14 ก.ค. เวลา 09:50 • ข่าวรอบโลก

ช่วงเวลาหวานชื่นกำลังจบลงแล้ว? ทรัมป์กลับลำโดยมีวาระซ่อนเร้น?

ยังไม่ชัดเจนว่า “ทรัมป์” จะใช้แรงกดดันหรือไม้ไหนที่อาจทำให้ “ปูติน” ต้องคิดหนักได้จริงหรือไม่ และนั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาในตอนนี้
ในที่สุด “ทรัมป์” ก็ยอมรับแล้วว่า “ปูติน” ไม่ได้สนใจการเจรจาสันติภาพอย่างจริงจัง และไม่รีบร้อนที่จะยุติสงครามกับยูเครน? ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างทรัมป์กับผู้นำรัสเซีย ซึ่งเขาเพิ่งพรรณนาไปเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เป็นคนใจดีอย่างยิ่ง” กำลังจะจบลงแล้วหรือ? [1]
คำพูดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ก่อน ก่อให้เกิดการคาดเดามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ “เราโดนปูตินโยนเรื่องไร้สาระใส่เยอะมาก ถ้าคุณอยากรู้ความจริง” ทรัมป์บ่น ซึ่งบ่งชี้ว่าในที่สุดเขาก็เข้าใจแล้วว่าเขาถูก “คนดีย์” ของรัสเซียเล่นงานเข้าให้แล้ว และตอนนี้เขาตั้งใจจะเอาคืนแบบหนักๆ
เครดิตภาพ: ABC News
“ตอนนี้ทรัมป์รู้ตัวแล้วว่าปูตินคือตัวปัญหา” บิล เทย์เลอร์ อดีตทูตสหรัฐประจำยูเครนกล่าวอย่างมั่นใจ “ดังนั้นสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องทำคือกดดันปูติน ซึ่งเขายังสามารถทำได้” และเขาก็ไม่ได้พูดผิดอะไร [2]
ทรัมป์ไม่เพียงแต่แสดงความไม่พอใจต่อปูตินเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนเท่านั้น แต่ยังสัญญาว่าจะกลับมาส่งมอบอาวุธสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศสำคัญให้แก่ยูเครนอีกครั้ง (แพทริออต) เพียงไม่กี่วันหลังจากที่เพนตากอนประกาศว่าจะทำการตรวจนับในคลัง “เราจะส่งอาวุธเพิ่มเติมที่เรามีให้พวกเขา พวกเขาต้องสามารถป้องกันตัวเองได้” ทรัมป์กล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และอิสราเอลยืนเคียงข้างเขา “ตอนนี้พวกเขา (ยูเครน) กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก”
แต่ทรัมป์จะใช้แรงกดดันแบบที่อาจทำให้ปูตินชะงักงันได้อย่างนั้นจริงหรือ? เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะทำอะไร สำหรับทรัมป์ เราไม่มีทางรู้เนื่องด้วยความเอาแน่เอานอนไม่ได้ และนั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาในเรื่องนโยบายต่อสงครามในยูเครน
ล่าสุด “ทรัมป์” กล่าวว่าสหรัฐจะส่งขีปนาวุธสำหรับแพทริออตไปให้ยูเครน ซึ่งประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เขาได้กล่าวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2025 ขณะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ฐานทัพอากาศแอนดรูว์สที่แมรีแลนด์ [3]
ทรัมป์ในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ฐานทัพอากาศแอนดรูว์สที่แมรีแลนด์ เครดิตภาพ: Reuters
เขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะส่ง “ยุทโธปกรณ์หลากหลายประเภท” ให้แก่ยูเครน และ “พวกเขา (ยุโรป) จะเป็นผู้จ่ายเอง” “เราจะส่งแพทริออต (ขีปนาวุธ) ให้พวกเขา (ยูเครน) ซึ่งพวกเขาต้องการอย่างมาก เพราะปูตินสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนมากมาย เขาพูดจาดีแต่กลับทิ้งระเบิดใส่ทุกคนในเวลากลางคืน แต่มีปัญหาเล็กน้อยกับเรื่องนี้ ผมไม่ชอบเลย” ทรัมป์กล่าว
ทรัมป์ไม่ได้ระบุว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาวุธชุดนี้ให้ยูเครน
ตามรายงานของ Axios ทรัมป์จะประกาศแผนความช่วยเหลือทางทหารครั้งใหม่สำหรับยูเครนในวันที่ 14 กรกฎาคม 2025 ซึ่งรวมถึงการจัดหาอาวุธโจมตีพิสัยไกลด้วย (สามารถโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ถึงภูมิภาคมอสโก) [4]
“ฟรีดริช เมิร์ซ” นายกเยอรมนีเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เยอรมนีพร้อมที่จะซื้อระบบแพทริออตจากสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งต่อให้ยูเครน “เราพร้อมที่จะซื้อระบบแพทริออตเพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาและส่งมอบให้ยูเครน… ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องการระบบเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากในคลังเช่นกัน” เมิร์ซกล่าว [5]
เครดิตภาพ: IMAGO / ANP / Schöning
แน่นอนว่าการออกมาโวยวายสไตล์ทรัมป์ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเครมลิน การตอบสนองของรัสเซียนั้นดุเดือด ทำลายสถิติอีกครั้งด้วยการโจมตีเป้าหมายในยูเครนด้วยโดรน 728 ลำเมื่อช่วงกลางเดือนระหว่างสัปดาห์ที่แล้ว (ครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สงครามยูเครนเต็มรูปแบบเริ่มเมื่อปี 2022) ประชาชนในกรุงเคียฟและเมืองใหญ่อื่นๆ ใน 10 แห่งถูกบังคับให้ต้องนอนหลบภัยจากการโจมตีทางอากาศในสถานีรถไฟใต้ดิน [6]
การใช้กลยุทธ์ใหม่นี้ของรัสเซียคาดว่าจะพยายามสร้างความสับสนให้กับระบบป้องกันภัยทางอากาศในยูเครน ปล่อยให้โดรนบางลำบินผ่านเคียฟไป แต่กลับเปลี่ยนเส้นทางและวกกลับมายังเคียฟอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม “ดมิทรี เปสคอฟ” โฆษกของเครมลิน ได้เน้นย้ำถึงความไม่แยแสของรัสเซียเมื่อเผชิญกับคำขู่ของทรัมป์ โดยเขาบอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อกลางสัปดาห์ก่อนว่า “เรารับมือกับเรื่องนี้อย่างใจเย็น” และเสริมว่า “ทรัมป์มักจะใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างแข็งกร้าวเป็นปกติอยู่แล้ว”
อีกทางหนึ่งนอกจากส่งอาวุธหนักให้ยูเครนเพิ่ม ทรัมป์กำลังพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อ “คว่ำบาตรรัสเซีย” ให้หนักขึ้นมากๆ โดยใช้วิธีทางอ้อมอย่าง เรียกเก็บภาษีนำเข้า 500% ต่อประเทศที่ซื้อน้ำมัน ก๊าซ ยูเรเนียม และสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ของรัสเซีย
ทรัมป์ดูเหมือนจะมั่นใจว่า ร่างกฎหมายคว่ำบาตรรัสเซียหนักรอบนี้จะผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาคองเกรสแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านก่อนปิดสมัยประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มอำนาจที่ทรัมป์มีอยู่แล้วมากนัก “โดยพื้นฐานแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มันไม่ได้บังคับใช้กฎหมายใดๆ เพราะมันให้อำนาจประธานาธิบดีในการตัดสินใจว่ารัสเซียกำลังเจรจาโดยสุจริตใจหรือไม่ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ก็ได้ และมีอำนาจตามกฎหมายของสหรัฐที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว” เขากล่าว [7]
เมื่อห้าเดือนก่อน “ทรัมป์” ดูเหมือนจะแสดงความมั่นใจว่าสามารถคุยกับ “ปูติน” ด้วยดี โดยไม่ต้องใช้ไม้แข็งอะไรกับรัสเซีย แต่ “เซเลนสกี” ก็แลดูไม่มั่นใจกับทรัมป์เท่าไหร่นักที่จะสามารถสงบศึกโดยยังเข้าทางยูเครนได้อยู่ แต่ยิ่งนานวันเมื่อรัสเซียไม่ยอมตกลงเงื่อนไขอะไรด้วยทั้งสิ้นเพราะถือว่าพวกเขาอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในสนามรบ ทำให้ทั้งเซเลนสกีและทรัมป์ต้องออกอาการหงุดหงิดมากขึ้น
เครดิตภาพ: Illustrated by Sarah Grillo/Axios Source: Getty Images
เมื่อต้นปีนี้นักวิเคราะห์อย่าง Andrea Kendall-Taylor และ Michael Kofman แย้งว่าปูตินแทบไม่มีแรงจูงใจที่จะยุติสงคราม เนื่องจากเขามาถึงจุดที่ไม่มีทางกลับแล้ว “สงครามได้ทำให้ความมุ่งมั่นของปูตินแข็งแกร่งขึ้นและจำกัดทางเลือกของเขาลง ไม่มีทางหันหลังกลับได้อีกแล้ว ปูตินได้เปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของรัสเซียไปแล้ว เพื่อให้เครมลินอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นในการรับมือกับตะวันตก” พวกเขาเขียนไว้ในบทความของ Foreign Affairs [8]
“สงครามได้กลายเป็นกลไกการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งที่นำเงินไปสู่ภูมิภาคยากจนของรัสเซีย และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจำนวนมากได้ย้ายเข้าสู่ภาคกลาโหมเพื่อแสวงหาโอกาสอันมั่งคั่ง ชนชั้นนำได้ปรับตัวเข้ากับระบบปัจจุบันแล้ว ทำให้พวกเขาไม่เพียงแต่อยู่รอด แต่ยังทำกำไรได้อีกด้วย” นักวิเคราะห์กล่าว
แน่นอนว่าเศรษฐกิจของรัสเซียมีสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อสูง การขาดแคลนแรงงาน และการพึ่งพาการใช้จ่ายของรัฐมากเกินไป แต่ด้วยตลาดจีนและเอเชีย การฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรในวงกว้าง และการนำเข้าสินค้าทดแทน ทำให้รัสเซียสามารถรับมือกับสงครามทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกันนับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้น ผู้นำตะวันตกต่างคิดว่าการคว่ำบาตรและความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจจะทำให้รัสเซียต้องยอมจำนน แต่พวกเขากลับคิดผิด (ในระยะสั้น)
ในบริบทของนโยบายระหว่างประเทศบนโลกมีการหันมาใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 โดยมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย “แม้ว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรจะเพิ่มมากขึ้น แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จกลับลดลงอย่างมาก” นิโคลัส มัลเดอร์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด “The Economic Weapon: The Rise of Sanctions as a Tool of Modern War” [9]
มัลเดอร์ได้ศึกษาการที่มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นหลัง WWI โดยใช้อาวุธบีบบังคับที่มุ่งให้สงครามยุติลงเร็วหรือจำกัดวง โดยระบุว่า “มาตรการคว่ำบาตรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงระหว่างสงคราม คือ ต่อยูโกสลาเวียในปี 1921 และ ต่อกรีซในปี 1925 โดยใช้การข่มขู่มากกว่าการบังคับใช้จริง”
และนอกเหนือจากสองกรณีดังกล่าวแล้ว เขากล่าวว่า “ผลลัพธ์ของการคว่ำบาตรอื่นค่อนข้างย่ำแย่ในแง่ของการป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้น แต่มันทำให้สงครามจบลงไวหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง อันที่จริงยิ่งใช้มาตรการคว่ำบาตรมากเท่าไหร่ โอกาสความสำเร็จก็ยิ่งลดลงเท่านั้น”
แม้ว่าทรัมป์อาจจะใจร้อนอยากได้การสงบศึกโดยเร็ว ข้อตกลงที่จะเปิดโอกาสให้เขาสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่อย่างที่มัลเดอร์ศึกษาจากบทเรียนในประวัติศาสตร์อาจสรุปได้ว่า การข่มขู่หรือคว่ำบาตรไม่น่าจะได้ผล
เครดิตภาพ: Modern Diplomacy
เรียบเรียงโดย Right Style
14th Jul 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: The Economist>
โฆษณา