30 พ.ค. 2019 เวลา 02:09 • ประวัติศาสตร์
อาณาจักร CP (ตอนที่ 10)
กรณีศึกษาโมเดลทางธุรกิจการเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร จากต้นน้ำถึงปลายน้ำของ ซีพี
1
สมัยนั้นสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าในการเลี้ยงไก่เนื้อให้มีขนาดเท่ากันอย่างแพร่หลาย คุณธนินท์จึงมีความตั้งใจอยากเดินทางไปอเมริกาเพื่อไปศึกษาดูงาน
เนื่องจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารเชส แมนฮัตตัน (Chase Manhattan Bank) ของสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือ เจพี มอร์แกนเชส : J.P. Morgan Chase) ซึ่งธนาคารแห่งนี้เป็นผู้ดูแลงบบัญชีนำเข้าและส่งออกของเครือเจริญโภคภัณฑ์
จึงทำให้คุณธนินท์รู้จักกับบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) ซึ่งเป็นบริษัทไก่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และอาร์เบอร์ เอเคอร์ส กับธนาคารเชส แมนฮัตตันก็มีความเกี่ยวข้องกัน
ปี 2513 Nelson Rockefeller ได้เข้าซื้อบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส และด้วยความสัมพันธ์กับธนาคารเชส แมนฮัตตัน คุณธนินท์จึงได้มีโอกาสไปดูกิจการไก่พันธุ์ที่สหรัฐฯ ต่อมาในปีเดียวกันก็ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง บริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการผลิตไก่พันธุ์ออกจำหน่ายในประเทศไทย
ที่อเมริกานั้นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์มีหลักการบริหารโดยจะซื้อไก่ที่ผสมแล้วจากบริษัทไก่พันธุ์ก่อน จากนั้นจะเซ็นสัญญากับผู้เลี้ยงไก่ ให้ผู้เลี้ยงไก่เป็นผู้เลี้ยง และยังจัดหาอาหารสัตว์ให้ผู้เลี้ยง
และยังให้ยาที่ใช้ป้องกันโรคด้วย เมื่อไก่โตแล้ว บริษัทอาหารสัตว์ก็จะรับซื้อไก่เนื้อกลับไป
คุณธนินท์ได้เห็นไก่อายุ 8 สัปดาห์ มีน้ำหนักถึง 1.5 กิโลกรัม แม้ว่าจะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถเลี้ยงไก่ได้เป็นจำนวนมาก โดยขณะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ของไทย 1 ราย สามารถเลี้ยงไก่ได้มากที่สุดเพียง 100 ตัวเท่านั้น
ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ของอเมริกา 1 ราย สามารถเลี้ยงไก่ได้มากถึง 10,000 ตัว ยิ่งไปกว่านั้น อาหารที่ไก่เนื้อกิน ก็น้อยกว่าไก่พื้นเมืองมาก
ต่อมาคุณธนินท์ได้นำรูปแบบธุรกิจนี้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ในประเทศไทย
โดยช่วงเริ่มต้นมีเกษตรกรเลี้ยงไก่รายหนึ่งในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตกลงเซ็นสัญญาเข้าร่วม และ เริ่มมีการเลี้ยงไก่เนื้อในปริมาณมากขึ้นและก็ค่อยๆ มีเกษตรกรรายอื่นๆ ทยอยเลี้ยงตามกันมา
ปีพ.ศ. 2516 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างโรงฟักไข่เพื่อส่งลูกไก่เนื้อจำนวนมากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ โรงเชือด และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่บางนาซึ่งเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ
เมื่อไก่มีขนาดเท่ากันก็สามารถทำการแปรรูปขั้นต้นด้วยเครื่องถอนขนไก่ได้ การแปรรูปเนื้อไก่ด้วยระบบอัตโนมัติที่เคยเป็นปัญหาค้างคามาหลายปีตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย ก็ได้รับการแก้ไขในที่สุด
เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ขึ้นเองแล้ว ก็สามารถผลิตอาหารสัตว์ให้พอเพียงกับการใช้งานได้ นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทก่อสร้างฟาร์มไก่ และบริษัทขนส่งไก่อีกด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างระบบการผลิตไก่เนื้อแบบครบวงจรในประเทศไทย กล่าวคือ ตั้งแต่อาหารสัตว์ที่เป็นต้นน้ำ จนถึงการแปรรูปเนื้อไก่ที่เป็นปลายน้ำ
ปี 2519 กิจการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ จึงได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี. กรุ๊ป) ขึ้น เพื่อเป็นบริษัทหลักในการบริหารกิจการด้านต่างๆ ที่ขยายออกไป
ในปีพ.ศ. 2520 ได้ลงทุนสร้างโรงงานอาหารสัตว์ในอำเภอศรีราชาขึ้น และยังได้จัดรวมเอาทุกระบบการผลิตแบบครบวงจร คือ นำโรงงานอาหารสัตว์ โรงฟักไข่ ฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงเชือดและโรงงานแปรรูปมาไว้ในบริเวณเดียวกัน
ยกตัวอย่างคือ จากโรงฟักไข่จนได้ลูกไก่แล้วจะถูกส่งไปฟาร์มเลี้ยงไก่ที่อยู่ใกล้เคียง อาหารสัตว์ก็จะส่งมาจากโรงงานที่อยู่ไม่ห่างกัน หลังจากที่ไก่โตแล้ว ฟาร์มเลี้ยงไก่จะส่งไก่ไปโรงงานแปรรูปเริ่มตั้งแต่การเชือด การถอนขน การคัดแยกชิ้นส่วนไก่ ฯลฯ แล้วเข้าสู่กระบวนแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูป เช่น ไก่ทอด ไส้กรอก เป็นต้น
2
โมเดลการบริหารแบบครบวงจรนี้ได้ขยายมาสู่ธุรกิจเลี้ยงหมู ธุรกิจเลี้ยงกุ้ง และอื่นๆอีกด้วย
ฝากติดตามบทความตอนต่อไป
ของอาณาจักร CP ตอนที่ 11
อ่านบทความอาณาจักร CP
ย้อนหลัง (ตอนที่ 9)
ขอบคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา