14 เม.ย. 2020 เวลา 02:00
อุปสรรคด้านภาษากับความหนาวเหน็บ
ถ้าไปอยู่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็เบาแรงหน่อย เพราะอย่างน้อย ๆ เราเรียน A B C... มาตั้งแต่ยังเล็ก ยังพอจะรู้เรื่องบ้าง แต่ถ้าไปประเทศอื่นที่ใช้ภาษาหลากหลายแตกต่างกันไป เช่นญี่ปุ่น จีน สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้ภาษานั้นมาก่อน ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เหมือนไปเริ่มเรียนท่อง ก ข ค...กันใหม่ แต่ถ้าตั้งใจจริง 1 - 2 ปี ก็เริ่มใช้งานได้แล้ว ยิ่งถ้าสู้ทุ่มเทการเรียนภาษาจริง ๆ สัก 6 เดือน เราก็จะเริ่มพูดคุยกับคนอื่นรู้เรื่องบ้างแล้ว
ถ้าได้เรียนภาษาท้องถิ่นสัก 1 - 2 ปี จะสื่อสารกันได้ ไม่อึดอัด แต่ถ้าให้เทศน์สอนคล่องแคล่วต้องเรียนอย่างน้อย ๆ 4 - 5ปีขึ้นไป ไม่ใช่ว่าไปเมืองนอก 1 - 2 ปี แล้วจะเทศน์สอนอะไรได้เลย มันไม่ง่ายขนาดนั้น ต้องหลายปีพอสมควร แล้วต้องเอาจริงด้วยถ้าไม่ได้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนและการฝึกฝนทางด้านภาษาจริงจัง บางทีไปอยู่ 10 ปี ก็ไม่สามารถเทศน์สอนคนท้องถิ่นได้ ขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระธรรมทูตแล้วล่ะก็ให้ตั้งใจฝึกตนเองในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของภาษาที่จะเป็นประโยชน์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระยะยาวต่อไป
เมื่อต้องเทศน์สอนคนต่างชาติ
หัวใจหลักที่คนท้องถิ่นชาวต่างชาติสนใจที่สุดคือเรื่องของสมาธิต้องสอนให้เขานั่งสมาธิ ให้เขาทำใจนิ่ง ๆ สงบ ๆ แล้วพอใจเขานิ่งสงบ เขาจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขภายใน เมื่อนั้นความรู้สึกอยากจะนั่งสมาธิต่อจึงเพิ่มมากขึ้น ความสนใจอยากจะเรียนรู้พระพุทธศาสนาจะเพิ่มขึ้นด้วย
สมาธิคือหัวใจหลัก จากนั้นพอเขาสนใจอะไรเขาจะค่อย ๆถาม แล้วเราก็ค่อย ๆ ให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ ไป โดยที่เขาไม่เกิดความรู้สึกว่า เราเอาเรื่องพระพุทธศาสนาไปยัดเยียดให้เขาถ้าเขารู้สึกว่า เรายัดเยียดเมื่อไร ก็จะเกิดแรงต้านเมื่อนั้น ดังนั้นต้องเริ่มจากเรื่องสมาธิที่เขาสนใจ พอฝึก ๆ ไป เขาจะค่อย ๆ ถาม
เองว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร แล้วพระองค์สอนเรื่องอะไรอีกบ้างนอกจากสมาธิ ตอนนั้นเราถึงจะค่อย ๆ สอนพุทธประวัติ แนะหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้พอดี ๆ “อย่าเอาข้าวให้เขารับประทานทีละกะละมัง แต่ป้อนให้ทีละช้อน ๆ” เขาจะเกิดความรู้สึกว่า กลมกล่อมพอดีคำแล้วรับได้
ความหนาวเหน็บเริ่มมาเยือน
เราไปสร้างวัดไทยไว้ที่ประเทศมองโกเลีย ในเมืองหลวงอูลานบาตอร์ ซึ่งทางเจ้าอาวาสได้กลับมาปฏิบัติธรรมที่ประเทศไทยเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ทั่วโลกราว 100 รูปได้รวมนั่งสมาธิกันช่วงเดือนธันวาคม
เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย
เมื่อถามว่าอากาศหนาวไหม ท่านบอกว่า “...หนาวนิดหน่อยครับ” พอถามว่าอุณหภูมิเท่าไร ท่านบอกว่าประมาณ -30 องศาเซลเซียส ความจริงแล้วอุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียสนี่ขนาดขนตามีน้ำแข็งเกาะแล้วนะ ถ้าออกจากบ้านอยู่นอกอาคารนาน ๆ ขาแข็งก้าวไม่ออก มันหนาวถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องอดทนแล้วปรับตัวกันไป
ส่วนที่อาตมภาพได้มีโอกาสไปอยู่นาน คือ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น อากาศหนาวราว ๆ 0 - 1 องศาเซลเซียส อีกที่คือเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงหนาววัดอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ไม่ได้ถึงขนาด -30 องศาเซลเซียส ยังพอสู้ ไหว แต่แม้กระนั้นตอนไปครั้งแรกก็รู้สึกหนาวเอาเรื่องเหมือนกัน
เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ไปอยู่ต่างประเทศนาน ๆ มาก่อน ไม่เคยเจอหน้าหนาวในต่างประเทศ และไม่มีวัด ไม่มีอุปัฏฐากทั้งญี่ปุ่นมีพระไทยเพียงรูปเดียวคืออาตมภาพ ด้วยประสบการณ์แปลกใหม่และการปรับตัวที่ไม่มีคนแนะนำ ต้องศึกษาเรียนรู้เอง เมื่อถึงเวลาฉันปานะ ก็ฉันแบบไทยพวกน้ำผลไม้ ปรากฏว่าได้พลังงานไม่เพียงพอให้รับมือกับอากาศหนาวขนาดนั้น หน้าหนาวแรกอาตมภาพจึงเป็นไข้หวัดถึง 2 ครั้ง แต่ละครั้งป่วยนานเป็นเดือน เพราะอากาศหนาวจึงหายป่วยช้า อาการหวัดก็ยืดเยื้อ
พออาตมภาพออกจากที่พักไปมหาวิทยาลัย ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินก็ครองจีวรหนา ๆ มีอังสะหลาย ๆ ชั้น แล้วสวมหมวกที่โยมถวายให้ตอนก่อนเดินทางไปด้วย ตอนรับมาก็ไม่รู้หรอกว่าโยมถวายอะไรรับไว้พอหนาว ๆ ก็เอาออกมาใช้ เห็นเป็นหมวกขนสัตว์หนา ๆ ที่เขาไว้ ใส่กันหนาวในที่หนาวจัด ซึ่งที่โตเกียวอากาศระดับ 0 องศาเซลเซียส เขาไม่ใช้กัน แต่ถ้าเป็นที่ฮอกไกโด อุณหภูมิ -10 ถึง -20องศาเซลเซียส ก็พอจะมีคนหยิบออกมาใช้กันบ้างในโตเกียวเวลาอากาศหนาว ๆ อย่างมากก็ใช้หมวกไหมพรมกัน แต่นี่หมวกขนสัตว์ อาตมภาพสวม เสร็จเรียบร้อยเอาหน้ากากปิดปากสวมด้วย เพราะเรากำลังเป็นไข้หวัดก็ไม่อยากให้ ไปติดต่อคนอื่น แล้วใส่แว่นสายตาเลนส์ดำ ๆ เพราะอาตมภาพแพ้แสงอีก สวมแว่นเสร็จแล้วถือกระเป๋าใบโต ๆ มีหนังสือพจนานุกรมภาษาบาลีสันสกฤต ทิเบตอยู่เต็มกระเป๋า น่าจะหนักประมาณ 8 กิโลกรัมแล้วยังครองจีวรอีก
พออาตมภาพเดินไปถึงไหนเขาก็มองกันทั้งสองข้างทาง แต่อาตมภาพไม่ได้สนใจอะไร เพราะตอนนั้นใจมุ่งมั่นจดจ่ออยู่แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายว่าเราจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามถนอมสุขภาพ และทุ่มเทเรื่องการศึกษาให้ ได้ผลลัพธ์ดีโดยเร็วที่สุด ลุยไปอย่างนั้น แต่พอผ่านหนาวแรกไป ก็รู้แล้วว่าต้องปรับตัวอย่างไร ถึงคราวหนาวที่ 2 พอเอาตัวรอดได้ ภาษาก็พอสื่อสารกับเขาได้แล้ว แต่น้องรุ่นหลัง ๆ ที่ไปนี่สะดวกขึ้น เพราะมีวัด มีพระรุ่นพี่อยู่คอยแนะนำ คอยเตรียมการเรื่องต่าง ๆ ให้ทุกอย่าง
เจริญพร
ปล.เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2534

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา