1 พ.ค. 2019 เวลา 10:11 • การศึกษา
ภูเขาไฟในประเทศไทย
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเป็นเขตที่มีภูเขาไฟหนาแน่นและปะทุอยู่ตลอดเวลา แต่จะว่าไปแล้ว ในไทยเราก็มีภูเขาไฟอยู่หลายแห่ง
มาอ่านกันต่อค่ะ
💬 บอกกันก่อน นี่ว่ากันเฉพาะที่เห็นเด่นชัด แต่จะว่ากันตามหลักฐานทางธรณีวิทยาแบบเป๊ะๆ จะเยอะกว่านี้
📌 ประเทศไทยมีภูเขาไฟ 7 แห่ง
ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทหมดแล้ว
โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีมากสุด 5 แห่งได้แก่
➡ ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง
➡ ภูเขาไฟอังคาร
➡ ภูเขาไฟหินหลุบ-ภูเขาไฟคอก
➡ ภูเขาไฟกระโดง
➡ ภูเขาไฟไบรบัด
ส่วนที่จังหวัดลำปางมี 2 แห่ง
➡ ภูเขาไฟ ดอยผาดอกจำปาแดด
➡ ภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู
📖 มาดูรายละเอียดภูเขาไฟแต่ละลูกกันค่ะ
1. ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง สถานที่เขาพนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
ภูเขาไฟลูกนี้ตั้งอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบกรวยลาวา จุดสูงสุดอยู่ที่ 386 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสูงจากที่ราบโดยรอบประมาณ 180 เมตร ปากปล่องอยู่ที่ศูนย์กลางเนินภูเขาไฟ กว้างราว 300 เมตร รูปร่างคล้ายชามและมีความลึกจากขอบปล่องประมาณ 70 เมตร บนเขายังประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง คาดว่าภูเขาไฟลูกนี้ดับมาแล้ว 1.2ล้านปี
ภาพ เพจ Hug Burirum
2. ภูเขาไฟหินหลุบ และภูเขาไฟคอก จ.บุรีรัมย์
“ภูเขาไฟหลุบ” อยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ “ภูเขาไฟเขาคอก” ตั้งอยู่ในอำเภอประโคนชัย ภูเขาไฟทั้งสองแห่งนี้ เเม้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาในเรื่องเกี่ยวกับภูเขาไฟของไทยได้เป็นอย่างดี
“ภูเขาไฟหินหลุบ” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ มีร่องรอยปากปล่องปฝเป็นรูปโค้งยาว ขนาดกว้าง 2 ก.ม. ยาว 4 ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร ยอดสูงราว 235 เมตรจากระดับน้ำทะเล
“ภูเขาไฟคอก” อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเพราะสภาพไม่ชัดเจน แต่มีความสำคัญเพราะเป็นต้นกำเนิดห้วยเสวและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา
ปากปล่องภูเขาไฟคอก ภาพ เพจ อบต. จรเข้มาก
3. ภูเขาไฟอังคาร สถานที่ภูพระอังคาร ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
ตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ใกล้ภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นเนินเขาแผ่กว้างประมาณ 12 ก.ม. ยาว 15 ก.ม. ยอดเขาสูง 15 เมตร เนินเขาที่สูงที่สุดเรียกว่าเขาป่าช้า ยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคาร ศาสนสถานสวยงามและแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ
4. ภูเขาไฟกระโดง
เขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีปากปล่องทะลุเห็นได้ชัดเจน รอบบริเวณแวดล้อมด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็ก โดยเฉพาะนกนานาชนิด บนเขากระโดงยังมีโบราณสถานสมัยขอม รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่น
เพจ ข่าวเมืองบุรีรัมย์
5. ภูเขาไฟไบรบัด จ.บุรีรัมย์
เนินภูเขาไฟเกิดจากการทับถมของเศษหินภูเขาไฟ(Pyroclastic Materials) เศษหินภูเขาไฟเหล่านี้เป็นมวลหินหลอมละลายที่ถูกดันประทุขึ้นไปและเย็นแข็งตัวในอากาศ มีขนาดต่าง ๆ กัน และมีชื่อเฉพาะเรียกแตกต่างกัน
ส่วนภูเขาไฟอีกสองลูกอยู่ที่จังหวัดลำปาง
1
6. ภูเขาไฟดอยผาดอกจำปาแดด
7. ภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู จ.ลำปาง
ภูเขาไฟจำปาแดดเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทไม่มีการระเบิด
อีกแล้ว มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 630 เมตร ปากปล่องด้านเหนือกว้าง 150 เมตร
มีต้นไม้ยืนต้นหลายชนิด ไม่มีทางรถขึ้น
หลักฐานที่เป็นข้อมูลยืนยันว่าสถานที่นี้เป็นซากภูเขาไฟ ได้มาจากข้อมูลที่ ดร.เปียร์
ซอเรนซน ผู้อำนวยการสถาบันสแกนดิเนเวียได้ทำการค้นคว้าร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ไว้
ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด และปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน โดยอยู่คนละฝั่งถนน
ชื่อของภูเขาไฟทั้งสองได้มาจากชาวบ้านในบริเวณนั้น เป็นคำง่ายๆ ที่มีความหมายสอดคล้องกับลักษณะของปล่องภูเขาไฟ
คำว่า ผาคอก หมายถึงเขาที่มีผากั้นล้อมรอบ
หินฟู หมายถึงหินที่มีลักษณะเป็นรอยแตกฟู มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ หรือตะกรันภูเขาไฟ (Scoria) ส่วนคำว่า จำป่าแดด เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณปล่อง ภูเขาไฟ
ภูเขาไฟทั้งสองลูกนี้สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลจากเส้นทางสายลำปาง-เด่นชัย ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 14 ที่กลางสะพานข้ามทางรถไฟ โดยให้มองไปทางเหมืองแม่เมาะจะเห็นภูเขายาวต่อเนื่องกันตั้งตระหง่านขวางหน้า ให้สังเกตภูเขาลูกเล็กยอดแหลม ซึ่งโดดเด่นกว่าบริเวณข้างเคียงตรงกลางเทือก จุดนี้เป็นจุดแบ่งระหว่างภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดที่อยู่ทางซ้ายและภูเขาไฟดอยคอกผาหินฟู ที่อยู่ทางขวา มีระยะห่างกันในแนวเหนือใต้ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
เพิ่มเติมค่ะ ปล่องภูเขาไฟที่ลำปาง ยังมีอีกบริเวณหนึ่ง อยู่ที่บริเวณอำเภอเกาะคา อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปประมาณ 32 กิโลเมตร
1
💬 ปัจจุบัน ไทยไม่มีภูเขาไฟที่ยังมีพบังงานอยู่ ทุกลูกดับสนิทมานานล้านปีที่แล้ว
ภูเขาไฟหลายลูกมีเพียงลักษณะทางธรณีวิทยาที่พอจะบอกได้ว่า เคยเป็นภูเขาไฟ ซึ่งตรงนี้จะมีประโยชน์ด้านการศึกษา
การคาดหวังว่าจะเห็นความยิ่งใหญ่อลังการ์อย่างภูเขาไฟในต่างประเทศคงต้องผิดหวัง
เรียบเรียงโดย
สาระอัปเดต
1.05.2019
💬 จริงๆตั้งใจทำบทความนี้นานแล้ว แต่จนใจที่หารูปประกอบยากมาก วันนี้เจอรูปจากกรมทรัพยากร และจากเฟซบุ๊กครบถ้วน บทความนี้จึงสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง
หากผู้อ่านท่านใดมีรูป และอนุญาตให้เผยแพร่ ช่วยลงไว้ในคอมเม้นท์นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา