26 เม.ย. 2019 เวลา 02:12 • ปรัชญา
"ซุยเป๋ง" : ไทยเฉย Idol
ผู้รักสันโดษและเรียบง่าย
"เกิดมาเป็นคนทุกวันนี้ก็สุดแต่บุญและกรรม จะหักวาสนานั้นไม่ได้"
“ไทยเฉย” คือคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและได้ยินกันบ่อยครั้งในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา คำ ๆ นี้ เกิดขึ้นในการชุมนุมประท้วง ต่อต้านต่าง ๆ โดยใช้เรียกกลุ่มคนที่วางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง หรือไม่สนใจจะเข้าร่วมกลุ่มการชุมนุมนั้น ๆ ก้ำกึ่งระหว่างการเชิญชวนและเหน็บแนมว่า “ไทยเฉย” คือผู้ที่ไม่รู้สึกรู้สา เห็นแก่ตัว และไม่เอาใจใส่ต่อสถานการณ์การเมือง
ภาพ : สามก๊กวิทยา
ในเรื่องสามก๊กก็มีพวก “ไทยเฉย” หลายคน ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นนักปราชญ์กลุ่มของอาจารย์แว่นน้ำสุมาเต็กโช เช่นซุยเป๋ง โจ๊ะก๋งหงวน และเบงคงอุย แต่ไทยเฉยที่โดดเด่นที่สุดคือ “ซุยเป๋ง” เพราะทัศนคติทางการเมืองของเขาโดดเด่น ซื่อตรง และเป็นสัจธรรม จนนักอ่านสามก๊กหลายท่าน พร้อมใจกันยกย่องว่าเป็น “ยุทธศาสตร์ซุยเป๋ง”
บ้างก็ว่า “ยุทธศาสตร์ซุยเป๋ง” ลึกล้ำและเหนือชั้นกว่า “ยุทธศาสตร์หลงจง” หรือแผนการรวมแผ่นดินของขงเบ้งเสียอีก
"ประวัติย่อของซุยเป๋ง"
ซุยเป๋ง (Cui Zhouping, 崔州平) เป็นชาวเมืองพักเหลง (Boling) เป็นบุตรของซุยเลี่ย (Cui Lie, 崔烈) มีพี่ชายหนึ่งคนชื่อว่าซุยจุ๋น (Cui Jun, 崔鈞) ซุยเลี่ยเป็นขุนนางใหญ่ในสังกัดของตั๋งโต๊ะ ส่วนซุยจุ๋นเป็นนายทหารของอ้วนสุด ซุยเลี่ยกับซุนจุ๋นสองพ่อลูกไม่ค่อยลงรอยกัน เพราะซุยจุ๋นไม่เห็นด้วยที่ซุยเลี่ยใช้เงินซื้อตำแหน่งจากตั๋งโต๊ะ นอกจากนี้ ซุยจุ๋นยังเคยร่วมอยู่ในกลุ่ม 18 หัวเมือง ใต้สังกัดของอ้วนสุด ในการปราบตั๋งโต๊ะ ผู้ที่บิดาของเขารับใช้อยู่
ซุยเลี่ยตายในปี ค.ศ.192 จากภัยการเมืองหลังปราบตั๋งโต๊ะ ส่วนซุนจุ๋นเงียบหายไปไม่เหลือร่องรอยใด ๆ ให้ติดตาม ซุยเป๋งจึงลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในเมืองเกงจิ๋ว และเข้าเรียนในสำนักของสุมาเต๊กโช เป็นลูกศิษย์พร้อม ๆ กันกับ จูกัดเหลียงขงเบ้ง
ในบรรดาลูกศิษย์ของสุมาเต๊กโช ซุยเป๋งเป็นผู้หนึ่งที่มีสติปัญญาโดดเด่น ซึ่งขงเบ้งก็ยอมรับนับถือในตัวซุยเป๋ง และระลึกถึงอยู่เสมอ แต่กระนั้นประวัติส่วนตัวของเขาก็ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะนักประวัติศาสตร์บางท่านก็สันนิษฐานว่า ซุยเป๋งกับซุยจุ๋นพี่ชาย เป็นคน ๆ เดียวกัน
ซุยเป๋ง ไม่เคยมียุทธศาสตร์
ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 33 เล่าปี่เดินทางไปเยือนกระท่อมของขงเบ้งครั้งแรกแต่ไม่ได้พบ ระหว่างเดินทางกลับ เล่าปี่จึงได้เจอกับซุยเป๋ง และสนทนากัน ซึ่งในครั้งนั้นซุยเป๋งได้แนะนำเล่าปี่ไว้ว่า
“ซึ่งแผ่นดินเป็นจลาจลจะมาหาขงเบ้งไปช่วยทำนุบำรุงให้เป็นสุขนั้น ก็เห็นว่าท่านมีน้ำใจสัตย์ซื่อรอบคอบดีแล้ว แต่ว่าประเพณีแผ่นดินนี้ เกิดจลาจลแล้วก็เป็นสุขเล่า เป็นสุขแล้วก็เกิดจลาจลเล่า เป็นธรรมดามาแต่ก่อน แลซึ่งท่านจะคิดอ่านปราบปรามแผ่นดิน อันถึงกำหนดจลาจลแล้วให้กลับเป็นสุขนั้น เกลือกจะไม่สมความปรารถนาก็จะป่วยการเปล่า อันเกิดมาเป็นคนทุกวันนี้ก็สุดแต่บุญแลกรรม จะหักวาสนานั้นไม่ได้”
แนวความคิดของซุยเป๋งนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “ยุทธศาสตร์หลงจง” ของขงเบ้งแล้ว ความคิดของซุยเป๋งเป็นคำสอน เป็นสัจธรรม และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่กระนั้นก็ไม่ควรเรียกว่าเป็น “ยุทธศาสตร์ซุยเป๋ง” เพราะยุทธศาสตร์ คือ “ศาสตร์ในการทำการยุทธ์” เป็นวิธีการที่ใช้ในการต่อสู้ แย่งชิง เอาชนะกัน และเป็นคนละเรื่องกับคำกล่าวของซุยเป๋งเลย
ดังนั้น เราจึงควรเรียกแนวความคิดของซุยเป๋งนี้ว่า หลักสัจธรรมของซุยเป๋ง , ปรัชญาของซุยเป๋ง , คำสอนของซุยเป๋ง , เข็มทิศชีวิตซุยเป๋ง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์ซุยเป๋ง” ! จะเหมาะสมกว่า
ไทยเฉย คือ สัจธรรม
เราไม่สามารถเปรียบวัดสติปัญญาความสามารถระหว่างซุยเป๋งและขงเบ้งได้ สิ่งที่ทราบมีเพียงคำบอกเล่าที่ว่าทั้งคู่เป็นศิษย์ของสุมาเต๊กโช มีผลการศึกษาโดดเด่น เป็นเพื่อนสนิท และยอมรับนับถือในความสามารถซึ่งกันและกัน
ความแตกต่างของทั้งสองคนนี้ก็คือ คนหนึ่งมีอุดมการณ์ ความเสียสละ และอดทนทำในสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ส่วนอีกคนหนึ่งชาญฉลาดในการใช้ชีวิต พึงพอใจในความสันโดษและใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักธรรม
แนวความคิดของซุยเป๋งเป็นหลักธรรมชั้นสูง “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกต้องที่สุดตามหลักพุทธศาสนา ทุกสรรพสิ่งมีเกิดมีดับ เวียนว่ายกันไปไม่จบสิ้น อยากมีชื่อเสียง สร้างชื่อลื่อชาก็ต้องลุกขึ้นสู้แบบเล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ขงเบ้ง แต่ก็ต้องระลึกว่ามันคือการเมือง เพราะแต่ละฝ่ายก็อ้างความถูกต้องชอบธรรม ไม่มีฝ่ายไหนผิดหรือถูก เลวหรือดีร้อยเปอร์เซ็นต์
ในยามกลียุค บ้านเมืองร้อนแรง แผ่นดินลุกเป็นไฟ เติมคนก็เหมือนเติมฟืนไฟ ยุคสามก๊กคือตัวอย่างที่คน "ไม่เฉย" ในชาติเดียวกันลุกขึ้นรบราฆ่าฟันกันเอง กินระยะเวลายาวนานนับร้อยปี “ไทยเฉย” แบบซุยเป๋งจึงเปรียบเสมือนบึงน้ำ ที่คอยทุเลาไฟ ขวางกั้นไม่ให้ไฟลุกลามไปจนไม่เหลืออะไรไว้บนแผ่นดิน
เป็นไทยเฉย ต้องเป็นแบบซุยเป๋ง ให้รู้เท่าทัน ใส่ใจเหตุการณ์บ้านเมือง พูดคุย ออกความเห็นตักเตือนผู้ที่เตือนได้อย่างเล่าปี่ แต่เมื่อเตือนแล้ว บอกแล้วไม่ฟัง เขาก็ปล่อยวาง ไม่เลือกข้าง สร้างแรงไฟ แล้วใช้ชีวิตอย่างผู้เข้าใจหลักแห่งธรรมชาติ ตามรอยอาจารย์สุมาเต็กโช
รักจะเป็น "ไทยเฉย" อย่างน้อย ๆ ก็ต้องรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี รู้ว่าอะไรผิดถูก อะไรคือเกมการเมือง อะไรคือความเป็นความตาย อะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ แล้วสำคัญคือปล่อยวาง
บ้านเราเวลานี้ "ไทยไม่เฉย" กำลังแบ่งพวกเตรียมรบรากัน เห็นแล้วก็อดสูใจ หวนให้คิดในอีกแง่มุมหนึ่งว่า... บางทีคนแบบ “ไทยเฉย” อาจจะเป็นคุณต่อประเทศชาติมากที่สุดก็เป็นได้ .....
สวัสดี..🙇
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
บทความ : สามก๊กวิทยา
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา