เมื่อวาน เวลา 03:20 • ข่าว

4 ล้าน พอไหม? เมื่อเกษียณแล้วไม่มี "เงินเดือน" เมื่อชีวิตจริง เงินฝากโตไม่ทันเงินเฟ้อ

เกษียณไม่ใช่แค่ “แก่” แต่ต้อง “มีกิน” เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่พร้อมเกษียณจริง ๆ โดยพบข้อมูลชวนตกใจ 78% ของคนไทยมีเงินออมสำรองไม่ถึง 6 เดือน และยังต้องฝากความหวังไว้กับ “เบี้ยยังชีพคนชรา”
ขณะที่กลุ่มคนที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ (51–60 ปี)รวมถึงคนที่เกษียณไปแล้ว แต่ ยังไม่เคยวางแผนการเงินเลยก็มีมากถึง 15–21% ส่วนคนที่วางแผนไว้ แต่เก็บไม่ถึงเป้า กลับกลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม 42–47% ของคนเกษียณวันนี้ ยังมีเงินออมไม่พอใช้ตามแผนชีวิตที่ตั้งไว้
  • ภาพเหล่านี้สะท้อนอะไร?
สะท้อนว่าความเชื่อที่ว่า “เดี๋ยวก็เก็บได้ เดี๋ยวก็มีทาง”เป็นเพียงคำปลอบใจ แต่ความจริง หากไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โอกาสที่จะเป็น “ผู้สูงวัยที่มั่นคงทางการเงิน” ก็จะห่างออกไปทุกที
อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็น คนเรามีระยะเวลาทำงานหาเงิน ออม หรือ ลงทุน เพียง 38 ปี หรือ 456 เดือนหลังเรียนจบ ก้าวเข้าสู่ “วัยทำงาน” ในช่วงอายุ 22 ปี
เพื่อรองรับ อีก 20 ปี หลังเกษียณ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งเป็นช่วงที่ คุณจะไม่มีรายได้หลัก แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องทุกวัน
  • ความเสี่ยง คือ ...
- ถ้าช่วง 38 ปีทำงานคุณยังไม่มีการออม หรือวางแผนการเงิน ก็จะไม่มีเงินพอใช้ในช่วง 20 ปีหลังเกษียณ
- ช่วงหลังเกษียณ ยังต้องเจอกับ ค่าครองชีพ -ค่ารักษาพยาบาล -เงินเฟ้อ ที่อาจทำให้เงินที่มีอยู่ หมดเร็วกว่าที่คิด
  • ความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่พลาด มีอะไรบ้าง ?
- ใช้เงินหมดไปกับปัจจุบัน
- ไม่คิดเผื่ออนาคต
- มารู้ตัวตอนใกล้เกษียณ แต่ไม่มีเวลาเก็บเงินทัน
ตัวอย่างสมมุติ หากในช่วงวัยเกษียณ คุณยังมีภาระ และ ต้องการใช้เงินวันละ 500 บาท ราว 15,000/เดือน “เงินก้อน” ที่มีพร้อมรองรับการใช้ชีวิตยาวนานไปอีก 20 ปี ก่อนจะสิ้นอายุขัย คือ อย่างน้อย 4,025,315 บาท
หรือ อยากแก่แบบ “เก๋า” มีเงินใช้อย่างเกษม อย่างกลุ่ม MMM (Mr. Money Mustache) ผู้ซึ่งวางแผนเก็บออม และลงทุน เพื่อ “เปย์ความสุข” ให้ตัวเองหลังเกษียณ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูง 30,000 บาท ก็อาจต้องมีเงินก้อน อย่างต่ำ 17,476,290 บาท
คำถามคือ ถ้าฝากเงินอย่างเดียว จะสามารถเก็บเงินได้ทันหรือไม่ เพราะเงินเฟ้อรอเราอยู่ โดย “เงินเฟ้อ” คือศัตรูเงียบของเงินออม วันนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท วันหน้าขึ้นเป็น 80 บาท เรายังจะจ่ายไหวไหม? เมื่อค่าของเงินไม่เท่าเดิมแล้ว
  • แล้วเราจะมีทางรอดยังไง?
เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ยิ่งเริ่มออมเร็ว ยิ่งสร้างวินัยการเงินได้เร็ว และยิ่งปล่อยเวลาให้เงินทำงานแทนเราได้มาก
อย่าออมอย่างเดียว ต้องลงทุนด้วยเพราะเงินเฟ้อจะค่อย ๆ กัดกินค่าเงินไปทุกปีการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเหนือเงินเฟ้อ คือเครื่องมือสำคัญในการรักษาและเพิ่มมูลค่าเงินออม
  • เข้าใจค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของตัวเองให้ชัดลองคำนวณว่าหลังเกษียณ…
- เราต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไร
- เงินก้อนต้องมีเท่าไร
- ต้องออมกี่บาทต่อเดือน ถึงจะไปถึงเป้าหมาย
เริ่มวันนี้…ดีกว่ามานั่งเสียดายตอนใกล้เกษียณเพราะเวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของเงินลงทุนและเป็นสิ่งเดียวที่ซื้อกลับคืนไม่ได้ เกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็น “เป้าหมายทางการเงิน” ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่แก่
ที่มา : ธปท.,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา