Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
17 ก.ค. เวลา 06:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ
พระ วัด มีรายได้ ต้องเสียภาษีไหม ? โอกาสทุจริตเงียบ ๆ ใต้ร่มเงาความศรัทธา
ช่วงนี้มีหลายข่าวโยงมาที่วงการสงฆ์ ทั้งเรื่องสีกา ที่พัวพันกับพระชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงเจ้าอาวาสวัดดัง ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินไปเล่นพนันหลายร้อยล้านบาท
1
แม้อาจดูต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แบบนี้ ก็กำลังทำให้ “ความศรัทธา” นั้นสั่นคลอน และถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้เบื้องหน้าคือ ความเชื่อและความศรัทธา
แต่เบื้องหลังคือ เรื่องเงินและการบริหารจัดการเงิน
เพราะทุกวันนี้วัดไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจของคนเพียงอย่างเดียว หลายวัดยังกลายเป็น “ศูนย์รวมรายได้ที่มีมูลค่ามหาศาล”
โดยมีการประมาณการว่าตลาดการกุศลของไทยในปีนี้ อาจมีมูลค่าทะลุ 150,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
และเมื่อมีเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้าวัด
คำถามสำคัญที่ตามมาทุกครั้งที่เกิดเรื่อง คือ
พระ หรือวัดที่มีรายได้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
และหากอยากรู้ว่าคำตอบคืออะไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เราจะแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 2 ส่วน
เพราะ “พระ” และ “วัด” เกี่ยวข้องกับภาษีที่ต่างกัน
เริ่มจากส่วนของ “พระ”
ในความเข้าใจของหลายคน
พระคือผู้ละทางโลก ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สิน
แต่ถ้ามองลึกลงไป จะเห็นว่าพระจำนวนไม่น้อย ต่างก็มีรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
พระที่มียศหรือดำรงตำแหน่งทางสงฆ์ และตำแหน่งอื่น ๆ จะได้เงินประจำเดือน ตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน
นี่คือรายได้ประจำที่มีลักษณะคล้ายเงินเดือน ซึ่งยังไม่รวมกับเงินที่ญาติโยมนำมาถวายให้อีก
แต่ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะแย้งว่า มีแค่พระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นแหละที่มีรายได้
พระทุกรูปไม่ได้มีเงินเดือนแบบนั้น
แต่ความจริงแล้ว พระที่ไม่มีตำแหน่งก็สามารถมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน ได้จากกิจนิมนต์ตามวิถีสังคมที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในสังคมไทย
1
ลองคิดตามเพื่อให้เห็นภาพ
- งานศพ ได้ค่านิมนต์ 2,000-3,000 บาทต่อคืน
- งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานเทศน์ งานบุญ ได้ค่านิมนต์ 1,000 บาทต่อครั้ง
1
ยังไม่รวมบิณฑบาตและเงินที่ญาติโยมนำมาถวายให้อีกต่างหาก
ซึ่งพระส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายไม่มาก เพราะทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าจีวร ล้วนได้รับการสนับสนุนจากวัด และศรัทธาจากญาติโยมอย่างเต็มที่
ทำให้รายได้เกือบทั้งหมดกลายเป็นเงินเก็บ
หลายครั้งเราจึงเห็นพระที่ตกเป็นข่าวนั้น มักจะถูกตรวจสอบพบเงินจำนวนมาก
และทั้งหมดนี้ กำลังพาเราไปสู่คำถามสำคัญ
นั่นคือ พระต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
ตามกฎหมายภาษีแล้ว พระถือเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนเราทั่ว ๆ ไป หากมีรายได้เกินเกณฑ์ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
แต่เหตุผลที่พระส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีนั้น เพราะรายได้หลักอย่างนิตยภัต และเงินที่ญาติโยมถวายตามศรัทธา ล้วนเป็นเงินที่ได้จากเจตนาเพื่อศาสนา ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษี
พูดง่าย ๆ คือ พระไม่ใช่อาชีพที่ได้รับอภิสิทธิ์ ไม่ต้องเสียภาษี แต่เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของพระ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม ถ้าพระมีรายได้อื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากการสอนหนังสือ หรือดอกเบี้ย
พระก็มีหน้าที่ต้องนำมายื่นเสียภาษีเหมือนคนทั่วไป
มาต่อกันที่ “วัด”
แม้ภาพจำของวัดจะถูกมองว่า เป็นสถานที่ทางศาสนา แต่ในเชิงกฎหมายแล้ว วัดไม่ใช่แค่สถานที่
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31
วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีเจ้าอาวาส
ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของวัด
1
หากจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้น
วัดก็เหมือนองค์กร ที่มีทรัพย์สินและมีรายได้ โดยมีเจ้าอาวาสทำหน้าที่คล้ายผู้บริหาร ที่ดูแลกิจการในนามขององค์กรนั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า แม้วัดจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่กฎหมายภาษี วัดกลับไม่ถูกจัดเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น ต่อให้วัดจะมีรายได้หลักแสน หรือหลายล้านบาท วัดก็ไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาท
และแม้จะมีกฎกระทรวงกำหนดให้วัดจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบปัญหามากมาย
เพราะหลายวัดไม่มีระบบบัญชีที่ดีพอ
เจ้าอาวาสหลายรูปไม่ได้มีความรู้ด้านการเงินจึงต้องมอบอำนาจให้คณะกรรมการวัดหรือไวยาวัจกร เป็นคนทำบัญชีและเบิกจ่ายเงินของวัดแทน
และนั่นแหละ คือจุดอ่อนที่กลายเป็น “ช่องโหว่” ขนาดใหญ่
เพราะในหลายวัดแทบไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เงินเข้ามาเท่าไร และถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตอย่างเงียบ ๆ
ภายใต้ร่มเงาของความศรัทธา
จริงอยู่ว่าวัดอาจไม่ใช่ธุรกิจ แต่ในตลาดการกุศลของไทย ที่มีการประมาณการมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วัดคือหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย
อย่างวัดชื่อดัง ย่านนครปฐมที่ตกเป็นข่าว คาดว่ามีรายได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าบางบริษัทในตลาดหุ้นด้วยซ้ำ
แต่กลับไม่มีระบบบัญชี จากผู้ทำบัญชีมืออาชีพ หรือกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน จากผู้สอบบัญชี
นอกจากนั้น การที่วัดไม่เสียภาษี หมายความว่าจะไม่มีหน่วยงานอย่างกรมสรรพากรเข้าไปตรวจ ก็อาจทำให้มีโอกาสการทุจริตก่อตัวได้มากกว่าองค์กรทั่วไป
นี่จึงเป็นจุดที่สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น
ไม่ใช่แค่ วัดเสียภาษีไหม ?
แต่เป็นคำถามที่ลึกกว่านั้น
เกี่ยวกับระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
เพราะเมื่อความศรัทธาสามารถสร้างเงินได้ระดับหมื่นล้าน แสนล้านบาท ระบบตรวจสอบก็ควรมีพลังมากพอ ที่จะปกป้องความศรัทธานั้นไว้ให้ได้เช่นกัน..
#วางแผนการเงิน
#หลักการวางแผนการเงิน
#พระสงฆ์ไทย
References
-
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/
-
https://www.rd.go.th/5937.html#mata42
-
https://www.rd.go.th/25288.html
-
https://www.thaipbs.or.th/news/content/352214
-
https://themomentum.co/feature-monk-money/
-
https://www.dailynews.co.th/news/4793401/
-
https://www.bbc.com/thai/articles/c79ed050
การเงิน
ธุรกิจ
พุทธศาสนา
24 บันทึก
50
5
39
24
50
5
39
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย