5 พ.ย. 2019 เวลา 11:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม
คำถาม : ต้นกำเนิดของคำว่า reboot
เพื่อความเข้าใจในเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง หากท่านใดยังไม่เคยอ่านเนื้อหาในบทก่อน ๆ ผมขอแนะนำให้ท่านย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาในบทก่อนหน้านี้นะครับ
.
บทที่ 1 : ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดกับชายหนุ่มหลายคนในวันนี้
.
บทพิเศษ : ปรากฏการณ์ Coolidge Effect
.
บทที่ 2 : สิ่งเร้ายิ่งยวด vs สมองของเรา
.
.
.
Q : จุดเริ่มต้นของการ reboot มาจากไหน และเราค้นพบมันได้อย่างไร
*** เนื้อหาส่วนนี้ ผมเอาข้อมูลบางส่วนมาจากหัวข้อ What Are We Dealing With ? จากหนังสือ YOUR BRAIN ON PORN : Internet Pornography and the Emerging Science of Addiction
เรากำลังเผชิญกับอะไร
ย้อนกลับไปราว ๆ ปี 2008/2009 มีผู้คนกลุ่มหนึ่ง (น่าจะหมายถึงชาวยุโรปและอเมริกา) ที่เริ่มมีการตื่นตัวกับอาการแปลกประหลาดที่เกิดกับตัวพวกเขาเอง พวกเขาพยายามที่จะตั้งกระทู้สอบถามและเสิร์ชหาคำตอบในโลกอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (ทั้งที่ยังหนุ่ม) ของตน
พวกเขาสังเกตุตัวเองและพบว่าพวกเขาไม่สามารถแข็งตัวหรือคงสภาพการแข็งตัวไว้ได้ยามมีเซ็กส์ แต่พวกเขากลับสามารถแข็งตัวได้จากการดูหนังโป๊ฮาร์ดคอร์ (แต่ก็ยังคงต้องใช้มือกระตุ้นเพื่อประคองการแข็งตัวนั้นเอาไว้ตลอดเวลาด้วย)
การที่คนวัยหนุ่มสอบถามเรื่องแบบนี้ก็นับว่าแปลกมากแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่น่าแปลกยิ่งกว่าก็คือ “มีผู้คนนับพัน” ต่างก็ออกมาบอกเป็นแนวเดียวกันว่า “พวกเขาเองก็มีอาการแบบนี้เหมือนกัน”
ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีเว็บไซต์หรือแหล่งความรู้เกี่ยวกับอาการ Porn-induced ED (งานวิจัยหรือเอกสารต่าง ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง) ทำให้พวกเขาบางคนรู้สึกว่าตนช่างโดดเดี่ยวและแปลกแยกเหลือเกิน พวกเขาบางคนคิดว่าตนเองเป็นพวกประหลาดหรือไม่ก็มีอาการป่วยที่ไม่เหมือนใคร เพราะพวกเขาไม่สามารถแข็งตัวกับผู้หญิงจริง ๆ ได้ แต่กับมีอารมณ์และตื่นตัวกับหนังโป๊เท่านั้น
หลายคนยังคงเป็นหนุ่มบริสุทธิ์ ในขณะที่หลายคนที่เคยมีคู่ แต่เพราะอาการประหลาดนี้จึงทำให้เขาต้องจบความสัมพันธ์ุกับคู่ของตนไป พวกเขาขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างมาก พวกเขาต่างคิดว่าตนเองคงไม่สามารถมีความรักแบบคนทั่วไปได้ และคิดว่าตนคงเป็นพวกแปลกแยกผิดธรรมชาติ
นี่จึงเป็นเหตุให้พวกเขายิ่งปลีกตัวออกจากสังคมและหลบเข้าไปยัง comfort zone ที่พวกเขาอยู่แล้วสบายใจ และนั่นก็ยิ่งทำให้พวกเขาถลำลึกลงไปในโรคประหลาดนี้ลึกลงยิ่งกว่าเดิม
ก่อนที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตจะแพร่หลายแบบในปัจจุบันนี้ คนกลุ่มแรกสุดที่รายงานเกี่ยวกับอาการแปลกประหลาดนี้คือเหล่านักโปรแกรมเมอร์หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ในอดีต พวกเขาคือคนกลุ่มแรกสุดที่สามารถเข้าถึงสื่อโป๊ออนไลน์ได้ก่อนใคร และนั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุให้พวกเขามีอาการ Porn-induced ED ก่อนใครด้วย
พวกเขาเริ่มสอบถามหรือบอกเล่าเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ของตนเอง เช่น อาการหลั่งยากมาก, รู้สึกพึงพอใจจากเซ็กส์กับคนจริง ๆ น้อยลง, รสนิยมทางเพศเวลาดูสื่อโป๊เปลี่ยนไป รวมไปถึงการไม่สามารถแข็งตัวหรือคงสภาพการแข็งตัวไว้ได้ระหว่างมีเซ็กส์ เป็นต้น บางคนอาการหนักยิ่งกว่านั้นถึงระดับที่การดูสื่อโป๊ก็เอาไม่อยู่แล้ว หากเขาหยุดมือ ส่วนนั้นก็จะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว
กลุ่มคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป แม้ว่าวัยนี้จะไม่ใช่วัยเด็กหรือวัยรุ่นแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ใช่วัยแก่หรือวัยชราแน่นอน มันคือช่วงอายุที่ผู้ชายน่าจะเจริญพันธ์ุที่สุดแล้วด้วยซ้ำ
จนในตอนสิ้นปี 2010 แกรี่ วิลสัน (Gary Wilson) และภรรยาของเขาก็ตัดสินใจที่จะเปิดเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา ในตอนแรก ภรรยาของเขาทำเว็บไซต์เกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวทั่ว ๆ ไป แต่หลังจากนั้น เธอก็พบว่ามีผู้ชายมากมายที่ต่างเข้ามาเล่าประสบการณ์และสอบถามปัญหาเกี่ยวกับอาการเซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับมันเป็นโรคระบาดเลยทีเดียว
นี่จึงเป็นเหตุให้เว็บไซต์ Your Brain On Porn ถูกก่อตั้งขึ้น โดยแรกเริ่มเดิมที เว็บไซต์นี้เป็นเพียงสถานที่ที่เอาไว้ใช้รวบรวมและบอกเล่าประสบการณ์เสื่อมสมรรถภาพทางเพศของชายหนุ่มเท่านั้น แต่ในภายหลัง มันถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและงานวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับสมองและการเสพติดประเภทต่าง ๆ ด้วย (เพราะการเสพติดสื่อโป๊ก็มีกลไกไม่ต่างกับการเสพติดชนิดอื่น ๆ เลย)
ในตอนนั้น เนื่องจากอาการ Porn-induced ED ยังถือเป็นสิ่งใหม่ ทำให้บทความหรืองานวิจัยที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งบทความและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคนี้ก็มีทั้งที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้ยังคงไม่มีใครกล้าฟันธงได้ 100 % และทำให้โรคนี้ยังคงเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดสำหรับใครหลาย ๆ คน
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ในที่สุดก็เริ่มมีคนบางกลุ่มไหวตัว พวกเขาเริ่มทดลองตั้งสมมติฐานรวมไปถึงทำการทดลองต่าง ๆ นานาทั้งกับตัวเองและคนอื่น ๆ โดยอ้างอิงจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนในที่สุดพวกเขาก็เริ่มคลำถูกทางและได้หลักการหรือข้อสรุปบางอย่างที่มีเหตุผลและมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ
ในช่วงแรกของการค้นพบปรากฎการณ์นี้ หลายคนต่างก็มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ นานา จนเริ่มมีคนช่างสังเกตุกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเสพติดสื่อโป๊กับอาการเสื่อมสมรรถภาพของพวกเขา
พวกเขาเริ่มตั้งสมมตฐานว่า “เหตุผลที่พวกเขาด้านชากับผู้หญิงจริง ๆ ที่อยู่ข้างตัวอาจมีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อโป๊ที่ถลำลึกและบานปลายหนักขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงพวกเขายังเสพติดการช่วยตัวเองแบบกำมือแน่น ๆ (death grip) ชนิดที่ไม่มีอวัยวะเพศของผู้หญิงคนใดที่สามารถให้ความรู้สึกกระชับและปลุกกระตุ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องได้เท่ากับพฤติกรรมนี้อีกแล้ว”
เมื่อพวกเขาเริ่มตั้งสมมติฐานเช่นนี้ พวกเขาจึงคาดเดาและหวังว่า “หากพวกเขาหยุดเสพสื่อโป๊และการช่วยตัวเองไปสักช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาจะสามารถหายจากอาการนี้ได้”
กำเนิดคำว่า Reboot
ในปี 2012 มีกลุ่มผู้ชายในช่วงอายุ 20-30 ปีได้ริเริ่มก่อตั้งฟอรั่มพูดคุยออนไลน์ขึ้นมาโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา นั่นก็คือ “การทดลองเลิกใช้สื่อโป๊ไปสักระยะหนึ่ง” เพื่อหวังว่าจะสามารถรักษาอาการประหลาดนี้ได้
บางคนแนะนำเพิ่มเติมให้ตัดการช่วยตัวเองออกไปสักระยะหนึ่งด้วย (อันที่จริง พวกเราแทบทุกคนก็ไม่สามารถช่วยตัวเองโดยปราศจากสื่อโป๊ได้อยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะในช่วงแรกของกระบวนการนี้)
เป้าหมายของการทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะให้สมองของพวกเขาได้พักจากการถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาตลอดหลายเดือนหลายปีจากการเสพติดสื่อโป๊ พวกเขาเรียกกระบวนการฟื้นฟูสมอง (โดยการเลิกใช้สิ่งเร้ายิ่งยวด) นี้ว่า “การ reboot”
พวกเขาเหล่านี้ได้นำหลักการตรงนั้นมาใช้กับตัวเองและแนะนำคนอื่น ๆ จนในที่สุดก็เริ่มมีหลาย ๆ คนที่รายงานเกี่ยวกับสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีโผล่ออกมา บางคนสามารถหายจากอาการนี้และสามารถกลับไปมีเซ็กส์ได้เลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครกำหนดเป็นหลักการที่แน่ชัดหรือระบุเป็นระยะเวลาได้ เพราะความเร็วช้าในการฟื้นฟูตัวเองของแต่ละคนอาจไม่เท่ากันเนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความรุนแรงของการเสพติดสื่อโป๊, รสนิยมและชนิดของสื่อโป๊, ช่วงวัยที่เริ่มเสพติดมัน, ประสบการณ์การมีเซ็กส์ในชีวิตจริง, สุขภาพส่วนตัว, การดำเนินชีวิต ไปจนถึงวินัยและนิสัยส่วนตัวในการเลิกสิ่งเร้า เป็นต้น
เราเชื่อว่าปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้มีผลต่อระยะเวลาในการฟื้นฟูตนเองอย่างมากและแต่ละคนต่างก็มีปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นเหตุให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ได้ และเราก็ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการรักษาแบบตายตัวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่อาการ Porn-induced ED นี้สามารถรักษาได้อย่างแน่นอน
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมและหลาย ๆ คน ผมเชื่อว่า หากเรามีข้อมูลและวิธีการที่ถูกต้อง เราก็สามารถหายขาดจากอาการนี้ได้โดยแทบไม่ต้องใช้เงินสักบาทเลยด้วยซ้ำ
โชคดีเหลือเกินที่เว็บไซต์หรือฟอรั่มพูดคุยเกี่ยวกับ Porn-induced ED ต่างถูกก่อตั้งขึ้นมามากมายในวันนี้ (ในต่างประเทศ) นั่นแสดงให้เห็นว่าโลกของเราเริ่มตื่นตัวและไหวตัวกับเรื่องนี้กันบ้างแล้ว และพวกเราก็สามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดายจากคอมมูนนิตี้เหล่านี้
เช่น YourBrainOnPorn ที่ถือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ เอกสาร งานวิจัย และหลักการวิทยาศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับ Porn-induced ED, Reddit/NoFap ที่ถือเป็นฟอรั่มที่เอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนพูดคุยที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ รวมไปถึง Reddit/PornFree, NoFap.org, RebootNation.org และ YourBrainRebalanced
นอกจากในยุโรปแล้ว บางประเทศในเอเชียก็เริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้แล้วเช่นกัน เช่นในประเทศจีนตอนนี้มี 2 ฟอรั่มที่เอาไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีสมาชิกเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ Porn-induced ED เป็นหลักล้านคน
อุปสรรคและปัญหาในการเผยแพร่ความรู้
แม้ว่าแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้นมากมายจะทำให้หลาย ๆ คนจะสามารถทำการ reboot ตัวเองจนเห็นพัฒนาการดี ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงมีหลายคนที่กลับไปทำผิดซ้ำรอยเดิม ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ทั้งหลายกลับมาอีกครั้ง (relapse)
อาจเป็นเพราะความไม่ตั้งใจ หรือไม่ก็แค่อยากทดสอบ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะธรรมชาติของการเสพติด โดยเฉพาะการเสพติดสื่อโป๊ มันเป็นอะไรที่เอาชนะได้ยากที่สุด เพราะมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเซ็กส์ซึ่งธรรมชาติได้จัดลำดับความสำคัญของการสิ่งนี้เอาไว้ลำดับต้น ๆ ของชีวิตเราเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ในประเทศไทยยังคงจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะข้อมูลจากการบอกเล่าประสบการณ์รวมไปถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มีแค่ในเว็บไซต์เฉพาะทางหรือคอมมูนนิตี้ต่างชาติบางแหล่งเท่านั้น และด้วยความที่บทความที่เกี่ยวกับโรคนี้แทบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอย่างมากโดยเฉพาะสำหรับคนไทย
นอกจากนั้น ประสบการณ์ที่นำมาบอกเล่าหรือพูดคุยก็ยังมีจำนวนไม่มากพอให้เกิดการตื่นตัวในสังคมไทยได้ เนื่องจากคงไม่มีผู้ชายคนไหนกล้าแสดงตัวว่าตนมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศต่อหน้าสาธารณะชนกันง่าย ๆ โดยเฉพาะในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เรื่องส่วนตัวหรือความลับของเราสามารถกระจายสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว
แม้แต่ชีวิตส่วนตัวในโลกออฟไลน์ก็ยังมีน้อยคนมากที่จะกล้าไปปรึกษาแพทย์หรือพูดคุยยอมรับกับเพื่อนฝูงอย่างเปิดอก เนื่องจากสำหรับผู้ชายอย่างเราแล้ว สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องน่าอายที่สุดเลยทีเดียว ผู้ชายอย่างพวกเรามีค่านิยมบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับว่าตนมีอาการเสื่อมสมรรถภาพได้
ใครจะกล้าออกมายอมรับตรง ๆ กันล่ะ จริงไหมครับ ? อุปสรรคข้อนี้ทำให้เราไม่อาจยืนยันจำนวนของชายที่เป็น Porn-induced ED ได้อย่างแน่ชัด แต่เราก็เชื่อว่ามีผู้ชายหลายคนที่เป็นโรคนี้ (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตามการเติบโตเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีไฮสปีดอินเตอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยที่ทรงพลังที่สุดในการเข้าถึงสื่อโป๊
คำถามและข้อสงสัยที่พบบ่อย : การ reboot คือลัทธิที่ต่อต้านเรื่องเพศหรือไม่ ? และอาการ Porn-induced ED มีจริงหรือไม่ หรือแค่คิดไปเอง ?
สำหรับเนื้อหาบทต่อ ๆ ไป ท่านผู้อ่านต้องเข้าไปอ่านใน ebook นะครับ (ทดลองอ่านฟรีได้ตั้งแต่บทที่ 1 ไปจนถึงบทที่ 4)
.
ผู้เขียนขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่อ่านบทความของผมมาถึงตรงนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาทั้ง 2 บทที่ผ่านมาจะให้ประโยชน์และความรู้แก่ท่านผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย
.
แต่เนื้อหาทั้งหมดไม่ได้มีเพียงแค่ 2 บทนี้นะครับ บทความ 2 บทที่ผ่านมาเป็นเนื้อหาเพียงแค่ 15-20% เท่านั้น ในหนังสือ ebook เล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อีกมากถึง 13 บท
.
ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปทดลอง “อ่านฟรี” ได้ตั้งแต่บทที่ 1 จนถึงบทที่ 4 นะครับ (เลือกหนังสือ แล้วกดที่ช่อง “ทดลองอ่าน”)
.
.
.
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ e-book “เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม” (ในหนังสือมีเนื้อหาทั้งหมด 13 บท)
.
*** ต้องโหลดแอปฯ “Meb : หนังสือดี นิยายดัง” ก่อนนะครับ (แอปฯนี้โหลดฟรี) ถ้าโหลดแอปฯนี้เสร็จแล้ว เราก็จะสามารถดาวน์โหลดสั่งซื้อหนังสือและเปิดอ่านผ่านแอปฯนี้ได้เลยครับ
โฆษณา