18 ม.ค. 2019 เวลา 10:02 • ธุรกิจ
ใครๆ ก็ว่า บิล เกตส์ ขโมยความคิดเรื่อง กราฟิก ยูสเซอร์ อินเตอร์เฟซ ไปจาก สตีฟ จ็อบส์ แล้วคุณรู้ไหม สตีฟ จ็อบส์ ขโมยความคิดนี้มาจากใคร???...
ถ้าจะพูดถึง Xerox PARC หลายคนคงไม่คุ้นหูนัก...
Xerox PARC เป็นศูนย์วิจัยของ ซีร็อกซ์ บริษัทชั้นนำในด้านเครื่องถ่ายเอกสารที่เรารู้จักกันดีนั่นแหละ
1
บริษัท ซีร็อกซ์ ตั้งศูนย์วิจัยที่เมืองพาโลอัลโตตั้งแต่ปี 1970 เพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยีทางด้านดิจิตอล ในยุคเริ่มต้นของไมโครคอมพิวเตอร์
ช่วงนั้นการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน ทีมนักวิจัยจาก Xerox PARC จึงพยายามพัฒนาคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กที่ใช้งานง่าย...โดยการใช้ภาพกราฟิกแทนประโยคคำสั่ง...และทำหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีแต่ตัวอักษรให้เป็นเหมือนโต๊ะทำงาน...ที่มีเอกสารและแฟ้มข้อมูลวางอยู่...ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์แค่ใช้เมาส์เลือกสิ่งที่ต้องการเท่านั้น
ที่ Xerox PARC นี่เองเหล่านักวิจัยได้คิดค้นเทคโนโลยีการสร้างภาพกราฟิกแบบบิตแมปปิ้ง ที่ทำให้หน้าจอคอมพิวเตอร์มีสีสันที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง ถึงจะได้ภาพกราฟิก และการแสดงผลบนจอที่สวยงาม ซึ่งพวกเขาเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Graphical User Interface หรือ GUI นั่นเอง...ทีมนักวิจัยเก็บไว้เป็นความลับขั้นสุดยอด
จ็อบส์คงไม่มีโอกาสรู้เรื่องนี้เลย ถ้าในปี 1979 ซีร็อกซ์ไม่สนใจร่วมลงทุนใน Apple จ็อบส์ดีใจมากแต่ก็วางท่าพอสมควร เขายื่นข้อเสนอว่าจะยอมให้ซีร็อกซ์ร่วมลงทุนด้วย 1,000,000 เหรียญ แลกกับหุ้น 100,000 หุ้น
แต่ๆๆๆๆ.......มีข้อแม้ว่าซีร็อกซ์ต้องยอมให้เขาเข้าไปดูการทำงานของนักวิจัยใน Xerox PARC….
โอ้วๆ ...เอาเงินไปให้จ็อบส์แล้วยังจะเอาเทคโนโลยีไปให้อีก...เยี่ยมเลย Xerox...
ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ Apple กำลังเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส ซีร็อกซ์ไม่ยอมพลาดที่จะเกาะขบวนไปด้วยแน่นอน จ็อบส์อยากได้อะไรก็ได้ตามนั้นเลย
ซึ่งก็นับว่ายังเป็นโชคดีของซีร็อกซ์ ปีต่อมาที่ Apple กลายเป็นบริษัทมหาชน หุ้นของซีร็อกซ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 17.6 ล้านเหรียญเลยทีเดียว แต่จะได้คุ้มเสียหรือเปล่าต้องดูกันยาวๆ...กับเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้
1
ด้วยสัญญาดังกล่าว จ็อบส์และทีมงานจาก Apple ขอเข้าไปดูงานใน Xerox PARC ทันที ศูนย์วิจัยแห่งนี้ถูกสร้างให้ห่างจากสำนักงานใหญ่ของซีร็อกซ์หลายพันไมล์ เพื่อให้นักวิจัยได้ทำงานโดยปราศจากแรงกดดันเชิงพาณิชย์จากสำนักงานใหญ่
....คุณคิดว่าเหล่านักวิจัยจะรู้สึกยังไงกับการมาของจ็อบส์และทีมงานในครั้งนี้?
แน่นอน...พวกเขาไม่พอใจและไม่ต้องการเปิดเผยเทคโนโลยีใดๆ ให้จ็อบส์ พวกเขานำเทคโนโลยีพื้นๆ มาสาธิตให้จ็อบส์ดู จ็อบส์ยังไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เขาโทรไปที่สำนักงานใหญ่ขอให้จัดเทคโนโลยีชุดใหม่มาให้เขาดู...แน่นอนสำนักงานใหญ่ต้องการเอาใจจ็อบส์ สั่งให้ทีมนักวิจัยนำผลงานมาให้จ็อบส์ดูเพิ่ม
จ็อบส์และทีมงานไปถึง Xerox PARC ที่พาโลอัลโตแต่เช้า เห็นนักวิจัยกำลังวิ่งวุ่นเตรียมจัดการสาธิตให้เขา วันนั้นวิศวกรจาก Xerox PARC สาธิตการทำงานของโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสซิ่งให้พวกเขาดู พร้อมด้วยโปรแกรม Smalltalk บางส่วนที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นความลับ
จ็อบส์นั่งดูด้วยความเบื่อหน่าย เขารู้ว่าที่นี่มีสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น ด้วยนิสัยที่ไม่อดทนของเขา จ็อบส์จัดการโทรไปโวยวายสำนักงานใหญ่ ทีมนักวิจัยจึงต้องจัดการสาธิตชุดใหม่ให้จ็อบส์ดูทันทีทั้งๆ ที่ไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก
พอเริ่มการสาธิต จ็อบส์และทีมงานจาก Apple ถึงกับตาค้าง จ้องดูการทำงานของแต่ละพิกเซลจนตาไม่กระพริบเลยทีเดียว พวกเขาตื่นเต้นกันมาก ทำเหมือนมีเครื่องหมายตกใจอยู่บนหน้าตลอดเวลา!!!!! จากนั้นก็ยิงคำถามไม่หยุด.....
1
ถ้าใครได้อ่านประวัติของจ็อบส์จะรู้ว่าเขาเป็นคนเก็บอารมณ์ไม่ค่อยเก่ง เขาวิ่งวนไปรอบห้องอย่างตื่นเต้นพร้อมกับพูดว่า
“พวกคุณนั่งทับเหมืองทองอยู่ได้ยังไง ผมไม่เข้าใจว่าทำไมซีร็อกซ์ ไม่ยอมเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้”
แน่นอนสิ่งที่จ็อบส์เห็นวันนั้นคือเทคโนโลยีกราฟิกยูสเซอร์อินเตอร์เฟซ เขารีบนำเอามันมาพัฒนาต่อยอดในคอมพิวเตอร์ของเขาทันที...
และการบุกเข้าไปที่ Xerox PARC ของจ็อบส์ในครั้งนั้นถูกกล่าวขานว่าเป็นการจารกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
จ็อบส์ไม่เคยปฏิเสธในเรื่องนี้ เขาเห็นว่า Apple ฉกไอเดียจากใครมาเท่าไหร่ ก็ยังไม่เท่าซีร็อกซ์ที่เอาไอเดียคนอื่นมาทำแล้วคว้าน้ำเหลว...ผู้บริหารไม่เคยรู้เลยว่าคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง เอาแต่ขยะของคู่แข่งเก่งๆ มาทำ โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองมีของดีอยู่ในมือ...เจ็บจี๊ดเลยมั้ยล่ะ
ที่จริงซีร็อกซ์ก็ทำคอมพิวเตอร์ของตัวเองมาขาย โดยใส่เทคโนโลยีที่พวกเขามีทั้งหมดเข้าไปในนั้น ทั้งการแสดงภาพแบบกราฟิก การใช้เมาส์ การแสดงภาพแบบบิตแมป หน้าต่างแสดงการทำงาน และเทคโนโลยีการทำงานแบบเดสก์ท็อป พวกเขาใช้ชื่อว่า Xerox Star แต่มันทำงานได้ช้ายังกับเต่าคลาน...และราคาที่สูงถึง 20,000 เหรียญซึ่งนับว่าแพงมากกกกก.... จึงขายได้แค่ไม่กี่หมื่นเครื่อง...
แม้ซีร็อกซ์จะประสบความสำเร็จในการหาตัววิศวกรเก่งๆ แต่พวกเขาไม่สามารถพัฒนางานนั้นออกสู่ตลาดได้ ผู้บริหารไม่สามารถนำไอเดียไปสร้างมูลค่า เหล่านักวิจัยจึงทยอยไปหางานใหม่ที่ดูจะสดใสมากกว่า
ซิโมเน่ย์ ผู้พัฒนาโปรแกรมด้านเวิร์ดโปรเซสซิ่งร่วมกับการใช้เมาส์ ว่ากันว่าเขาพัฒนาการใช้เมาส์ได้ก่อน Apple ถึง 11 ปี มาร่วมงานกับไมโครซอฟต์ และเป็นหัวแรงใหญ่ในการพัฒนาโปรแกรมทางด้านสเปรดชีตของไมโครซอฟต์
อลัน เคย์ ผู้พัฒนารูปแบบวินโดวส์ และระบบ Pull-Down Menus ลาออกจากซีร็อกซ์ไปอยู่อตาริ และท้ายที่สุดก็ไปอยู่ที่ Apple
ลาร์รี่ เทสเลอร์ ก็เป็นอีกคนที่นำความรู้จาก Xerox PARC ไปช่วยจ็อบส์ทำงานที่ Apple
โรเบิร์ต เม็ทคาล์ฟ ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับอีเธอร์เน็ตและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ไปตั้งบริษัท 3Com ซึ่งต่อมาเป็นบริษัทชั้นนำด้านระบบเครือข่าย
ส่วน จอห์น วาร์น็อค ออกไปตั้ง Adobe Systems และเป็นผู้ปฏิวัติโปรแกรมเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์สำหรับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ จนเป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างกว้างขวางในตระกูล Adobe อย่างโปรแกรม Photoshop และ Illustrator
ระบบต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันปัจจุบันหลายระบบมีที่มาจากทีมนักวิจัยจาก Xerox PARC แทบทั้งสิ้น แต่บริษัทซีร็อกซ์เจ้าของห้องวิจัยกลับไม่เคยมีชื่อเสียงในด้านนี้เลย...น่าเสียดายจริงๆ
ฝากติดตามเรื่องเล่าสนุกๆ ในโลกไอทีแบบ พอดี-พอดี ด้วยนะคะ...
ตอนต่อไปตามที่สัญญา มุมมองและวิธีคิดในการนำไมโครซอฟต์เข้าตลาดหุ้นของ บิล เกตส์ หักเหลี่ยมกันอย่างไร ถึงขนาดทำให้คนของโกลด์แมน แซคส์ แทบเป็นลม.....

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา