22 ก.ค. เวลา 08:30 • ข่าว

พายุวิภา 2568 รวม 10 วิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และพายุ รู้ไว้ก่อนภัยมา

จากข่าวพายุวิภา 2568 ล่าสุด ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน อาคารเสียหายในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะภาคหนือ อีสานตอนบน และภาคกลางฝั่งตะวันตก โดยอาจจะได้รับอิทธิพลต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน บทความนี้ ไทยรัฐออนไลน์มัดรวม 10 วิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และพายุ เตรียมรับมือสถานการณ์พายุและฝนฟ้าคะนองในช่วงนี้
  • เปิดสาเหตุน้ำท่วมฉับพลันเกิดจากอะไร
น้ำท่วมฉับพลัน คือ ภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากการฝนตกหนัก หรือฝนตกต่อเนื่อง เนื่องจากพายุเข้า ลมมรสุม หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ นอกจากนี้ยังเกิดจากเขื่อนพัง น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำทะเลหนุนสูงได้อีกด้วย
  • 10 วิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และพายุ ฉบับพื้นฐานอย่างปลอดภัย
มัดรวม 10 วิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และพายุ ฉบับพื้นฐาน ดังนี้
1. ติดตามข่าวสาร หรือสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำท่วมฉับพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ
2. จัดเตรียมกระเป๋า หรือของสำคัญ เช่น เอกสารสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีธนาคาร บัตรต่างๆ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน หรือยารักษาโรคประจำตัว
3. เตรียมอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม ชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ หรือแบตสำรองไว้ให้พร้อม
4. เตรียมขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมปิดวงจรไฟ ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
5. เตรียมอุปกรณ์หรือวิธีในการป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน เช่น วางกระสอบทรายกั้น ปิดท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ขึ้นมาจากทางท่อ
6. ศึกษาเส้นทางอพยพ หรือเส้นทางปลอดภัยใกล้บ้านล่วงหน้า เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จะสามารถอพยพได้ทันที
7. บันทึก หรือจดเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น
- สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
- การแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทร 1669
- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 1182
- สอบถามเส้นทางน้ำท่วม ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท โทร 1146
- ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โทร 1111
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1130
- การไฟฟ้านครหลวง โทร 1129
8. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ สัมผัสโลหะ เสาไฟ หรือราวสะพาน เนื่องจากอาจถูกไฟดูดได้
9. อยู่ให้ห่างจากอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากอาจส่งผลให้อาคารถล่ม ถูกทับ หรือได้รับบาดเจ็บได้
10. หากมีพายุ หรือลมแรง แนะนำให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอันตราย โดยเฉพาะประตูหน้าต่างกระจก
อย่างไรก็ดี หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และพายุ ไม่ควรขับรถฝ่าน้ำหลาก แนะนำให้ออกจากรถและขึ้นไปอยู่บนพื้นที่สูง นอกจากนี้ หากมีเด็กเล็กในปกครอง แนะนำให้สอนวิธีป้องกันตนเองหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออีกด้วย
ที่มาภาพ : iStock
โฆษณา