8 ม.ค. 2020 เวลา 00:07
การเดินทางของชีวิต
#เตรียมพร้อมการเดินทางไกล ผ่าน การวางแผนการศึกษา
วันแรกที่เราลืมตาดูโลกก็คือวันที่ชีวิตของเราเริ่มการเดินทาง แต่ในช่วงสิบปีแรกของชีวิตนั้น ชีวิตของเรายังไม่ได้เดินทางด้วยตัวเองแต่เป็นเพียงผู้ร่วมเดินทางไปกับขบวนคาราวานของครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นผู้นำในการเดินทาง จนกว่าเราจะพร้อมสำหรับการเดินทางของชีวิตด้วยตนเอง ในช่วงเวลาสิบปีแรกจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถเดินทางชีวิตด้วยตัวเองในอนาคต
2
เตรียมพร้อมลูก สู่ศตวรรษที่ 21
ระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยุคที่ทั้งโลกถูกเชื่อมโยงกันด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เด็กที่เติบโตในศตวรรษที่ 21 จึงต้องไม่เพียงแต่เก่งด้านวิชาการแต่ต้องมีทักษะสำคัญในการดำเนินการชีวิตด้วย
ทักษะ 4 ด้านที่จำเป็นสำหรับ ศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย
1. ทักษะพื้นฐานต่างๆ หรือทักษะความรู้ เช่น การคำนวน การอ่านเขียน และภาษา ยังคงเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จำเป็นในอนาคต
2. ทักษะการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์
การคิดเป็นระบบ การแก้ไขปัญหา และการสื่อสาร
3. ทักษะชีวิตและอาชีพ เช่นการปรับตัวและการทำงานร่วมกับคนอื่นแบบ ทีม การแก้ไขปัญหา เป็นต้น
4. ทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี่ต่างๆ
เหล่านี้เป็นทักษะที่จะถูกนำไปใช้ในอนาคตที่มีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง การทำงานอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในสายวิชาชีพที่เรียนมา และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา
หลายโรงเรียนโดยเฉพาะในโรงเรียนที่เป็นหลักสูตรนานาชาติหรือแนวการศึกษาใหม่ๆ จัดให้มีการค้นหาความถนัดและความชำนาญของเด็กเพื่อปูทางสำหรับอนาคตที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการทำ Aptitude test เพื่อวัดความถนัดทางเชาวน์ปัญญาตั้งแต่เด็ก ให้เด็กและครอบครัวได้ทราบถึงความสนใจ ความถนัด และความสามารถในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ทั้งครอบครัวและโรงเรียนสามารถเตรียมการเพื่อเด็กได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับตัวเอง หลายโรงเรียนยังได้จัดให้มีการแนะแนวอาชีพสำหรับนักเรียนหลังจากได้รับทราบผล Aptitude test
ครอบครัวที่มองถึงอนาคตของลูก จึงต้องวางแผนเพื่อการศึกษาให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความสามารถที่มีของลูกแต่ละคน และต้องวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าลูกจะได้รับการศึกษาจนสำเร็จตามแผนที่วางไว้
บทบาทของผู้ปกครองในศตวรรษที่ 21
ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดและคำถามว่าในอนาคตนั้นวุฒิการศึกษาและปริญญาบัตรยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ มีเอกสารและบทความจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนการมุ่งตรงไปฝึกงานอาชีพนั้นโดยตรงเลย เพื่อสะสมประสบการณ์ แทนการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อีกทั้งเริ่มมีผู้ประกอบการที่พิจารณารับคนจากประสบการณ์และความสามารถ มากกว่าวุฒิการศึกษา นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ก็สนใจทำงานที่เป็นอิสระมากขึ้น
การวางแผนการศึกษาของลูก และแผนการเงินเพื่อการศึกษา จึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแนวทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป
นอกจากการวางแผนการศึกษาของลูก พ่อแม่ควรช่วยเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของลูก ทั้งด้านทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การป้องกันภัย การออม และทักษะชีวิตในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งทักษะด้านอาชีพด้วย
กลุ่มโรงเรียน แบ่งตามแนวทางการสอน ได้เป็น
1. โรงเรียนแนววิชาการ คือโรงเรียนที่ยังเดินตามการศึกษาหลักของประเทศแต่บางแห่งอาจปรับหลักสูตรให้เหมาะกับปรัชญาของโรงเรียน อย่างไรก็ตามโรงเรียนกลุุ่มนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับด้านวิชาการ และมักจะรับนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก สิ่งที่เด็กจะได้รับการฝึกจากโรงเรียนแนววิชาการคือ ด้านวิชาการ กฎระเบียบต่างๆ
2. โรงเรียนแนวสาธิต คือโรงเรียนที่ใช้วิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ และวิธีคิดที่นอกกรอบ มีกิจกรรมให้เด็กได้ทำเยอะ เด็กจะมีความมั่นใจตัวเอง
3. โรงเรียนทางเลือก ส่วนมากจะเป็นโรงเรียนระดับอนุบาล มีระบบการศึกษาต่างจากระบบหลัก เด็กอาจได้เรียนนอกห้องเรียน เรียนผ่านกิจกรรม หรือเด็กที่ต้องการการดูแลใกล้ชิด
4. โรงเรียนแนวสองภาษา นิยามของโรงเรียนสองภาษาคือ มีระบบการเรียนแบบสองภาษา ส่วนมากนำหลักสูตรของไทยมาปรับเป็นภาษาอังกฤษ โรงเรียนสองภาษาบางแห่งอาจเป็นแนววิชาการ ข้อดีคือเด็กจะได้ทักษะด้านภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม
5. โรงเรียนนานาชาติ คือโรงเรียนที่นำหลักสูตรของต่างประเทศมาใช้ จึงต่างจากโรงเรียนสองภาษา แต่ละโรงเรียนจะใช้หลักสูตรของแต่ละประเทศ ตั้งแต่ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย (ใช้หลักสูตรของอังกฤษเป็นหลัก) จีน สิงคโปร์ และระบบ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่พัฒนาจากยุโรป
โรงเรียนแต่ละแนวมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน และแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนแตกต่างกันด้วย การเลือกโรงเรียนให้เหมาะจึงต้องดูจากเป้าหมายอนาคตของลูก ความพร้อมของลูก และความพร้อมในการสนับสนุนของผู้ปกครองด้วย ทั้งนี้การวางแผนการเงินจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นหากเป็นโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาสูง
เครดิต กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802409
ตัวอย่างภาพเป็นข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจที่เผยแพร่ไม่นานมานี้ สามารถใช้เพื่อเตรียมแผนการศึกษาลูกได้ ข้อมูลในข่าวบอกว่าการเพิ่มค่าเล่าเรียนต่อปีคือ 2% แต่ถ้ามองในระยะยาวการวางแผนการศึกษาควรใช้อัตราเงินเฟ้อเพื่อการศึกษาที่ประมาณ 5% จะเหมาะกว่า และควรมองไปจนถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วย
นอกจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของกิจกรรมที่พ่อแม่ต้องจ่ายเป็นรายกิจกรรม รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำวันของลูกด้วย
การวางแผนการศึกษาคือหัวใจสำคัญเพื่อผลสำเร็จของการศึกษาบุตร
การวางแผนการศึกษาให้ลูก เป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมให้ลูกมีความพร้อมที่จะออกเดินทางเองในอนาคต การวางแผนการศึกษาจะเป็นแบบใดขึ้นกับหลักคิดของครอบครัว ความพร้อมด้านต่าง ๆ ของพ่อแม่ แต่ไม่ว่าจะเลือกเรียนในแนวทางใด พ่อแม่ก็สามารถสร้างความพร้อมให้ลูกได้หากมีการวางแผนการศึกษาที่เหมาะสมกับแนวทางและเป้าหมาย ความสำเร็จจึงเกิดจากการวางแผนการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น
The education of children is a matter of their parents’ attitude.
ทัศนคติของพ่อแม่ คือ ตัวกำหนดการศึกษาของลูก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา