5 พ.ค. 2020 เวลา 02:09
การเดินทางของชีวิต :
# วางแผนการเงิน ตามรอยพ่อสร้าง ตอนที่ 2/2
เราจะเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร...
บทความตอนก่อนหน้าจบลงด้วยหลักความพอประมาณซึ่งเป็น 1 ใน 3 หลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บทความนี้จะขอพูด 2 หลักที่เหลือคือ หลักการมีเหตุมีผล และหลักการมีภูมิคุ้มกันนะครับ
ถ้ายังไม่ได้อ่านบทความตอนแรก สามารถอ่านบทความตอนที่ 1/2 ตาม link นี้นะครับ
Credit : Unsplash.com
ทะเลทรายซาฮาร่าเมื่อ 100 ปีก่อนนั้น การเดินทางข้ามทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้เป็นการเดินทางที่มีอันตรายมาก มีนักเดินทางที่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งในทะเลทรายจำนวนมาก นอกเหนือจากขนาดของทะเลทรายที่กว้างใหญ่จนนักเดินทางอดน้ำตายและไม่สามารถข้ามทะเลทรายไปถึงปลายทาง ผืนทรายที่กว้างสุดลูกหูลูกตายังทำให้นักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางมีโอกาสหลงออกนอกเส้นทางและต้องจบชีวิตในทะเลทรายอันกว้างใหญ่ เส้นทางระยะทาง 800 กิโลเมตรนี้จึงเป็นเส้นทางหนึ่งที่อันตรายที่สุดในโลก
จนเมื่อมีการนำถังน้ำมันเปล่าไปวางเพื่อบอกทางตลอดเส้นทาง ถังน้ำมันที่ถูกวางให้มีระยะห่างที่นักเดินทางจะมองเห็นถังน้ำมันใบต่อไปได้ในระยะไกล ช่วยให้นักเดินทางสามารถเดินทางข้ามทะเลทรายได้สำเร็จ ถังน้ำมันเหล่านี้ยังถูกใช้เพื่อบอกระยะทางที่เหลืออยู่ ให้นักเดินทางมีกำลังใจ และสามารถจัดการเสบียงที่เหลืออยู่รวมทั้งสัมภาระต่างๆ ให้เหมาะสมกับเส้นทางที่ยังจะต้องเดินทางไป ทั้งน้ำดื่ม อาหาร และการกำหนดระยะทางในการเดินทางในแต่ละวัน
เราโชคดีที่พ่อสร้างรอยทางไว้ให้เรา บทความนี้ขอร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันที่ 5 พฤษภาคม วันสำคัญวันหนึ่งในใจของเรา
#เพราะเหตุนี้...เราจึงใกล้ชิดพ่อ
หลักความมีเหตุมีผลทางการเงิน
ถังน้ำมันเปล่าตลอดเส้นทางข้ามทะเลทรายซาฮารา เหมือนเป้าหมายย่อย ๆ ที่ช่วยให้นักเดินทางเดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นเป้าหมายใหญ่ ถังแต่ละใบจะถูกวางไว้ห่างกันในระยะที่นักเดินทางจะสามารถมองเห็นถังน้ำมันใบต่อๆ ไปในระยะเกือบสุดสายตา ถังน้ำมันนี้ยังช่วยให้นักเดินทางสามารถกำหนดจุดแวะพักของการเดินทางในวันนั้นและช่วงกำหนดระยะทางที่จะไปถึงโอเอซิสที่ต้องใช้เติมน้ำและเสบียงเพื่อเดินทางต่อ
การวางเป้าหมายทางการเงินของแต่ละช่วงเวลา เปรียบคล้ายถังน้ำมันเหล่านี้ ช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรการเงินที่เรามีและใช้จัดสรรให้สอดคล้องกับเป้าหมายต่างๆ ชีวิตที่ปราศจากเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว เป็นเหมือนการเดินทางที่ไร้จุดหมายปลายทาง รอเพียงโชคชะตาไปวันๆ โดยไม่รู้อนาคต
การวางแผนการเงินนั้น การมีงบดุลส่วนบุคคลที่สมดุลเปรียบเหมือนการจัดเตรียมสัมภาระและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการเดินทางไกลบนทะเลทราย
เมื่อเราไปพบนักวางแผนการเงิน สิ่งแรก ๆ ที่นักวางแผนการเงินจะทำให้เราก็คือ งบดุล และ งบรายรับรายจ่ายของเรา (หรือเรียกว่างบกระแสเงินสด) เพื่อตรวจเช็คว่าเรามีสัมภาระอะไรอยู่บ้าง เป้าหมายที่เรากำหนดเป็นไปได้แค่ไหน ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเดินทางสู่เป้าหมายที่เราวางไว้
งบดุุลและงบกระแสเงินสดจะบอกจุดแข็งจุดอ่อนทางการเงินของเราในปัจจุบัน
ในหลักของความมีเหตุมีผลนี้ ก็คือการจัดสมดุลโดยการใช้อัตราส่วนในงบดุลมาช่วยการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งในมุมคิดของผมมีสองอัตราส่วนที่สำคัญได้แก่
1. สัดส่วนของหนี้สินต่อสินทรัพย์
เป็นอัตราส่วนนี้ที่สะท้อนภาระทางการเงินของเรา และช่วยให้เรารู้ว่าเราควรแบกภาระหนี้แค่ไหน หากเราได้เห็นข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมา เราจะเห็นได้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน
2. สัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนต่อความมั่งคั่งสุทธิ (ไม่ใช่สินทรัพย์)
หลายคนอาจเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่เทียบสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนกับสินทรัพย์รวม เหตุผลเพราะความมั่งคั่งสุทธิในงบดุลส่วนบุคคล คือฐานะแท้จริงของเรา ในงบดุลของบริษัทนั้นส่วนของเจ้าของก็คือสิ่งเดียวกับความมั่งคั่งสุทธิ ที่แสดงฐานะจริงของบริษัทซึ่งประกอบด้วยเงินลงทุนและกำไรที่ยังไม่ถูกนำออกไป สินทรัพย์ส่วนที่ยังเป็นหนี้สินยังไม่ถือเป็นฐานะเพราะยังไม่ใช่ของเราในปัจจุบัน
สมมุติโรงงานทั้งหมดคือสินทรัพย์รวมของบริษัท เงินทุนในการสร้างโรงงานอาจจะมาจากเงินลงทุนของเจ้าของ และหรือ เงินกู้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธการดำเนินธุรกิจของบริษัท ฉะนั้นการจะดูว่ากิจการนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ เราคงจะเลือกดูจากเงินลงทุนของเจ้าของมากกว่ามูลค่าของโรงงานที่มีภาระหนี้รวมอยู่ด้วย
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นคนคือหน่วยเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดในระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียงจึงสามารถใช้ได้กับทุกหน่วยเศรษฐกิจในระบบ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามการสร้างหนี้สิน และไม่ใช่การกินอยู่อย่างมัธยัสถ์ แต่สามารถกู้ไปทำประโยชน์ได้
Credit : Unsplash.com (background)
เมื่อโรงงานทั้งหมดคือสินทรัพย์รวม เครื่องจักรและสายพานการผลิตก็เหมือนสินทรัพย์เพื่อการลงทุน หากมีมากก็สามารถสร้างรายได้ได้มาก การลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้จึงสะท้อนมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นของกิจการและของตัวเรา ในขณะที่สัดส่วนของเงินลงทุนหรือเงินกู้ที่ใช้กับเครื่องจักรกับตัวอาคารก็จะสะท้อนถึงทัศนคติการจัดสรรเงินของผู้บริหารด้วย
ในยามที่เกิดวิกฤตโรงงานที่สร้างจากเงินกู้ย่อมมีความเสี่ยงต่อวิกฤตมากกว่าโรงงานที่สร้างจากเงินลงทุนของเจ้าของ อัตราส่วนทั้งสองนี้จึงแสดงถึงระดับความมั่นคงและความสามารถในการสร้างรายได้หรือความมั่งคั่งของเรานั่นเองครับ
Credit : Unsplash.com (Background)
ตัวอย่างของนาย เอ ที่เริ่มกู้เงินเพื่อซื้อบ้านเมื่อมีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน และเมื่อเวลาผ่านไปงบดุลส่วนบุคคลเป็นไปตามภาพนี้
อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ของนายเอ แสดงให้เห็นว่า นายเอยังไม่ควรก่อภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นแล้ว
และอัตราส่วนการลงทุนของนายเอ แสดงให้เห็นว่านายเอกำลังเกิดสมดุลทางการเงินเนื่องจากสินทรัพย์ลงทุนเพิ่มขึ้นใกล้ 50% ทำให้มีสินทรัพย์ลงทุนที่ใกล้เคียงกับสินทรัพย์ส่วนตัว ที่มีไว้ใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายในปัจจุบันและแสดงสถานภาพในสังคม ไม่ได้มีค่าในทางเศรษฐกิจ
การมีสินทรัพย์ลงทุนในสัดส่วนที่สูงสะท้อนว่าเรามีโอกาสในการสร้างรายได้แบบ Passive Income ที่ต่อเนื่องเพื่อช่วยสร้างอิสรภาพทางการเงินจากทรัพยสินและทำให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้
ในบทความตอนแรก มีตัวอย่างทางเลือกของการจัดสรรเงินเปรียบเทียบจากจำนวนเงินกู้ซื้อบ้านแต่ละจำนวน หากดูเฉพาะค่าผ่อนชำระทางเลือกทั้งสามดูจะเป็นทางเลือกใดก็ได้ แต่เมื่อนำอัตราส่วนทั้งสองนี้เข้าไปประกอบการตัดสินใจจะช่วยให้เราสามารถตัดทางเลือกที่ทำให้เรามีสัดส่วนหนี้สินที่มากเกินไปและทางเลือกที่ทำให้เรามีเงินออมระยะยาวต่ำเกินไปจนทำให้เรามีเงินไม่พอใช้ในระยะยาวออกไปได้
การนำหลักความพอประมาณและหลักการมีเหตุมีผลมาใช้ร่วมกันจะทำให้เราสามารถเดินทางไปบนทางสายกลางตลอดเส้นทางข้ามทะเลทรายได้ตามแผนเดินทางในยามปกติ แต่บนเส้นทางเดินอาจมีอุปสรรคที่ไม่คาดคิดเช่นกัน หลักที่สามคือการเตรียมการสำหรับรับมืออุปสรรคบนเส้นทางครับ
หลักการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี
ภูมิคุ้มกันทางการเงินจะช่วยให้เราผ่านปัญหาและอุปสรรคที่ไม่คาดฝันและไม่ได้เกิดขึ้นตามปกติ ภูมิคุ้มกันหลักๆ ที่เราควรมี ประกอบด้วย
1. ภูมิคุ้มกันด้านสภาพคล่อง
ในการเดินทางจริงสภาพคล่องก็คือน้ำ หากเราเดินหลงทางและต้องเสียเวลาบนเส้นทางเพิ่ม ปริมาณน้ำที่เรามีติดตัวจะบอกให้เรารู้ว่าเราจะมีชีวิตรอดเพื่อไปให้ถึงโอเอซิสได้นานแค่ไหน สภาพคล่องจึงเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้นในยามฉุกเฉิน โดยปกติเราควรมีสภาพคล่องในรูปเงินสด เงินฝากบัญชีธนาคาร หรือกองทุนตลาดเงินไว้ให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3-6 เดือน แต่บางช่วงเวลาที่จำเป็นเราอาจต้องเพิ่มสภาพคล่องให้มากกว่า 6 เดือนตามสถานการณ์
Credit : Unsplash.com (Background)
ตามตัวอย่างของนาย เอ สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลเท่ากับ 50,000 บาท ในขณะที่นายเอ มีรายจ่ายต่อเดือน 22,500 บาท/เดือน นายเอจึงมีสภาพคล่องพื้นฐาน 2.22 เดือน ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามปกติ (3 เดือน) และต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะมีในปัจจุบัน (6 เดือน) แสดงว่าหากเกิดปัญหาด้านรายได้ นายเอ จะเริ่มมีปัญหาทางสภาพคล่องการเงินภายใน 2 เดือน
หากไม่มีทางเลือกนายเอ ต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนหรือสินทรัพย์ส่วนตัวไปเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องในระยะสั้น ซึ่งจะกระทบกับเป้าหมายระยะยาว
เมื่อขาดสภาพคล่อง คนจะรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาใหญ่ แต่หากสังเกตุให้ดีจะพบว่า การเปลี่ยนสินทรัพย์อื่นๆ เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง ไม่ได้กระทบความมั่งคั่งของนายเอ แต่ความมั่งคั่งของนายเอจะลดลงจากการขาดหายไปของรายได้ เมื่อเรามีความเข้าใจที่ดี เราก็จะตัดสินใจแก้ปัญหาได้ด้วยทางเลือกที่ดี
2. ภูมิคุ้มกันด้านรายได้
ทำได้โดยการการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ไม่ว่าจะเป็น Active Income หรือ Passive Income เพื่อเพิ่มรายได้และช่วยลดความเสี่ยงของการขาดหายไปของรายได้จากทางใดทางหนึ่ง Passive Income เป็นรายได้ที่จะนำไปสู่อิสรภาพทางการเงิน จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจผ่านการออมและการลงทุน
Credit : Unsplash.com (Background)
3. ภูมิคุ้มกันด้านความมั่งคั่ง
การกระจายพอร์ตการลงทุนและการออมให้เหมาะสมกับเราคือการจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เมื่ออายุยังน้อยจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าเมื่ออายุมาก คนมีหนี้น้อยก็อาจรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนมีหนี้มาก อย่างน้อยเราควรศึกษาทำความเข้าใจเรื่องการกระจายพอร์ตการลงทุนและการออมเพื่อเอาไว้ตัดสินใจเลือกแนวทางหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
Credit : ตามภาพ / Unsplash.com (Background)
4. ภูมิคุ้มกันสำหรับคุ้มครองภาระต่างๆ
หากเรามีภาระรับผิดชอบด้านการเงิน และเราไม่ได้มีสินทรัพย์ที่จะรองรับภาระเหล่านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับเรา เราก็ควรจะทำประกันคุ้มครองด้านความเสี่ยงที่จะเกิดกับภาระเหล่านี้ไว้ด้วย
เพียงการทำงบดุล งบรายรับรายจ่าย และนำ 4 อัตราส่วนทางการเงินนี้มาใช้งาน เราก็สามารถเดินบนทางสายกลางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะทำให้ชีวิตของเราก้าวไปอย่างมั่นคง ให้เราสามารถสร้างสมดุลทางการเงินได้ ชีวิตที่เดินตามกรอบเส้นทางนี้ก็จะเป็นชีวิตที่เพียงพออย่างยั่งยืน
และเรื่องสุดท้าย...ความรู้คู่คุณธรรม คุณธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมเรื่องความเพียร และความซื่อสัตย์ไม่เบียดเบียน เราต้องเพียรที่จะพัฒนาตัวเราอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเรามีความเพียงพอแล้วเราก็ควรแบ่งปันให้กับสังคมด้วย
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตอนท้ายบทความครับ บทความนี้เขียนขึ้นจากความรู้และความเข้าใจของผม หากมีความคลาดเคลื่อน มีความเห็นหรือมุมมองอะไรสามารถเสริมหรือให้ความเห็นได้เพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พ่อสร้างไว้ให้เราครับ
และย่อหน้าสุดท้ายของบทความนี้ อยากจะให้ความเห็นว่า ถังน้ำมันใบถัดไปที่เรากำลังจะต้องก้าวไป อาจเป็นถังน้ำมันใบที่เดินทางไปถึงได้ยากลำบากกว่าถังใบที่เราเดินผ่านๆ มา ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะครับ
Credit : Unsplash.com
ขอขอบคุณแหล่งที่มาอ้างอิงประกอบบทความ :
ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
รวมพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
หมายเหตุ : บทความนี้อาจใช้ศัพท์ไม่ถูกต้องเพราะไม่ค่อยสันทัด ใครที่มีความรู้สามารถช่วยแก้ไขนะครับ ขอบคุณครับ
และขอบคุณคุณมูฟ เพจ MovieTalk มูฟวี่ชวนคุย สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาครับ
#เพราะเหตุนี้...เราจึงใกล้ชิดพ่อ
โฆษณา