18 ก.ย. 2020 เวลา 23:09 • ท่องเที่ยว
🍄สุดสัปดาห์พาเที่ยวไทย🍄 ตอนที่ 5
สุดสัปดาห์นี้ยังอยู่ที่อยุธยานะคะ😀 ตามที่ได้สัญญาไว้ว่าจากประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้ต้องกลับไปรื้อหนังสือวรรณคดีมาอ่าน...
“🌿วัดตะไกร :วัดที่ปลงศพนางวันทอง ในเรื่องขุนช้างขุนแผน “🌿
แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง...อย่าเพิ่งทำหน้าเบ้กันสิคะ 😁...วรรรณคดีคือตัวหนังสือที่ร้อยเรียง อย่างประณีต อ่านเพื่อจินตนาการกลับไปยุคที่กวีเขียนเรื่องขึ้นมา...
คนสมัยนั้นอยู่อย่างไร กินอะไร ทำอะไรเหมือนหรือต่างจากปัจจุบันนี้บ้าง...รู้อดีต ทำให้รู้ต้นเหตุของปัจจุบัน ข้อมูลนำมาใช้สร้างอนาคต ....คร่อก..ฟี้....🙃😊🙃...เดี๋ยวๆ ๆ..ตื่นขึ้นมาก่อนค่ะ...
จริงๆแล้ว เรื่องขุนช้างขุนแผน คือความบันเทิงใจของคนยุคก่อน จะเรียกว่าเป็นนิยายประโลมโลก ก็ไม่ผิด บางท่านก็ว่าเป็นหนังสือที่ไร้ศีลธรรมเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี..เอ้อ..อย่างนี้ค่อยรู้สึกอยากอ่านขึ้นมาหน่อย😀😀😀ใช่ไหมคะ?
จนกระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องนำมาตีความใหม่ เขียนเป็นหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่”พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 เพื่ออธิบายว่าทำไมคนที่ “ยังไม่ได้อ่านหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผน ความเป็นไทยนั้นก็ยังไม่ครบ”
เพราะในเรื่องนี้มีพรรณาโวหาร ที่บรรยายชีวิตของคนอยุธยาตั้งแต่เกิด ตั้งชื่องานบวช งานแต่งงาน การจัดบ้านเรือน สัตว์และพันธุ์ไม้ในป่า ไปจนกระทั่งงานศพ ครบครัน
หนังสือ ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
พี่เขียนก็ยังไม่ครบค่ะ...อ่านวรรณคดีครั้งล่าสุดตั้งแต่มัธยมต้นแล้วก็ไม่ได้จับอีกเลย!แปลกนะคะ เด็กที่เรียนมาทางด้านวิทย์ ไม่ต้องเรียนแล้วหรือคะ เรื่องกาพย์กลอนกวีศิลป์? ...
โชคดีที่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ของหม่อมคึกฤทธิ์มาดองไว้นานแล้ว ได้เวลาอ่านเสียทีค่ะ 😀...อ่านแล้วก็ต้องไปหาฉบับเต็มมาอ่านเพิ่มเติมอีก...อ่านให้รู้ไปกับตาสิว่าเป็นอย่างไรแน่😮
หลังจากนั่งอ่านจนตาแฉะเพราะวางไม่ลง ก็ค้นพบว่า เรื่องขุนช้างขุนแผน นี่คือซีรี่ย์มหากาพย์ ใน Netflix ของชาวอยุธยาเลยล่ะค่ะ ...😀 มีทุกบท ทุกอารมณ์ ทั้งบู๊ล้างผลาญ วิชาคาถาอาคม ออกศึกรบ ศึกรัก บทพระนางในไร่ฝ้ายไปจนถึงในห้องนอน!
ถึงแม้กรุงศรีอยุธยาจะแตกพ่าย ไฟไหม้เผาต้นฉบับหนังสืออื่นๆไปเกือบหมด แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ยังส่งต่อมาได้ เพราะ คนขับเสภาเขาจำไว้ ขับส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ไม่สูญหายไปไหน
ไปเที่ยวอยุธยาคราวนี้ดี มีโอกาสกลับไปรื้อฟื้นวรรณคดีศรีอยุธยากันค่ะ❤️
วัดร้าง เจดีย์เก่า และป่าช้า
🚩ไปถึงอยุธยา ซึมซับบรรยากาศวัดร้าง เจดีย์เก่า ท่ามกลางหญ้ารกล้อมคูน้ำ
จอกแหนแผ่เขียวคลุมผิวน้ำดั่งพรมกำมะหยี่
มองลงไปในน้ำนิ่ง ภาพสะท้อนวิหารเด่นชัด ยามพลบค่ำแสงเทียน แสงไต้ที่จุดไว้ตามกำแพง วิบวับแวมตามแรงลม
เสียงผู้หญิงร้องไห้ดังซิกๆมาจากด้านหลังวิหาร...ตรงที่เป็นป่าช้า.. 😢 แว่วเพลงขับเสภา เสียงเย็นยะเยือกฟังวังเวง...
วิหาร เจดีย์ และป่าช้า วัดตะไกร อยุธยา
“🎈ครวญครํ่ารํ่าเรียกแม่วันทองเอ๋ย
เจ้าช่างเฉยเสียได้ไม่ทักพี่
แม่มานอนอยู่ไยในปัถพี
ตัดช่องน้อยหนีไปแต่ตัว
เสียแรงรักกันมาแต่ไร
ร่วมเรือนร่วมใจแล้วร่วมผัว
สุขทุกข์ปรองดองไม่หมองมัว
พันพัวเลี้ยงกันมาแต่น้อย”🎈
เดินตามเสียงร้องไห้ไป..เหมือนเดินทะลุผ่านม่านหมอกมัว ที่กั้นกลางห้วงเวลาไว้...🤫
นางสายทอง (ตอนสาว) พี่เลี้ยงพิมพิลาไลย(วันทอง)
กลิ่นดอกมะลิ อวลกลิ่นน้ำอบน้ำปรุงลอยมา
กระทบจมูก..หอมเย็นๆพาให้ขนลุกซู่.. ..
เหลือบมองตามเสียง พลันสายตาก็ประสบพบหญิงสาวใหญ่ แต่งชุดโบราณนุ่งผ้าห่มสไบ นั่งหันหลังอยู่😮
“พี่คะ..คุณพี่..มานั่งร้องไห้อยู่ทำไมคะ?”..รวบรวมความกล้า กลั้นใจถามออกไป
นางหันหน้าเปื้อนน้ำตากลับมาจ้องเขม็ง แล้วกล่าวว่า “ วันทองน้องของพี่.. อยู่เรือนเดียวกันตั้งแต่เล็ก ต้องมาตายวายชีวาไม่ได้ร่ำลากันเลย” ว่าแล้วนางก็หันกลับไปร่ำไห้ต่อ😥.....ฮือ..ฮือ...ฮือ...
นางสายทอง กางร่มให้พิมพิลาไลย(วันทอง)
นี่ต้องเป็นนางสายทอง พี่เลี้ยงของวันทองแน่ๆเลย! บ้านนางอยู่สุพรรณ จึงมาไม่ทันเห็นใจน้อง
เพชฌฆาตฟาดดาบประหารนางวันทอง ลงไปนอนในหลุมเรียบร้อยแล้ว!
“🎈ถามว่าศพวันทองน้องอยู่ไหน
ขุนแผนบอกว่าฝังวัดตะไกร
แล้วให้คนนำไปในฉับพลัน
สายทองร้องไห้ลงจากเรือน
ฟั่นเฟือนถ่อกายผายผัน
ครั้นถึงป่าช้ายิ่งจาบัลย์
นางโศกศัลย์ซวนซบสลบไป”🎈
ที่นี่แหละ วัดตะไกร ป่าช้าฝังศพนางวันทอง ในเย็นวันที่ถูกประหาร ก่อนที่จะขุดขึ้นมาทำพิธีใหญ่โตให้สมเกียรติจมื่นไวยผู้เป็นลูกในวันรุ่งขึ้น
วัดตะไกร อยุธยา
ไหนๆก็เดินย้อนเวลากลับไปแล้ว เราจะยังไม่รีบกลับมายุคปัจจุบันกันนะคะ
เดินดูรอบๆวัด อากาศขมุกขมัวยามบ่ายๆเย็น ๆ พาให้เศร้าใจไปกับชะตาชีวิตของหญิงคนหนึ่งที่โลดแล่นไปตามลิขิตของผู้อื่น และจบชีวิตลงอย่างอยุติธรรม😥
สระน้ำ หนึ่งใน สองสระ วัดตะไกร ที่ฝังศพนางวันทอง
ฉากตอนที่นางวันทองรอการประหารชีวิตในตอนบ่าย ถือเป็นฉาก”ไคลแมกซ์ “ของเรื่องขุนช้างขุนแผน เลยทีเดียวค่ะ เพราะ มีการรวมตัวกันของแทบทุกคนที่รักนาง มีการกล่าวร่ำลาระหว่างแม่ลูก เรียกว่าเป็น “ดราม่า “หาผ้าซับน้ำตากันไม่ทัน น้ำตาท่วมจอ
๏ “ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง
เศร้าหมองสะอึกสะอื้นไห้
ส้วมกอดลูกยาด้วยอาลัย
น้ำตาหลั่งไหลลงรินริน
วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว
จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน
ผินหน้ามาแม่จะขอชม”
“กลับไปบ้านเถิดลูกอย่ารอเย็น
เมื่อเวลาเขาฆ่าแม่คอขาด
จะอนาถไม่น่าจะแลเห็น
เจ้าดูหน้าเสียแต่แม่ยังเป็น
นึกถึงจะได้เห็นหน้ามารดา ฯ
ร่ำพลางนางกอดพระหมื่นไวย
น้ำตกไหลซบเซาไม่เงยหน้า
ง่วงหงุบฟุบลงกับพสุธา
กอดลูกยาแน่นิ่งไม่ติงกาย “
ฟังร่ายยาวการรำ่ลาระหว่างวันทองกับขุนแผน
“ขุนแผนฟังคำที่ร่ำว่า
ไม่ออกปากพูดจาต่อไปได้
สุดคิดอัดอั้นให้ตันใจ
สุดอาลัยล้มผางลงกลางดิน
ฝูงคนมาดูอยู่ที่นั่น
ไม่อาจกลั้นโศกได้ร้องไห้สิ้น
ทั้งหนุ่มสาวเถ้าชราน้ำตาริน
ได้ยินแต่ร้องไห้พิไรครวญ
ดังป่ารังประดังด้วยลมกล้า
พัดสาขากิ่งก้านสะท้านป่วน
ที่ใจอ่อนเป็นลมล้มซบซวน
ด้วยเห็นจวนตะวันบ่ายลงชายไพร ฯ”
เป็นบทโศกของทั้งพระเอกนางเอก ชาวบ้านที่มาห้อมล้อมรอดูการประหาร ถ้าทำเป็นละครซีรี่ย์สมัยนี้ คงเป็น ละครบทเศร้า!
มีการตัดตอน “แฟลชแบ็ค” สรุปย้อนทบทวนอดีตของขุนแผนวันทองที่เคยมีชีวิตระหกระเหินเดินป่าด้วยกันมา
ขุนแผน พานางวันทองระหกระเหินในป่า
๏ ขุนแผนแสนโศกสงสารน้อง
นิ่งนั่งฟังวันทองให้อัดอั้น
นางหันมากอดเท้าเข้าจาบัลย์
ขุนแผนนั้นหน้าซบกับหลังเมีย
สะท้อนสะทึกสะอึกสะอื้นไห้
ออกปากน้ำตาไหลลงราดเรี่ย
เสียแรงทรมานตัวทั้งผัวเมีย
เขี่ยดินเลี้ยงกันเหมือนหนึ่งนก
เที่ยวอาศัยในดงพงชัฏ
สู้ผลัดผ้านุ่งทำมุ้งปก
ขุดเผือกมันกินตามถิ่นรก
ตกยากเท่าไรไม่ไกลกัน”
เหตุการณ์ขณะนำนางวันทองสู่ “ตะแลงแกง” หรือทางสี่แพร่ง ที่เป็นการประหารนักโทษต่อหน้าธารกำนัล เป็นอีกฉากที่บรรยายได้เห็นภาพความโกลาหล
“คนดูล้อมพร้อมพรั่งดังกำแพง
ตะแลงแกงจนหามีที่ยืนไม่”
หลังจากกอดรำ่ลาจนครบ เวลาเกือบจะเย็นแล้ว จึงคิดขึ้นมาได้ว่า พระไวยลูกชายนางวันทอง ควรจะเข้าไปขอพระราชทานอภัยโทษให้มารดาของตน ขอให้เจ้าพระยายมราชผู้อำนวยการประหารรอก่อน จนกว่าจะรู้ผล
พระไวยรีบเดินเข้าวังไปขออภัยโทษได้สำเร็จ อารามดีใจจึงรีบขึ้นม้าขี่กลับมาอย่างรวดเร็ว ฝ่ายเจ้าพระยายมราชเห็นคนขี่ม้ามาไวๆ ถือธงขาวโบกมาด้วย นึกว่า ไม่ใช่พระไวย (ก็พระไวยเดินไปนี่นา) แต่เป็นผู้ที่ขี่ม้ามา คงจะเร่งให้ประหารเป็นแม่นมั่น
ฆ่านางวันทอง ภาพวาดโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ประกอบหนังสือเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน สำนวนกาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504
“เพชฌฆาตราชมัลเข้ายื้อยุด
ฉุดวันทองกลัวอยู่ตัวสั่น
เหลียวมาเรียกผัวกลัวเขาฟัน
ขุนแผนดันโดดข้ามผู้คุมมา
ขบฟันกั้นกอดวันทองไว้
ขุนช้างร้องไปชิงไว้หวา
เพชฌฆาตดาบยาวก้าวย่างมา
ขุนแผนโถมถาคร่อมเมียไว้
ฉุดคร่าคว้ากันอยู่ดันดึง
ฟันผึงถูกขุนแผนหาเข้าไม่
ดาบยู่บู้พับยับเยินไป
เข้ากลุ้มรุมฉุดได้ขุนแผนมา
ขุนแผนฮึดฮัดกัดฟันเกรี้ยว
บิดตัวเป็นเกลียววางกูหวา
เพชฌฆาตแกว่งดาบวาบวาบมา
ย่างเท้าก้าวง่าแล้วฟันลง”
ขอตัดบทลงที่ตรงนี้ค่ะ ประโยคต่อไปอ่านแล้วนึกภาพตาม...น่าหวาดเสียว ..รายการต่อไปนี้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ไม่ควรดู...
“พวกคนมาดูอยู่อัดแอ
บ้างล้มกลิ้งนิ่งแน่บ้างวิ่งหนี
บ้างก็เข้านวดฟั้นคั้นคะยี
แก้กันอึงมี่เป็นหมู่ไป”
เราก็ได้ถึงตอนจบของรักสามเส้าระหว่าง ขุนแผน ขุนช้าง และนางวันทอง โดยนางวันทองต้องจบชีวิตลง ด้วยเหตุอันใดเห็นทีจะต้องเล่าเรื่องท้าวความไปอีกยาวไกล
พี่เขียนก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางอักษรศาสตร์ เป็นเพียงคนธรรมดาที่สนใจอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผน เพื่ออรรถรสทางภาษา
🎈เอาเป็นว่า จะวิเคราะห์ด้วยความรู้ความเข้าใจแบบบ้านๆว่า รู้สึกอย่างไรกับการตัดสินประหารชีวิตนางวันทอง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ถ้าตัวเราเป็นวันทองจะตัดสินใจอย่างไร รออ่านในครั้งหน้านะคะ (ยังไม่กำหนดเวลา ไม่รู้ว่ามีคนอยากอ่านไหม5555)🎈
หน้าปกหนังสือ ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2544)
อ่านขุนช้างขุนแผนฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณได้ที่นี่ค่ะ
โฆษณา