22 ก.ค. เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

• ‘ที่ไหนป่าเถื่อน ที่ไหนเป็นอารยะ’

สำรวจแผนที่โลกอายุเกือบ 200 ปี ที่บอกว่าพื้นที่ไหนป่าเถื่อนหรือเป็นอารยะ
ในปี 1827 นักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน วิลเลียม แชนนิง วู้ดบริดจ์ (William Channing Woodbridge) ได้จัดทำแผนที่โลกขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยมีชื่อว่า ‘Moral & political chart of the inhabited world : exhibition the prevailing religion, form of government, degree of civilization, and population of each country’
แผนที่ฉบับเต็ม
แผนที่โลกฉบับนี้ จะมีการแบ่งพื้นที่หรือดินแดนต่าง ๆ ของโลก ออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ตามระดับความเจริญของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนั้น
แผนที่โลกฉบับนี้ จะมีการแบ่งพื้นที่หรือดินแดนต่าง ๆ ของโลก ออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ตามระดับความเจริญของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนั้น
คำอธิบายบนแผนที่
โดยระดับความเจริญทั้ง 4 ประกอบไปด้วย
• อารยะ (Civilized) คือ ดินแดนที่มีความเจริญแล้ว ซึ่งก็คือพื้นที่สีเหลืองบนแผนที่
• กึ่งอารยะ (Half-Civilized) คือ ดินแดนที่มีความเจริญอยู่บ้าง ซึ่งก็คือพื้นที่สีเขียวบนแผนที่
• ป่าเถื่อน (Barbarians) คือ ดินแดนที่มีความเจริญอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็คือพื้นที่สีแดงบนแผนที่
• ป่าเถื่อนมาก (Savages) คือ ดินแดนที่ไร้ซึ่งอารยธรรมและความเจริญใด ๆ ซึ่งก็คือพื้นที่สีน้ำเงินบนแผนที่
นอกจากนี้ในแผนที่ ยังมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในแต่ละพื้นที่ มีรูปแบบการปกครองแบบไหน (กษัตริย์, รัฐอิสระ, สาธารณรัฐ, กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายใต้ชาติอื่น) ผู้คนนับถือศาสนาอะไร (โรมันคาทอลิก, โปรเตสแตนต์, กรีกออร์โธดอกซ์, อิสลาม หรือ Pagan นับถือศาสนาอื่น ๆ) และมีจำนวนประชากรอยู่ที่เท่าไหร่
ต่อไปเราจะมาดูกันแบบคร่าว ๆ กันว่า พื้นที่ในแต่ละส่วนของโลกบนแผนที่นั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรกันบ้าง
ทวีปอเมริกาเหนือ
เริ่มต้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ พื้นที่บริเวณตะวันออกของทวีปซึ่งเป็นอาณาเขตที่ตั้งของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) รวมไปถึงเม็กซิโกไปจนปลายสุดของทวีปที่ปานามา อยู่ในสถานะ Civilized
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกและตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ อยู่ในสถานะ Savage เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ รวมถึงเป็นดินแดนที่ยังไม่ได้บุกเบิก
ทวีปอเมริกาใต้
ทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่มีสถานะ Civilized ยกเว้นพื้นที่ของป่าแอมะซอน และตอนใต้สุดของทวีปที่มีสถานะ Savage
ทวีปยุโรป
• สำหรับทวีปยุโรป พื้นที่เกือบทั้งหมดจัดอยู่ในสถานะ Civilized ยกเว้นพื้นที่บางส่วนในยุโรปตะวันออก และดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย
ทวีปแอฟริกา
ขณะที่ทวีปแอฟริกา พื้นที่ส่วนใหญ่มีสถานะ Barbarous ส่วนแอฟริกาเหนือมีสถานะ Half Civilized โดยมีเพียงแค่แอฟริกาใต้ที่เป็นนิคมของดัตช์กับอังกฤษเท่านั้น ที่เป็น Civilized
ส่วนพื้นที่ทะเลทรายซาฮาร่าและเอธิโอเปีย ถูกระบุว่าเป็นดินแดนที่ยังไม่ได้ถูกสำรวจ
ทวีปเอเชีย
ส่วนทวีปเอเชีย พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะ Half Civilized ยกเว้นบางพื้นที่ อาทิ ทะเลทรายในอาระเบีย เอเชียกลาง เกาหลี แมนจูเรีย ฟิลิปปินส์ คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียวที่มีสถานะ Barbarous
ออสเตรเลียและโอเชียเนีย
ออสเตรเลีย (หรือที่เรียกว่า นิวฮอลแลนด์ในตอนนั้น) มีเพียงพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกและเกาะแทสมาเนียเท่านั้น ที่เป็น Civilized เพราะเป็นที่ตั้งนิคมของอังกฤษ ส่วนพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปมีสถานะ Savage และตอนกลางของทวีปที่ยังไม่ถูกสำรวจ
ส่วนนิวซีแลนด์และหมู่เกาะส่วนใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็มีสถานะ Savage
แผนที่โลกในฉบับของวู้ดบริดจ์นี้ จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการอธิบายว่า ชาวตะวันตกที่มองว่าตนเป็น Civilized ในตอนนั้น มีมุมมองอย่างไรต่อภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกบ้าง
อ้างอิง • India in Pixels (Thread). This is how the West saw the world in 1827. https://threadreaderapp.com/thread/1300751823771324416.html
• Library of Congress. When “Savages” Roamed the Earth: Maps Perpetuating Bias and Bigotry in the 19th century. https://blogs.loc.gov/maps/2021/04/when-savages-roamed-the-earth-maps-perpetuating-bias-and-bigotry-in-the-19th-century/
#HistofunDeluxe
โฆษณา