14 ก.ค. เวลา 07:30 • การเมือง

เดิมพันของฮุนเซน: เหตุใดอดีตผู้นำกัมพูชาจึงหันหลังให้ทักษิณ พันธมิตรเก่า

  • สายสัมพันธ์ 30 ปีที่แน่นแฟ้นระหว่างทักษิณกับฮุน เซนเริ่มสั่นคลอน หลังฮุน เซนเผยคลิปเสียงโทรศัพท์ลับกับแพทองธาร พร้อมกล่าวหาทักษิณว่าแกล้งป่วย รวมทั้งล่าสุดยังระบุว่าทักษิณหักหลังคนในชาติด้วย
1
  • นักวิเคราะห์มองว่ามีหลายเหตุผลที่อาจนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะเหตุปะทะบริเวณพื้นที่พิพาทที่ปลุกกระแสชาตินิยมทั้งสองฝั่ง ซึ่งฮุน เซนอาจมองความสัมพันธ์กับทักษิณว่าเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจในระดับชาติ
  • ความเป็นไปได้อีกเรื่องหนึ่ง คือฮุนเซน ตั้งใจจะใช้กลยุทธ์นี้เป็นเดิมพันครั้งสุดท้าย ก่อนอำลาบทบาทผู้นำเต็มตัว โดยหวังจะปิดเกมข้อพิพาทชายแดนกับไทย เพื่อสร้างมรดกทางการเมืองให้กับตนเองลูกชายและระบอบที่เขาสร้างขึ้น
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์นิคเคอิ เอเชีย วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ ถึงเหตุผลที่ ฮุน เซน ตัดสินใจหันหลังให้แก่พันธมิตรเก่าแก่อย่างทักษิณ จนส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองในประเทศไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พักงานน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองสั่นคลอน โดยคำสั่งศาลมีขึ้นจาก หลักฐานคลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างฮุน เซน และน.ส.แพทองธาร ที่หลุดออกมา พร้อมข้อกล่าวหาเรื่องจริยธรรม
ความสัมพันธ์ระหว่างฮุน เซน กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พ่อของน.ส.แพทองธาร ถือว่ามีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากบทสนทนานาน 17 นาที น.ส.แพทองธารเรียกฮุน เซน ว่าลุง และแสดงท่าทีอ่อนน้อมหลายครั้ง รวมถึงพูดว่า "หากท่านต้องการสิ่งใด บอกดิฉันได้เลยค่ะ" และยังกล่าวถึงผู้บัญชาการทหารบกของไทยว่าเป็น "ฝั่งตรงข้าม"
1
คำพูดเหล่านี้กลายเป็นประเด็นร้อนในประเทศไทย โดยมีสมาชิกวุฒิสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมบ่อนทำลายผลประโยชน์ของชาติ หากศาลตัดสินว่าผิดจริง น.ส.แพทองธารอาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้มากที่สุด อาจไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก ทักษิณ ชินวัตร เอง
2
และล่าสุดฮุน เซนเพิ่งจะโพสต์ข้อความโจมตีทักษิณอีก โดนระบุว่าเขาไม่รู้สึกแปลกใจใด ๆ กับการหักหลังของทักษิณ เพราะถ้าทักษิณสามารถหักหลังประเทศของตนเองได้ การหักหลังคนต่างชาติอย่างเขาก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พร้อมย้ำว่าทักษิณไม่ควรลืมว่าตัวเองเคยพูดอะไรไว้บ้าง และเคยขอคำปรึกษาจากเขาในเรื่องใดบ้าง
ทักษิณถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และอยู่ในความขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ข้าราชการ หรือกลุ่มนิยมเจ้า แต่ในปี 2566 เขาสามารถกลับประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขที่สร้างความคลางแคลงใจ ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคสายทหาร
1
แม้จะมีแรงเสียดทานภายใน แต่ทักษิณก็สามารถผลักดันให้บุตรสาวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังมีบทบาทเบื้องหลังอย่างเข้มข้น จนได้รับฉายาว่าเป็นนายกเงา
1
อย่างไรก็ตาม ความฝันของทักษิณในการปั้นน.ส.แพทองธารเป็นหน้าเป็นตาของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2570 กำลังเผชิญความเสี่ยง เมื่ออนาคตของเธอแขวนอยู่บนคำตัดสินของศาล ขณะที่ตัวทักษิณเองก็ถูกจับตามองอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบันฯ ในอดีต หรือ ข้อสงสัยว่าแกล้งป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุก หลังจากกลับประเทศไทยเมื่อปี 2566 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของฮุน เซน
1
แรงกดดันยิ่งทวีคูณเมื่อฮุน เซน กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน โดยเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการที่เขาเคย เดินทางไปเยี่ยมทักษิณที่บ้านในกรุงเทพฯ หลังได้รับการปล่อยตัวแบบมีทัณฑ์บนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และกล่าวหาว่าทักษิณหลอกลวงทั้งประชาชนไทยและศาลรัฐธรรมนูญ
1
โดยระบุว่าทักษิณไม่ได้ป่วยจริง และเผยว่าตอนที่ต้องถ่ายรูป เขาขออุปกรณ์ประกอบฉากเฝือกคอ เฝือกแขน เพื่อให้ดูเหมือนป่วย แต่พอถ่ายรูปเสร็จ เขาก็ถอดออกแล้วไปกินข้าว นั่นคือการแสดง
ฮุน เซน มักพูดถึงมิตรภาพ 30 ปี ระหว่างเขากับทักษิณ ซึ่งย้อนไปถึงช่วงปี 2537 เมื่อทักษิณเริ่มเข้าสู่เวทีการเมือง และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองถูกเชื่อมโยงผ่านผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
1
สำหรับฮุน เซน แล้ว พลเอกชวลิตไม่ได้เป็นแค่ผู้นำทางการเมือง แต่ยังเป็น ผู้มีพระคุณ เมื่อรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นสู่อำนาจในปี 2531 ได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยน "อินโดจีนจากสนามรบสู่ตลาดการค้า" ภายใต้นโยบายนี้ ไทยวางตัวเป็น ตัวกลางในการไกล่เกลี่ยสงครามกลางเมืองในกัมพูชา โดยพลเอกชวลิตในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกและต่อมาเป็นรองนายกฯ กับ รมว.กลาโหม มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ ร่วมกับพันธมิตรนานาชาติอย่างญี่ปุ่น
ไทยในช่วงนั้นเป็นประตูเชื่อมโลกให้กับฮุน เซน ซึ่งในขณะนั้นยังถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพของไทยช่วยให้ฮุน เซนพากัมพูชาหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ
ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับนายทักษิณ พลเอกชวลิตคือ ผู้ชี้ช่องทางทางการเมืองให้ เมื่อครั้งพลเอกชวลิตเป็นนายกฯ ในปี 2539 ก็แต่งตั้งทักษิณเป็นรองนายกฯ และเมื่อทักษิณขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2544 พลเอกชวลิตก็กลับมาเป็นรองนายกฯ อีกครั้ง แม้หลังรัฐประหารปี 2549 ทั้งสองยังคงมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น โดยในปี 2552 พลเอกชวลิตเข้าร่วมพรรคเพื่อไทย และพยายามเป็นคนกลางในการประสานระหว่างฝ่ายทักษิณกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม แม้ความพยายามนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ
1
พลเอกชวลิตยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับฮุน เซน โดยในปี 2544 หลังทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่ง ไทยและกัมพูชาตกลงที่จะพักข้อพิพาทเขตแดนทางทะเล และร่วมกันพัฒนาทรัพยากรใต้ทะเล แม้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักหลังรัฐประหารปี 2549 ความสัมพันธ์ส่วนตัวยังคงดำเนินต่อ
ในปี 2552 ระหว่างที่ทักษิณลี้ภัย ฮุน เซนแต่งตั้งเขาเป็น ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ความสัมพันธ์ยิ่งลึกซึ้งขึ้นในปี 2556 เมื่อหลานสาวของทักษิณแต่งงานกับบุตรชายของผู้ช่วยใกล้ชิดของฮุน เซน และในปี 2560 ฮุน เซนก็มีบทบาทสำคัญในการจัดเส้นทางหลบหนีออกนอกประเทศให้กับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังเธอหลบหนีคำพิพากษาคดีจำนำข้าวในปี 2557
แล้วอะไรทำให้ฮุน เซนตัดสินใจ "หักหลัง" พันธมิตรเก่าแก่อย่างทักษิณ
แม้จะมีหลายทฤษฎี แต่ไม่มีเหตุผลใดที่ดูน่าเชื่อถืออย่างสมบูรณ์ หนึ่งในคำอธิบายที่ฮุน เซนพูดเองคือ เขารู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง ที่แพทองธารตำหนิเขาผ่านสื่อโซเชียลว่าการแสดงความเห็นเรื่องชายแดนเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมแต่เหตุผลนี้ดูเหมือนเป็นข้ออ้างที่เบาบางเกินไปสำหรับการแตกหักที่รุนแรงเช่นนี้
อีกแนวคิดหนึ่งระบุว่า ฮุน เซนอาจกำลัง ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในประเทศ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่น่าเป็นไปได้มากนัก เพราะเขาได้โอนอำนาจอย่างเป็นทางการให้กับบุตรชาย ฮุน มาเนต แล้ว และยังคงควบคุมพรรคประชาชนกัมพูชาอย่างเหนียวแน่น
อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจมาจาก สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยในฝรั่งเศส เขาให้ความเห็นว่า ฮุน เซนอาจรู้สึกไม่พอใจที่ทางการไทยเริ่มปราบปรามเครือข่ายเว็บพนัน-แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน ตามแนวชายแดน ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นแหล่งเงินทุนลับสำคัญของรัฐบาลพนมเปญชุดปัจจุบัน หากเป็นเหตุผลนี้จริงการตัดสัมพันธ์กับทักษิณอาจไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ได้ผล เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวยังสามารถใช้เป็นช่องทางประสานผลประโยชน์เบื้องหลังได้มากกว่า
1
ศาสตราจารย์ฮิโรชิ ยามาดะ จากมหาวิทยาลัยนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองกัมพูชา ให้ความเห็นว่า ฮุน เซนอาจตัดสินใจแล้วว่า เขาจะเป็นผู้คลี่คลายข้อพิพาทชายแดนกัมพูชากับไทยให้ได้ก่อนหมดอำนาจ
ประเด็นนี้โยงกับปัญหาเชิงประวัติศาสตร์ของชายแดนไทย-กัมพูชาที่ยาวถึง 817 กิโลเมตร โดยไทยและกัมพูชาใช้แผนที่คนละฉบับในการแบ่งเขตแดน คือไทยใช้แผนที่ 1:50,000 ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่ 1:200,000 ทำให้มีข้อพิพาทในหลายพื้นที่ ปัจจุบันยังมีพื้นที่กว่า 195 กิโลเมตรที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้
1
ปราสาทพระวิหาร กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความขัดแย้งนี้ แม้ศาลโลกจะตัดสินให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทในปี 2505 และยืนยันอีกครั้งในปี 2556 แต่ก็ยังไม่สามารถวินิจฉัยพื้นที่โดยรอบปราสาทได้อย่างชัดเจน
2
เหตุปะทะเมื่อปี 2554 ซึ่งนำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลโลกในปี 2556 ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสถานการณ์ตึงเครียดถึงขั้นที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนพิจารณาส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปพื้นที่ขัดแย้ง จนกระทั่งการเลือกตั้งในไทยปี 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง ความตึงเครียดจึงคลี่คลายลง
แต่ในมุมของฮุน เซน หากเขาเชื่อว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวกับทักษิณกลายเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจที่เด็ดขาดในการปิดเกมเขตแดน เขาอาจเห็นว่าการตัดสัมพันธ์คือสิ่งที่จำเป็น
ฮุน เซนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่นำพากัมพูชาออกจากยุคเขมรแดง สงครามกลางเมือง และนำประเทศสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หลังอยู่ในอำนาจมา 38 ปี เขาได้ส่งต่อเก้าอี้ผู้นำให้กับลูกชาย และยังคงกุมอำนาจในเงาอย่างมั่นคง
1
อย่างไรก็ตาม ยังมีภารกิจสำคัญ ที่เขายังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ นั่นคือการแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนที่ยืดเยื้อกับไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของประเทศ หากวิเคราะห์ตามแนวคิดของยามาดะ การแตกหักกับทักษิณอาจไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่ววูบ แต่อาจเป็นบทสรุปสุดท้าย ที่ฮุน เซนตั้งใจจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองกัมพูชา
อดีตผู้นำกัมพูชาผู้นี้กำลังจะมีอายุครบ 73 ปีในเดือนหน้า การตัดสัมพันธ์กับพันธมิตรที่รู้ใจมากว่า 30 ปี อาจเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ เพื่อเป้าหมายเดียวคือสร้างมรดกทางการเมืองด้วยการปิดฉากข้อพิพาทพรมแดนอย่างถาวร.
1
ที่มา : nikkeiasia , straitstimes
โฆษณา