม่กี่วัน ล้มเหลวมาตลอด
แต่เซลล์ของเฮนเรียตตากลับไม่เป็นเช่นนั้น มันแบ่งตัวไม่หยุด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เหมือนเซลล์ของคนอื่น
ทีมแพทย์ตั้งชื่อมันว่า “HeLa” ซึ่งมาจากชื่อย่อของเฮนเรียตตา และไม่มีใครบอกครอบครัวของเธอหรือขออนุญาตอย่างถูกต้อง
หลังจากนั้นไม่นาน เซลล์ HeLa ได้กลายเป็นของขวัญจากฟ้าสำหรับวงการแพทย์ มันถูกนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโปลิโอ ช่วยในการวิจัยมะเร็ง เอดส์ ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโควิด-19 และยังใช้ในการทดสอบผลของยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัด และการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญของการศึกษายีน ดีเอ็นเอ และพันธุกรรมมนุษย์
1
เซลล์ของเฮนเรียตตากลายเป็น “สินค้าชีวภาพ” ที่มีมูลค่ามหาศาล
เซลล์ของเฮนเรียตตาได้ถูกแบ่งขายให้ห้องทดลองทั่วโลก
เธอกลายเป็น “ทรัพย์สินทางชีวภาพ” โดยที่เธอไม่รู้ ไม่ยินยอม และไม่เคยได้รับผลตอบแทนอะไรเลย
1
เฮนเรียตตา เป็นหญิงสาวผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน เธอเกิดในครอบครัวชาวนาในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) และเติบโตในยุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง
เฮนเรียตตาได้แต่งงานและมีบุตรห้าคน ใช้ชีวิตธรรมดา ทำงานในฟาร์มยาสูบ ก่อนจะเสียชีวิตในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) ด้วยวัยเพียง 31 ปี และไม่มีใครในครอบครัวรู้เลยว่าร่างของเธอยังถูกใช้งานต่อ
ครอบครัวของเฮนเรียตตามีชีวิตอย่างยากลำบากมาตลอด ไม่มีใครในครอบครัวที่มีสิทธิ์เข้าถึงประกันสุขภาพดีๆ หรือได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม ในขณะที่เซลล์ของแม่ของพวกเขา ได้กลายเป็น “ขุมทรัพย์ของวงการแพทย์”
1
ลูกของเฮนเรียตตาได้เคยให้สัมภาษณ์ และกล่าวประโยคหนึ่งที่น่าสะเทือนใจ
“แม่ของเราช่วยโลกทั้งใบ แต่เรายังซื้อยาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ”
2
สิ่งที่เฮนเรียตตาพบเจอ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงเรื่องสิทธิทางชีวภาพ และเกิดข้อถกเถียงหลากหลาย เช่น คนควรมีสิทธิ์ในเนื้อเยื่อตัวเองหรือไม่? ห้องแล็บมีสิทธิ์เก็บและใช้ร่างกายของผู้ป่วยโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่? ถ้าการค้นพบนั้นช่วยโลกได้ แล้วยังไง? แล้วมันสมควรหรือยังไง?
1
คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบตายตัว
แต่กรณีของเฮนเรียตตา ก็ทำให้วงการแพทย์ต้องหยุดคิดว่าความก้าวหน้าที่ไม่มีจริยธรรม จะนับว่าเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่?
ในปีค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) นักเขียนชาวอเมริกันชื่อ “รีเบ็คก้า สกลัต (Rebecca Skloot)“ ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “The Immortal Life of Henrietta Lacks”และเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ ทำให้ชื่อและเรื่องราวของเฮนเรียตตาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เรื่องราวของเฮนเรียตตาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) ในชื่อเรื่อง “The Immortal Life of Henrietta Lacks“ โดยมีพิธีกรชื่อดังอย่าง “โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey)” ร่วมแสดงและเป็นผู้อำนวยการผลิต
1
ในปีค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) 69 ปีหลังเฮนเรียตตาเสียชีวิต ครอบครัวของเฮนเรียตตาได้ยื่นฟ้องบริษัทต่างๆ ฐานใช้เซลล์ของเฮนเรียตตาโดยมิชอบ และในปีค.ศ.2023 (พ.ศ.2566) บริษัทแห่งหนึ่งชื่อ “Thermo Fisher Scientific” ได้ยอมจ่ายเงินให้ครอบครัวของเธอเป็นเงินจำนวนหนึ่ง หากแต่ไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินที่จ่าย
สุดท้ายนี้ ผมคงต้องขอสรุปว่า “เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks)“ คือมนุษย์ธรรมดาที่กลายเป็นรากฐานของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์
เซลล์ของเธอยังแบ่งตัวอยู่ในห้องทดลองทั่วโลก เธออาจไม่ได้มีหลุมศพหรูหราหรือได้รับรางวัลโนเบล แต่ชื่อของเธอคือ “ชีวิตจริง” ของวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์เคยลืมขอบคุณ
เธอไม่เคยตั้งใจจะเป็นผู้ให้
แต่เธอกลายเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์
เธอไม่ใช่แค่วัตถุทดลอง ไม่ใช่ชื่อในตำราวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ตัวแปรในสูตรทดลอง
เธอคือแม่ของลูก 5 คน คือหญิงสาวผู้ถูกลืม
1
และที่สำคัญ เธอคือ “ชีวิต” ที่โลกควรขอบคุณ
1
โฆษณา