9 พ.ค. 2019 เวลา 05:00 • บันเทิง
เรื่องเล่าชาวร็อค - รำลึกถึง Still Got the Blues อัลบัมเปลี่ยนชีวิตของแกรี มัวร์
แกรี มัวร์ (https://www.clashmusic.com/news/gary-moore-passes-away)
​(อ่านแล้วชอบกดถูกใจ กดติดตามกันด้วยนะครับ) Still Got the Blues งานเดี่ยวชุดที่แปดของแกรี มัวร์ มือกีตาร์ชาวไอร์แลนด์เหนือ ออกมาในปี 1990 กลายเป็นอัลบัมที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับเจ้าของอัลบัม โดยเฉพาะสไตล์ในการเล่นกีตาร์ ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในฐานะมือกีตาร์ร็อคและฮาร์ด ร็อค จากการร่วมงานกับวงอย่าง Skid Row (คนละวงกับวงเฮฟวี เมทัลในยุค 90), Thin Lizzy, G-Force และทำงานกับเกร็ก เลค รวมไปถึงการทำงานเดี่ยวในช่วงที่ผ่านๆ มา ขณะที่การทำงานกับ Colosseum II วงโปรเกรสสีฟ แจ๊ซซ์ ที่ตั้งกันในปี 1975 ก็เป็นงานในแบบแจ๊ซซ์-ฟิวชัน
​แต่กับ Still Got the Blues นี่คืองานที่ทำให้คอเพลงได้เห็นมัวร์ ก้าวไปสู่โลกของดนตรีบลูส์​
​มัวร์ได้สองมือกีตาร์ระดับพ่อเพลงบลูส์อเมริกัน อัลเบิร์ท คิง กับอัลเบิร์ท คอลลินส์ มาเป็นแขกรับเชิญในอัลบัมยอดขายในระดับแผ่นเสียงทองคำชุดนี้ โดย Still Got the Blues ขึ้นอันดับสูงสุดบนชาร์ทอัลบัมบิลล์บอร์ดในอันดับที่ 83 เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 1991 และกลายเป็นอัลบัมที่ประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขายและอันดับบนชาร์ทมากที่สุดของแกรี มัวร์ในสหรัฐอเมริกา ส่วนซิงเกิลชื่อเดียวกับชุด ก็ขึ้นไปถึงอันดับที่ 97 ของชาร์ทเพลงฮิตบิลล์บอร์ด ฮ็อท 100 ในวันเดียวกับที่อัลบัมขึ้นอันดับสูงสุดเป็นครั้งแรก และกลายเป็นซิงเกิลเดียวของมัวร์ ที่ติดอันดับชาร์ทบิลล์บอร์ด ฮ็อท 100
​หันมาดูความสำเร็จในบ้านเกิด บนเกาะอังกฤษ แกรี มัวร์ มีอัลบัมติดท็อปเทนชาร์ทเพลงสหราชอาณาจักรอยู่เพียง 3 ชุดตลอดชีวิตการทำงานซึ่งไม่ได้ยืนยาวนัก เมื่อเขาจากไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ด้วยวัยเพียง 58 ปี เชื่อว่าหลายๆ คนคงมั่นใจว่าหนึ่งในสามชุดนั้นจะต้องมี Still Got The Blues รวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่.... เซอร์ไพรส์! ไม่มีงานชุดนี้ เพราะงานสามชุดที่ว่าก็ได้แก่ Wild Frontier (1987), After Hours (1992) และงานแสดงสด Blues Alive ในปี 1993
​แต่ความสำคัญของ Still Got the Blues ก็คือ เมื่อมันออกขายในเดือนมีนาคม 1990 ที่อังกฤษ มันคืออัลบัมที่ทำให้เซียนกีตาร์ชาวไอริช ได้กลุ่มคนฟังใหม่ๆ ถึงจะไปได้แค่อันดับที่ 13 ในบ้านเกิด แต่ก็สามารถขายได้อย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จนทำให้เขาได้รับแผ่นเสียงทองคำขาวในปี 1995 หลังอัลบัมวางจำน่ายถึง 4 ปีครึ่ง รวมทั้งเป็นงานที่ขายดีที่สุดของมัวร์มาถึงทุกวันนี้ นอกเหนือไปจากเป็นอัลบัมแผ่นเสียงทองคำในสหรัฐอเมริกาเพียงชุดเดียวของเจ้าตัว และไม่ใช่แค่สองพ่อเพลงบลูส์ชาวอเมริกันที่เป็นแขกรับเชิญคนสำคัญ อัลบัมชุดนี้ยังได้ตำนานเพลงอย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน มาร่วมงานด้วย โดยมัวร์ทำหน้าที่โปรดิวซ์อัลบัมชุดนี้ร่วมกับเอียน เทย์เลอร์
​ตัวเพลงในอัลบัม มีทั้งเพลงใหม่ของมัวร์ อย่าง เพลงที่เป็นชื่อชุด, “Moving On” และ “King Of The Blues” เพลงเก่าของศิลปินที่มัวร์ชื่นชอบซึ่งถูกนำมาทำใหม่ เช่น “All Your Love” ของโอติส รัช และ “Walking By Myself” ของจิมมี โรเจอร์ส, แล้วก็ “That Kind Of Woman” เพลงใหม่จากแฮร์ริสันที่ยังมาร่วมร้องและเล่นกีตาร์ด้วย,“Stop Messin’ Around” เพลงฮิตในยุคแรกๆ ของ Fleetwood Mac ที่ต่อมาไปอยู่ในอัลบัม Blues For Greeny งานสดุดีปีเตอร์ กรีนที่ออกมาในปี 1995
​หลังทำงานในวงการเพลงมาร่วมๆ 2 ทศวรรษ มัวร์ก็ทิ้งฮาร์ดร็อค ซาวนด์ที่อยู่ติดกับตัวเองมายาวนานด้วย Still Got the Blues หันมาหางานดนตรีที่มีท่วงทำนองมากขึ้น และแน่นอนความเป็นบลูส์ในตัว เป็นครั้งแรก และนำไปสู่ความสำเร็จใหม่ๆ เมื่อคนฟังยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับเขา
​“ผมไม่ได้พยายามเลียนแบบ ซาวนด์กีตาร์อเมริกันที่ฟังเคลียร์ และประณีต” มัวร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารคิว เมื่อปี 1992 ถึงงานชุดนี้ “ผมอยากทำงานที่ฟังหยาบและฉับไว ซึ่งผมคิดว่าตัวเองทำสำเร็จ มันก็แค่การเริ่มต้นใหม่ และนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมสามารถทำได้"
​ท้ายที่สุด นี่คืออัลบัมที่เปิดประตูให้มัวร์ก้าวเข้าไปสู่ยุคใหม่ ที่เป็นยุคที่เขาประสบความสำเร็จที่สุดก็ว่าได้ ด้วยผลงานชุดสำคัญๆ อีกหลายชุดต่อจากนี้ ตลอดยุค 90
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง รำลึกถึง Still Got the Blues อัลบัมเปลี่ยนชีวิตของแกรี มัวร์ คอลัมน์
ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 8 พฤษภาคม 2562
อ่านเแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด่วยกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
ดนตรีแนวไหนที่มีการเติบโตมากที่สุดในปี 2018 หาคำตอบได้ที่เรื่องนี้ >> https://www.blockdit.com/articles/5cd14b5411ccb33f19c2c672

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา