31 ม.ค. 2020 เวลา 05:31 • ข่าว
WHO ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
วันนี้ WHO ได้ทำการประชุมครั้งที่สองและมีมติประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือ PHEIC
ภายใต้กฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ ปี 2005 (IHR 2005) ที่เป็นกรอบกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทางสุขภาพระหว่างประเทศ มีเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือ PHEIC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการป้องกัน ควบคุม และใช้มาตรการควบคุมโรค และจำกัดความเสียหายต่อการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศให้น้อยที่สุด
การประกาศใช้เกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ 2009, โปลิโอ 2014, อีโบล่า 2014, ซิก้า 2016 และ อีโบล่า 2019
Dr.Tedros Adhanom (Director general of the World Health Organization) จากนิตยสาร TIME
PHEIC ประกาศเมื่อไหร่?
1. เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านสาธารณสุขที่รุนแรง
2. เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติหรือไม่คาดคิดมาก่อน
3. มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดข้ามประเทศได้
4. มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อมีอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อนี้ WHO จะทำการประกาศ
จะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะโรคระบาดเท่านั้นที่ WHO จะประกาศใช้ PHEIC ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือสารเคมีก็สามารถประกาศใช้ได้เช่นกัน
ผลกระทบจาก PHEIC
ประเทศไทยอาจยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉินจากระดับ 3 เป็นระดับสูงสุดได้ คล้ายประเทศจีน เนื่องจากสถานการณ์มีผลกระทบทางสุขภาพและขวัญกำลังใจต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการการระบาด
การควบคุมป้องกันโรค
ผู้ที่ป่วยและมีความเสี่ยงติดเชื้อสามารถถูกบังคับกักตัวเพื่อการควบคุมโรคได้ และสามารถบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือต้องลดการแพร่กระจาย และความเสี่ยงที่จะกระจายไปยังประเทศอื่น
การเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
แม้ขณะนี้ WHO ยังไม่มีคำแนะนำสำหรับการจำกัดการเดินทาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดการการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอาจเข้มงวดขึ้น ทั้งการคัดกรอง และอาจมีการตรวจอย่างเข้มงวดในบางเส้นทางได้
WHO ยังเน้นย้ำให้ประเทศต่างๆพยายามอย่าสร้างอคติและการแบ่งแยกคนที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายข้อหนึ่งใน IHR
ผลกระทบต่อรัฐ
ทางประเทศไทยต้องส่งข้อมูลการระบาด การจัดการและผลการตรวจทั้งในคนและสัตว์ต่อ WHO เพื่อให้เกิดการประสานงานกันระหว่างประเทศ
สิ่งที่ควรมีคือการร่วมมือร่วมใจกันของประชาชนทุกคนที่ควรรับฟังการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และช่วยกันปฏิบัติตามคำแนะนำของทางกระทรวง ลดการสร้างข้อมูลที่ชี้นำไปในทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตามนี่เป็นสัญญาณที่ดีอันหนึ่งที่จีนและ WHO พร้อมใจกันดำเนินการควบคุมโรคระบาดนี้อย่างดีที่สุด แม้ความรุนแรงในเบื้องต้นอาจไม่รุนแรงนัก แต่สิ่งนี้เป็นขวัญกำลังใจที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ที่กำลังจัดการการระบาดอย่างแข็งขัน
“in a spirit of solidarity and cooperation.” "ทำงานร่วมกันภายใต้จิตวิญญาณของการร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" WHO
โฆษณา