17 ม.ค. 2019 เวลา 05:55 • ธุรกิจ
Bill Gates (Ep11) : จุดจบกับไอบีเอ็ม และมิตรภาพต่างตอบแทนกับสตีฟ จ็อบส์
นับตั้งแต่ไมโครซอฟต์ทำสัญญาร่วมกับไอบีเอ็มที่จะพัฒนา OS/2 ความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ทั้งสองเริ่มไม่ค่อยไว้ใจซึ่งกันและกัน ปี 1985 ปีที่เริ่มทำสัญญานี้ ไมโครซอฟต์นำโปรแกรมสเปรดชีตตัวใหม่ล่าสุดที่เขียนมาสำหรับเครื่องแมคอินทอชของแอปเปิ้ลโดยเฉพาะในชื่อ “Excel” ออกสู่ตลาด ซึ่งเหมือนเป็นการหักหลังไอบีเอ็ม
ที่จริงเขาเริ่มทำโปรแกรมตัวนี้ตั้งแต่ปี 1980 โดยใช้ชื่อว่า Multiplan ตอนแรกมันถูกออกแบบมาให้ใช้ได้กับเครื่องพีซีได้เกือบทุกระบบรวมถึงไอบีเอ็มด้วย แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก ยังสู้ VisiCalc จากค่ายแอปเปิ้ลไม่ได้
ส่วนในตลาดพีซีก็มีโลตัส 1-2-3 เข้ามาเป็นคู่แข่งสำหรับโปรแกรมด้านนี้ โลตัส 1-2-3 มาเหนือเมฆ มันถูกออกแบบมาสำหรับเครื่องไอบีเอ็มโดยเฉพาะ ทำให้ได้ใจยักษ์ใหญ่สีฟ้าไปเต็มๆ
1
ตอนนี้ในตลาดโปรแกรมสเปรดชีตกลายเป็น VisiCalc สำหรับแอปเปิ้ล และ โลตัส 1-2-3 สำหรับพีซีของไอบีเอ็ม เล่นเอา Multiplan ของไมโครซอฟต์แทบไม่มีที่ยืนในตลาดเลย
Steve Jobs & Bill Gates (1985) - Photo by Andy Freeberg
เกตส์และทีมงานวางแผนกันอย่างหนักในการนำ Multiplan ลงสู้ศึกกับโลตัส...ไมโครซอฟต์เชื่อว่าตลาดเดียวที่ไมโครซอฟต์จะชนะ โลตัส 1-2-3 ได้คือตลาดของเครื่องแมคอินทอช ที่มีเทคโนโลยีทางด้านกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ เพราะวินโดวส์ของเขายังไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำให้สเปรดชีตทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างโอเอสของเครื่องแมคอินทอช
และการที่ไมโครซอฟต์พัฒนาโปรแกรมสำหรับเครื่องแมคอินทอช จะทำให้พวกเขาได้ประสบการณ์และนำเทคโนลียีอันล้ำสมัยของแมคอินทอชมาใช้ในการพัฒนาวินโดวส์ของพวกเขาเองอีกด้วย
แล้วเทพีแห่งโชคก็มักจะเข้าข้างเกตส์เสมอ Visicalc มีปัญหาทางเทคนิคบางประการจนต้องออกจากเกม ตอนนี้เหลือเพียง Multiplan ของไมโครซอฟต์และโลตัส 1-2-3 ในสนามเท่านั้น
ในที่สุดการตอบโต้ของไมโครซอฟต์ในตลาดสเปรดชีตก็เกิดขึ้นในปี 1985 ไมโครซอฟต์เปลี่ยนชื่อโปรแกรมตัวนี้จาก Multiplan เป็น Excel ที่แปลว่า ดีเยี่ยม
ที่จริงในช่วงแรก Excel ไม่ได้รับการต้อนรับจากจ็อบส์เลย เพราะจ็อบส์เทใจไปให้ Jazz โปรแกรมทางด้านสเปรดชีตที่โลตัสกำลังพัฒนาสำหรับแมคอินทอชของเขา เมื่อเกตส์นำ Excel ไปให้ดู จ็อบส์บอกอย่างไม่ลังเลว่าเขาจะใช้ Jazz ของโลตัสเท่านั้น...
โถๆ โดนจ็อบส์ตอบมาแบบนี้คิดว่าเฮียเกตส์จะเลิกไหม??...บอกได้เลย...ไม่มีทาง
เกตส์ไม่เคยละความพยายามอะไรง่ายๆ เขาพัฒนา Excel ต่อไปจนสำเร็จ ถึงแม้จะมีปัญหาจากทีมงานทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จก่อน Jazz ...โชคมักจะเข้าข้างเกตส์ หรือว่าเขาฉกฉวยโอกาสได้ดีกันแน่...
เขาเปิดตัว Excel อย่างเป็นทางการตัดหน้า Jazz เพียง 3 สัปดาห์ เกตส์เป็นผู้ขึ้นไปพูดบนเวที และสาธิตการทำงานต่างๆ ของโปรแกรม เขารู้อยู่เต็มอกว่าโปรแกรมของเขายังไม่เรียบร้อยนัก มันพร้อมจะแครชได้ทุกเวลา...
1
ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังทำงานอย่างหนักจนนาทีสุดท้ายก่อนเปิดตัว การสาธิตวันนั้นผ่านไปด้วยดีผู้ร่วมงานประทับใจในความสามารถของ Excel เป็นอย่างมาก
Excel for Macintosh ca.1986
เมื่อเห็นกระแสตอบรับของ Excel บวกกับความล่าช้าของ Jazz จ็อบส์รีบแถลงข่าวประกาศสนับสนุน Excel ของไมโครซอฟต์ทันที ก่อนการแถลงข่าวจบลง ผู้สื่อข่าวถามเกตส์ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ จ็อบส์ว่า
“คุณมีแผนการที่จะพัฒนา Excel สำหรับพีซีไหม???”
คุณว่าเกตส์จะตอบอย่างไรในเมื่อคนที่นั่งข้างๆ เขาคือจ็อบส์ ถ้าบอกว่าใช่ก็เหมือนกับฆ่าตัวตายชัดๆ แต่จะตอบว่าไม่ ก็ไม่ได้ วันนั้นเกตส์ตอบผู้สื่อข่าวไปอย่างฉลาดว่า
“นี่เป็นเรื่องของการเป็นผู้นำ และแอปเปิ้ลก็เป็นผู้นำเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีไว้ครอบครองได้”
ตอบแบบนี้?!? หมายความว่าไงคะเฮีย อธิบายชัดๆ ได้ไหม
ที่จริงในความหมายคลุมเครือนี้ เกตส์ต้องการจะบอกว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะใช้เทคโนโลยีกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ รวมทั้งวินโดวส์ของเขาด้วยนะ ฉะนั้นมันก็ต้องมี Excel อยู่ด้วยแน่นอน
จ็อบส์ดูเหมือนจะเข้าใจความหมายนี้รีบพูดตัดบทว่า “แน่นอน และในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตาย” การแถลงข่าวจบลงด้วยเสียงหัวเราะของทุกคน
หลังจากจ็อบส์ประกาศสนับสนุน Excel ของไมโครซอฟต์เพียงไม่นาน เขาก็หลุดจากตำแหน่งผู้บริหารของแอปเปิ้ล แต่มันก็ช่วยให้ Excel ของไมโครซอฟต์ก้าวขึ้นมาผงาดเป็นอันดับหนึ่งสำหรับโปรแกรมด้านสเปรดชีตทันที…
จึงไม่แปลกที่เราเห็นเกตส์เป็นคนหนึ่งที่ช่วยทำให้จ็อบส์หวนกลับมาทำให้แอปเปิ้ลยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ด้วยการร่วมลงทุนด้วยวงเงิน 150 ล้านเหรียญ ในการถือหุ้นแบบไม่มีสิทธิ์โหวตในคณะกรรมการของแอปเปิ้ล ซึ่งช่วยกอบกู้สถานะการณ์ให้จ็อบส์และแอปเปิ้ลเป็นอย่างมาก...
ในวงการธุรกิจใคร ๆ ก็ว่าเฮียเกตส์ใจร้าย...ดูอีกทีเขาก็มีส่วนดีอยู่บ้างนะว่าไหม
กลับมาที่ไอบีเอ็ม หลังจากตกลงทำความร่วมมือกับไมโครซอฟต์ในการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง OS/2 ในปี 1985 แล้ว ความขัดแย้งของทั้งสองมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกตส์เห็นว่าถ้ายังคงร่วมมือกับไอบีเอ็มต่อไปแบบนี้ คงไม่เป็นผลดีกับไมโครซอฟต์แน่
ไอบีเอ็มตั้งความหวังกับ PS/2 ไว้มากกว่า พีซีตัวใหม่ของเขาจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา พวกเขาคิดผิด ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ บรรจุอยู่ใน PS/2 เป็นจำนวนมาก แต่ตลาดไม่ให้การตอบรับเท่าไรนัก
ระหว่างนี้ไมโครซอฟต์ยังคงพัฒนาวินโดวส์ของพวกเขาต่อไป ในขณะที่อีกทีมก็ร่วมมือกับไอบีเอ็มพัฒนา OS/2 จนในปี 1990 ไมโครซอฟต์พัฒนาวินโดวส์ 3.0 สำเร็จก่อนที่ไอบีเอ็มจะเปิดตัว OS/2 รุ่นต่อมา
เกตส์พยายามเจรจากับไอบีเอ็มอีกครั้ง เพื่อขายสิทธิ์การใช้งานวินโดวส์ 3.0 ให้ไอบีเอ็ม...เหมือนเคยการเจรจาไม่เป็นผล
จนถึงปี 1992 วันที่ไมโครซอฟต์เข้มแข็งพอ เกตส์ตัดสินใจยกเลิกสัญญาในการพัฒนาระบบปฏิบัติการ OS/2 ที่ทำไว้กับไอบีเอ็ม และไอบีเอ็มยังคงพัฒนา OS/2 ต่อไปเพียงลำพัง
ประเมินกันว่าไอบีเอ็มใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญ และบุคลากรอีกนับพัน...แต่ทุกอย่างกลายเป็นความว่างเปล่า
ทุกวันนี้ OS/2 ของไอบีเอ็มกลายเป็นอดีตที่แทบจะไม่มีใครพูดถึงอีกเลย ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ เกือบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ OS/2 ในขณะที่ วินโดวส์กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงสุด
ไมโครซอฟต์เติบโตมาเป็นบริษัททางด้านซอฟต์แวร์รายใหญ่ ที่ครองส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มีทั้งโปรแกรมทางด้านสเปรดชีตและเวิร์ดโปรเซสซิ่งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งพวกเขารวมมันไว้เป็นชุดภายใต้ชื่อ ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ…
ในขณะที่ไอบีเอ็มต้องถอนตัวออกจากตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 2004โดยขายกิจการด้านนี้ทั้งหมดให้ Lenovo ผู้ผลิตพีซีจากจีนด้วยมูลค่า 1.75 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้ Lenovo ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตพีซีอันดับสามของโลก รองจาก Dell และ HP ทันที
ประเด็นที่น่าสนใจในการตัดสินใจขายธุรกิจพีซีให้ Lenovo แทนที่จะเป็น Dell นั้นเป็นการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ของไอบีเอ็มที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการให้บริษัทจีนเติบโตในระดับโลก ดังนั้นการที่ไอบีเอ็มช่วยให้รัฐบาลจีนสมหวังย่อมมีผลดีกับไอบีเอ็มในการทำธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดจีน
ปิดฉากความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไมโครซอฟต์และไอบีเอ็ม ถึงแม้เราจะไม่เคยได้ยินสงครามระหว่างไมโครซอฟต์และไอบีเอ็ม แต่ทั้งสองก็ไม่เคยหวนกลับมาคืนดีกันอีกเลย...…
เราได้เห็นแง่มุมวิธีการคิดของเกตส์บางส่วนในการพาไมโครซอฟต์ของเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกันแล้ว...เรื่องราวตอนต่อไปเราจะได้เห็นแง่มุมและวิธีคิดของเขาในการนำไมโครซอฟต์เข้าตลาดหุ้นในปี 1986 กันบ้าง
อย่างที่เคยเล่าไว้ในบทความตอนที่แล้วว่า เกตส์เสนอขายหุ้นให้ไอบีเอ็มถึง 30% แต่ไอบีเอ็มปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างไม่ไยดี มันน่าเสียดายเพียงใด...ฝากติดตามเรื่องราวของ บิล เกตส์ ในตอนต่อไปด้วยนะคะ
📌เนื่องจากเป็นการเขียนบทความและทำบล็อกเป็นครั้งแรก ทั้งค้นคว้าเรียบเรียงและทำภาพประกอบ ไม่ได้มีสต็อกค้างไว้ เลยทำให้บทความออกมาช้าหน่อยนะคะ... และขอขอบคุณแฟนเพจทุกท่านที่ตามให้กำลังใจกันมาตลอด...ขอบคุณมากๆ ค่ะ 😆😄😍

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา