3 ส.ค. 2019 เวลา 08:06 • ปรัชญา
พระสูตรเว่ยหล่าง
หมวดที่ 1
ว่าด้วยชีวประวัติ
3
ครั้งหนึ่ง พระธรรมจารย์ได้มาที่วัดเป่าหลิน ผู้ตรวจการเหว่ย พร้อมด้วยเหล่าข้าราชการแห่งเมืองเสาโจวได้พากันขึ้นเขาเพื่อนิมนต์ท่านพระธรรมจารย์เทศนาธรรมแก่สาธุชน ณ หอประชุมแห่งวัดต้าฝาน
ครั้นพระธรรมจารย์ขึ้นสู่ธรรมาสน์เป็นที่เรียบร้อย ผู้ตรวจการและเหล่าข้าราชเสวกรวม ๓๐ คนเศษ บัณฑิตนักศึกษาสำนักขงจื่อรวม ๓๐ คนเศษ อีกเหล่าภิกษุ ภิกษุณี นักพรตและคฤหัสถ์รวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ คนเศษ ทั้งหมดต่างพร้อมใจกันกราบนมัสการและน้อมใจสดับสารัตถธรรม
พระธรรมจารย์ได้กล่าวแก่ผู้มีจิตศรัทธาว่า “ท่านผู้คงแก่เรียน ! โพธิธรรมญาณ เดิมนั้นบริสุทธิ์ เพียงใช้ใจดวงนี้ ก็จักบรรลุพระพุทธะได้โดยตรง ท่านผู้คงแก่เรียน ! ลองมาฟังประวัติการรับธรรมของอาตมาก่อนเถอะ
2
“บิดาผู้เคร่งครัดของอาตมา จำเดิมเป็นคนฟั่นหยาง แต่ได้ถูกถอดจากตำแหน่งราชการและเนรเทศสู่เนินทักษิณ ดังนั้นจึงได้กลายเป็นสามัญชนที่เมืองซินโจว สำหรับชีวิตของอาตมานี้ช่างอาภัพยิ่งนัก เพราะต้องกำพร้าบิดาตั้งแต่วัยเยาว์ ส่วนมารดาท่านก็อยู่ในวัยชรา ต่อมาได้ย้ายพำนักไปอยู่ที่หนันไห่ และเนื่องด้วยความเป็นอยู่อัตคัดยากจน จึงได้ประกอบอาชีพตัดฟืนขายที่ตลาด
“วันหนึ่ง มีลูกค้าคนหนึ่งมาสั่งซื้อฟืนและขอให้ไปส่งที่ร้าน หลังจากลูกค้าได้รับฟืนและจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาตมาจึงเดินออกจากประตูบ้าน และได้พบชายผู้หนึ่งที่กำลังบริกรรมพระสูตร ครั้นอาตมาได้ฟังจิตใจก็เกิดความแจ่มแจ้ง จึงเข้าไปถามว่า ‘ท่านบริกรรมพระสูตรใดฤๅ ?’
“ชายผู้นั้นตอบว่า ‘วัชรสูตร’
“จึงถามต่อไปว่า ‘ท่านมาจากที่ใด และด้วยเหตุใดจึงได้สมาทานพระสูตรนี้ ?’
“ชายคนนั้นตอบว่า ‘กระผมมาจากวัดตงฉัน อำเภอหวงเหมย เมืองฉีโจว เจ้าอาวาสในขณะนี้คือพระธรรมาจารย์องค์ที่ ๕ นามว่าหงเหยิ่น มีศิษย์สาวกอยู่ประมาณพันกว่าคน กระผมไปสักการะบูชาที่นั่น จึงได้สดับพระสูตรนี้มา ท่านพระธรรมจารย์มักเตือนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตอยู่เสมอว่า ขอเพียงปฏิบัติในวัชรสูตร ก็จะสามารถแจ่มแจ้งในธรรมญาณ และบรรลุเป็นพระพุทธะได้โดยตรง’
2
“หลังจากอาตมาได้ฟัง อีกเพราะเคยมีบุญสัมพันธ์มาแต่ชาติอดีต จึงได้รับเงิน ๑๐ ตำลึงจากชายผู้หนึ่งที่ให้ไว้สำหรับค่าพัสตราอาหารของมารดา พร้อมทั้งยังแนะนำให้ไปกราบคารวะพระธรรมจารย์องค์ที่ ๕ ที่หวงเหมย หลังจากอาตมาได้จัดการเรื่องมารดาเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบลามารดาและออกเดินทางไปยังหวงเหมย ซึ่งใช้เวลากว่า ๓๐ วัน
1
“หลังจากได้กราบนมัสการพระธรรมจารย์แล้ว พระธรรมจารย์ได้ถามขึ้นว่า ‘เจ้าเป็นคนที่ไหน ? และประสงค์สิ่งใด ?’
“อาตมาตอบว่า ‘ศิษย์เป็นคนซินโจวแห่งเนินทักษิณ ที่ได้เดินทางไกลมากราบท่านอาจารย์นั้น ก็หวังเพียงเป็นพระพุทธะ นอกนั้นมิได้ประสงค์สิ่งใด’
“พระธรรมจารย์พูดว่า ‘เจ้าเป็นคนเนินทักษิณ ทั้งยังเป็นคนป่า แล้วจะเป็นพระพุทธะอย่างไรได้ ?’
“อาตมาตอบว่า ‘คนแม้มีเหนือใต้ แต่พุทธจิตไม่มีเหนือใต้ แม้กายคนป่าจะต่างจากบรรพชิต แต่พุทธจิตมีต่างไยฤๅ ?’
3
“พระธรรมาจารย์ทำท่าจะกล่าวต่อ แต่ด้วยเห็นศิษย์ต่างมุงดูอยู่สองข้าง ดังนั้นจึงสั่งให้อาตมาไปทำงานกับทุกคน
“อาตมาถามขึ้นว่า ‘ศิษย์ขอกราบเรียนอาจารย์ คือภายในใจศิษย์ได้มีปัญญาเกิดอยู่เป็นนิตย์ โดยไม่ห่างจากธรรมญาณ ฉะนี้ก็คือนาบุญ ไม่ทราบว่าอาจารย์ยังจะให้ศิษย์ทำสิ่งใดอีก ?’
“พระธรรมจารย์ตอบว่า “เจ้าคนป่าช่างมีพื้นฐานไม่ธรรมดานัก เจ้าไม่ต้องพูดอะไรอีก จงไปทำงานที่โรงม้านั่นก่อน !’
“อาตมาจึงถอยไปที่ลานด้านหลัง และได้มีนักธรรมท่านหนึ่งนำพาไปผ่าฟืนตำข้าว ซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๘ เดือนเศษ
“วันหนึ่ง อยู่ ๆ ท่านพระธรรมจารย์ก็มาพบอาตมา และกล่าวว่า ‘เรารู้ว่าเจ้ามีทัศนะที่ใช้ได้ แต่เพราะเกรงพวกคนพาลจะทำร้ายเจ้า ดังนั้นจึงคอยหลีกห่างไม่พูดคุยด้วย เจ้าเข้าใจไหม ?’
“อาตมาตอบว่า ‘ศิษย์เข้าใจเจตนาของท่านอาจารย์ดี จึงไม่กล้าเข้าใกล้ห้องโถง เพื่อจะได้ไม่เป็นที่กริ่งใจของผู้คน’
“อยู่มาวันหนึ่ง พระธรรมจารย์เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมดและประกาศว่า ‘เรื่องเกิดตายของชาวโลกเป็นเรื่องใหญ่ พวกเจ้าทั้งหลายวัน ๆ หวังเพียงเนื้อนาบุญ โดยไม่หวังหลุดพ้นเวียนว่ายจากทะเลทุกข์ หากธรรมญาณพวกเจ้าได้หลงไป มีหรือที่บุญจะช่วยได้ ? พวกเจ้าจงไปพินิจจากปัญญาของตน และจงนำปรัชญาญาณในใจตนมาเขียนเป็นโศลกให้เราดู หากมีความแจ่มแจ้งในแก่นความ เราก็จะมอบธรรมและจีวร พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมจารย์องค์ที่ ๖ จงไปโดยเร็ว อย่าได้รีรอ การตรึกตรองเป็นการไร้ประโยชน์ เพราะสำหรับผู้ที่เห็นแจ้งในธรรมญาณ ในฉับพลันก็สามารถเห็นแจ้งได้ หากเป็นเช่นนี้ ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางสมรภูมิอันชุลมุนเช่นไร ก็ยังคงได้เห็นแจ้งอยู่ดี’
2
“เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น ทุกคนจึงพากันออกจากที่ประชุมและจับกลุ่มพูดคุยกันว่า ‘พวกเราไม่ต้องมาสงบจิตตั้งใจเขียนโศลกหรอก แม้จะเขียนโศลกส่งให้อาจารย์แล้วจักมีประโยชน์อันใด ? เพราะตอนนี้หัวหน้าเสินซิ่วก็เป็นพระอนุศาสนาจารย์อยู่แล้ว ตำแหน่งนี้ยังไงก็ไม่พ้นมือเป็นแน่ พวกเราอย่าได้เสียมารยาทเขียนโศลกเลย จะเป็นการเสียแรงเปล่า’
“เมื่อทุกคนได้ฟังดังนั้น ต่างก็พากันละความพยายามและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ต่อไปเราก็ต้องพึ่งท่านเสินซิ่วอยู่แล้ว ไฉนต้องเขียนโศลกให้ลำบากด้วยเล่า ?’
“เสินซิ่วคิดอยู่ในใจว่า ‘ทุกคนต่างไม่ยอมเขียนโศลก เป็นเพราะเราเป็นพระอนุศาสนาจารย์ของทุกคน ดังนั้นเราควรจะเขียนโศลกให้ท่านอาจารย์ เพราะหากไม่เขียนโศลกแล้ว ไฉนอาจารย์จะทราบถึงความตื้นลึกแห่งความเข้าใจเราได้ ? สำหรับวัตถุประสงค์ของการเขียนโศลก หากเพื่อหวังในธรรมก็คือกุศล แต่หากเพื่อหวังตำแหน่งก็คืออกุศล ซึ่งเช่นนี้จะต่างไปไยกับใจปถุชนที่แก่งแย่งในตำแหน่งด้วยเล่า ? แต่หากเราไม่เสนอโศลกให้ท่านอาจารย์ เราก็จะไม่สามารถรู้ในธรรมนั้นได้ ฮ่าย ! ช่างตัดสินใจยากเสียยิ่งนัก !’
“ที่หน้าโรงธรรมของพระธรรมจารย์นั้น มีผนังระเบียงทางเดินที่ว่างอยู่ ๓ ห้อง ซึ่งพระธรรมจารย์ได้เตรียมเชิญจิตรกรหลวงหลูเจิน มาวาดภาพเหตุการณ์พระพุทธเทศนาในลังกาวตารสูตร และชาติวงศ์ของพระธรรมจารย์ทั้ง ๕ พระองค์ เพื่อคงไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาสืบไป
“เมื่อเสินซิ่วแต่งโศลกเสร็จก็พยายามจะส่งอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่เดินถึงหน้าโรงธรรม จิตใจก็เกิดความว้าวุ่น อีกมีอาการเหงื่อท่วมโทรมกายจนไม่สามารถส่งโศลกให้สำเร็จได้ ในตลอดเวลา ๔ วัน เขาได้พยายามถึง ๑๓ ครั้ง ในที่สุดเสินซิ่วจึงตัดสินใจว่า ‘เรานำไปเขียนไว้ที่ผนังทางเดินดีกว่า หากอาจารย์ได้อ่านพบและกล่าวชมเชย เราค่อยออกมานมัสการและกล่าวยอมรับว่าคือผู้เขียน แต่หากตรงกันข้าม ก็เสียทีที่อุตส่าห์บำเพ็ญอยู่บนเขาหลายปี อีกซ้ำยังเป็นที่เคารพของผู้คนเสียอีก แล้วเช่นนี้จักเรียกว่าบำเพ็ญได้อย่างไร ?’
1
“ในคืนนั้นยามสาม เวลาปลอดคน เสินซิ่วได้ถือโคมไฟและเขียนโศลกเสนอในสิ่งที่ใจรู้ไว้ที่ผนังระเบียงทิศใต้ เนื้อความในโศลกมีอยู่ว่า
กายคือต้นโพธิ มโนดุจแท่นกระจกใส
หมั่นเช็ดถูเรื่อยไป มิให้ฝุ่นเกาะกุม
“หลังจากเสินซิ่วเขียนโศลกเสร็จก็กลับเข้าห้องโดยไม่มีใครทราบ แต่ครั้นกลับถึงห้องก็ครุ่นคิดว่า ‘พรุ่งนี้หากอาจารย์อ่านแล้วพอใจ หมายถึงเรามีบุญกับธรรมนั้น แต่หากติว่าใช้ไม่ได้ นั่นหมายความว่าเรายังหลงอยู่ ซึ่งกรรมแต่ชาติอดีตยังคงบดบังอย่างแน่นหนา จึงไม่เหมาะที่จะได้รับธรรม อริยะเจตนาช่างยากคะเนยิ่งนัก !’
“เสินซิ่วได้คิดทบทวนไปมาเช่นนี้ในห้อง และมีอาการนั่งนอนไม่เป็นสุขจนกระทั่งยาม ๕
“พระธรรมจารย์ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า เสินซิ่วผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ประตูแห่งการรู้แจ้ง ซึ่งยังมิได้แจ่มแจ้งในธรรมญาณ ในวันรุ่งขึ้น พระธรรมจารย์ได้เรียกจิตรกรหลวงหลูเจินมาวาดภาพที่ผนังระเบียงทิศใต้ ครั้นได้พบโศลกนั้น ก็พูดขึ้นว่า ‘ภาพนี้คงไม่ต้องวาดแล้ว เสียใจด้วยที่รบกวนท่านมาแต่ไกล ในวัชรสูตรได้กล่าวไว้ว่า ลักษณะทั้งปวงล้วนเป็นมายา ฉะนั้น ควรปล่อยโศลกนี้ไว้ให้มหาชนได้สวดท่องปฏิบัติ หากบำเพ็ญตามโศลกนี้ ก็จะพ้นจากทุคติภูมิ หากบำเพ็ญตามโศลกนี้ อานิสงส์จะมีมากมาย’
“จากนั้นจึงได้สั่งศิษย์วัดว่า ‘จงนำธูปเทียนมาบูชา และให้ทุกคนท่องตามโศลกนี้ ก็จะแจ้งในธรรมญาณเอง’ ครั้นทุกคนได้ท่องโศลกนี้ ต่างก็พากันอุทานว่า ‘สาธุ’
“ในยาม ๓ พระธรรมจารย์ได้เรียกเสินซิ่วเข้าไปในห้องและถามว่า ‘เจ้าเป็นคนเขียนโศลกนั้นใช่ไหม ?’
“เสินซิ่วตอบว่า ‘ศิษย์เป็นคนเขียนจริง แต่มิกล้าคิดหวังตำแหน่งพระธรรมจารย์ โดยหวังเพียงให้อาจารย์เมตตาดูว่าศิษย์มีปัญญามากน้อยเพียงใด ?’
1
“พระธรรมจารย์พูดว่า ‘โศลกที่เจ้าเขียนได้แสดงให้รู้ว่ายังไม่เห็นแจ้งในธรรมญาณ ซึ่งยังเป็นเพียงอยู่นอกประตูโดยยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ภายในแต่อย่างใด หากใครคิดแสวงหาอนุตตรโพธิด้วยการเข้าใจเช่นนี้ ก็ช่างเป็นเรื่องที่มิอาจเป็นไปได้ เพราะอนุตตรโพธิควรฉับพลันแจ้งจากจิตเดิม เห็นจากธรรมญาณ ไม่เกิดไม่ดับ ในทุกขณะเวลา ในทุกห้วงความคิดก็ล้วนสามารถเห็นได้ด้วยตน โดยสรรพธรรมไร้ความขัดข้อง ยามที่หนึ่งจริง ทุกสิ่งก็จริง เช่นนี้ ในทุกห้วงสภาวะ ตนก็จักครองมั่นในตถตา จิตที่มั่นในตถตา จึงจะเป็นจริงแท้ หากเห็นด้วยประการนี้ จึงจะเป็นอนุตตรโพธิแห่งธรรมญาณแล เจ้าจงกลับไปทบทวนสักวันสองวันแล้วเขียนโศลกใหม่มาให้เราดู หากโศลกเจ้ามีความแจ่มแจ้ง เราก็จะมอบธรรมและจีวรให้’
“หลังจากเสินซิ่วได้ฟังแล้วจึงคารวะลาจากไป แต่ผ่านไปหลายวันก็ยังไม่อาจเขียนโศลกออกมาได้ จิตใจจึงเกิดความสับสนวุ่นวาย อีกทั้งความคิดก็วิตกฟุ้งซ่าน ซึ่งมีอาการเสมือนอยู่ในความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือนั่ง ก็หาได้มีความสุขใด ๆ ไม่
“สองวันต่อมา มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินท่องบ่นโศลกนี้ผ่านห้องตำข้าวของอาตมา เมื่ออาตมาได้ฟังก็รู้ว่าโศลกนี้ยังไม่แจ่มแจ้งในธรรมญาณ แม้นอาตมาจะยังไม่ได้รับการอบรมสอนสั่ง แต่ก็ได้เข้าใจในแก่นความมาแต่เริ่มแรก จึงได้ถามเด็กหนุ่มคนนั้นว่า ‘ที่ท่องนั้นคือโศลกอะไรฤๅ ?’
2
“เด็กหนุ่มตอบว่า ‘คนป่าอย่างท่านจะรู้อะไร ท่านอาจารย์ได้ประกาศไว้ว่า เรื่องเกิดตายเป็นเรื่องใหญ่ของชาวโลก ดังนั้นจึงมีประสงค์จะถ่ายทอดธรรมและจีวร และสั่งให้ศิษย์ในสำนักเขียนโศลกมา หากผู้ใดมีความแจ่มแจ้งในธรรมจริง ท่านก็จะมอบธรรมและจีวรพร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมจารย์องค์ที่ ๖ ท่านเสินซิ่วซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสก็ได้เขียนโศลกนิรรูปบทนี้ไว้ที่ผนังระเบียงทางเดินทิศใต้ และท่านอาจารย์ก็ได้สั่งให้ทุกคนสวดท่อง ซึ่งหากบำเพ็ญตามโศลกนี้ ก็จะพ้นจากทุคติภูมิ หากบำเพ็ญตามโศลกนี้ ก็จะมีอานิสงส์มากมาย’
1
“อาตมาได้กล่าวต่อเด็กหนุ่มคนนั้นว่า เราก็ปรารถนาจะท่องโศลกนี้เหมือนกัน เพื่อจะได้เป็นอานิสงส์ผลบุญในชาติหน้า ท่านพ่อครู เราได้ตำข้าวอยู่ที่นี่ ๘ เดือนเศษแล้ว ยังไม่เคยไปที่โรงธรรมเลย ดังนั้นขอวอนท่านพ่อครูช่วยนำทางไปบูชาโศลกนั้นด้วยเถิด’
“หนุ่มน้อยได้นำทางไปกราบไหว้ที่โศลกนั้น อาตมาได้พูดขึ้นว่า ‘เราไม่รู้จักตัวหนังสือ ขอรบกวนท่านพ่อครูช่วยอ่านให้ฟังด้วยเถิด’
1
“ขณะนั้น มีผู้ช่วยผู้ตรวจการแห่งเมืองเจียงโจว แซ่จาง นามยื้อย่งได้กรุณาอ่านให้ฟัง เมื่ออาตมาฟังจบก็พูดขึ้นว่า ‘เราก็มีโศลกอยู่บทหนึ่ง ขอความกรุณาให้ท่านผู้ช่วยฯช่วยเขียนให้ด้วยเถิด’
“ผู้ช่วยฯกล่าวว่า ‘เจ้าก็จะประพันธ์โศลกด้วยหรือ ช่างเป็นเรื่องที่หายากเสียจริง ๆ !’
2
“อาตมาตอบผู้ช่วยฯไปว่า ‘หากประสงค์ศึกษาในอนุตตรโพธิ ไม่ควรดูถูกผู้เริ่มศึกษา เพราะบุคคลระดับล่างอาจมีปัญญาระดับสูง บุคคลระดับสูงยังจักมีโอกาสลุ่มหลงสิ้นปัญญา ดังนั้นหากดูถูกผู้คน ก็จักเป็นบาปที่มิอาจประเมินได้’
“ผู้ช่วยฯจึงกล่าวว่า ‘ขอให้ท่านกล่าวโศลกมาเถอะ เราจะช่วยเขียนให้เอง และหากท่านได้รับธรรม ท่านจะต้องโปรดฉันเป็นคนแรก อย่าลืมคำพูดนี้เสียล่ะ’ โศลกของอาตมามีความว่า
โพธิเดิมไร้ต้น กระจกยลแท่นมีไม่
เดิมนั้นไร้สิ่งใด ฝุ่นเกาะใส่ที่ใดกัน
2
“หลังจากเขียนโศลกนี้เสร็จ เหล่าศิษย์ล้วนพากันตะลึงและชื่นชมอย่างอัศจรรย์ใจ อีกยังพากันโจษจันว่า ‘ช่างแปลกยิ่งนัก ! ไม่ควรตัดสินคนด้วยรูปร่าง ไม่รู้ว่านานเท่าไรแล้วที่เขาได้สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ในร่างมนุษย์ ?’
1
“พระธรรมจารย์เห็นทุกคนต่างเปี่ยมด้วยความอัศจรรย์ใจ ก็เกรงว่าอาตมาจะถูกผู้คนทำร้าย จึงได้นำรองเท้าไปลบที่โศลกและพูดว่า ‘ยังไม่แจ้งในธรรมญาณ’ ครั้นทุกคนได้ฟังก็พากันเห็นพ้องเป็นเช่นนั้น
1
“วันต่อมา พระธรรมจารย์ได้แอบมาที่โรงตำข้าว และได้เห็นอาตมาผูกหินถ่วงไว้ที่เอวเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการตำข้าว จึงพูดขึ้นว่า ‘สำหรับบุคคลที่มุ่งมั่นแสวงธรรมจนลืมความเจ็บปวดทางสังขาร ควรเป็นเช่นนี้มิใช่ฤๅ ?’
“จากนั้นท่านได้ถามต่อไปว่า ‘ข้าวได้ที่แล้วหรือยัง ?’
“อาตมาตอบว่า ‘ได้ที่นานแล้ว ! ยังขาดเพียงแค่ร่อนเท่านั้น’
1
“ท่านพระธรรมจารย์หงเหยิ่นจึงเคาะครกตำข้าวด้วยไม้เท้า ๓ ครั้งแล้วเดินจากไป อาตมาเข้าใจความหมายดี ดังนั้นจึงไปที่ห้องของพระธรรมจารย์ในยาม ๓ พระธรรมจารย์ได้ใช้จีวรปิดคลุมมิให้ผู้ใดเห็นและท่องวัชรสูตรให้อาตมาฟัง จนกระทั่งถึงตอน ควรไร้ยึดติด และบังเกิดจิต นั้น อาตมาจึงได้เข้าใจในบัดดลว่า ‘แท้จริงแล้ว สรรพธรรมล้วนไม่ห่างจากธรรมญาณเลย’ จากนั้นจึงกล่าวต่อท่านว่า ‘ที่แท้ธรรมญาณเดิมนั้นบริสุทธิ์ ! ที่แท้ธรรมญาณเดิมไม่เกิดดับ ! ที่แท้ธรรมญาณเดิมพร้อมทุกสิ่ง ! ที่แท้ธรรมญาณเดิมไร้การเคลื่อนไหว ! ที่แท้ธรรมญาณสามารถเกิดหมื่นธรรม !’
2
“พระธรรมจารย์ได้ทราบว่าอาตมาได้แจ่มแจ้งในธรรมญาณ จึงพูดกับอาตมาว่า ‘ไม่แจ้งจิตเดิม เรียนธรรมก็ไร้ค่า หากแจ้งในจิตเดิม เห็นแจ้งในธรรมญาณ จึงจะได้ชื่อว่าวีรชน ครูบาแห่งมนุษย์และเทวา อีกนามว่าพระพุทธเจ้า’
1
“อาตมาได้รับธรรมในยาม ๓ โดยไม่มีใครทราบ ท่านอาจารย์ได้ถ่ายทอดคำสอนบรรลุฉับพลันและมอบบาตรจีวรให้อาตมา พร้อมทั้งกล่าวว่า ‘ในตอนนี้เจ้าเป็นพระธรรมจารย์องค์ที่ ๖ แล้ว จงประคองรักษาห้วงคิดให้จงดี และออกโปรดเวไนยสัตว์ให้อย่างทั่วถึง เพื่อสืบทอดสู่ภายภาคหน้า จงอย่าปล่อยให้ขาดสายเป็นอันขาด เจ้าจงฟังโศลกของเรานี้ไว้
สรรพสัตว์มาลงปลูก ผูกเหตุเกี่ยวผลคืน
สิ้นความคิดไร้เหตุปลูก ไร้ญาณจิตไม่มีเกิด”
“พระธรรมจารย์ยังกล่าวย้ำอีกว่า ‘ในอดีต ยามที่พระโพธิธรรม แรกเข้าสู่เมืองจีนนั้น ผู้คนต่างยังไม่เชื่อถือ ท่านจึงส่งมอบจีวรนี้เป็นสัจจวัตถุและสืบทอดต่อมาเป็นรุ่น ๆ ส่วนธรรมนั้นก็ถ่ายทอดโดยใจประทับใจ ให้แจ้งเอง ให้เข้าใจเอง ตั้งแต่อดีต พระพุทธะทุกพระองค์ล้วนถ่ายทอดแต่องค์สัจธรรม ส่วนอาจารย์ทุกท่านล้วนประทับให้รู้แต่จิตเดิม สำหรับจีวรนี้เป็นบ่อเกิดของการแย่งชิง นับจากเจ้าแล้วจงอย่าได้ส่งมอบต่อไปอีก หากมีการส่งมอบกันต่อไป ชีวิตก็จักอันตรายดุจสายใยบาง เจ้าจงรีบไป เพราะเกรงว่าจะมีคนทำร้ายเจ้า’
“ครั้นอาตมาได้ฟังจึงถามว่า ‘ให้ตรงไปทางใดฤๅ ?’
“ท่านตอบว่า ‘ถึงหวย จงหยุด ถึงฮุ่ย จงเร้น’
“อาตมาได้รับบาตรจีวรในยาม ๓ จึงได้ถามท่านต่อไปว่า ‘ศิษย์เป็นคนทางใต้ ไม่ชำนาญทางบนเขานี้ มิทราบว่าจะไปที่ปากแม่น้ำได้อย่างไร ?’
“ท่านตอบว่า ‘เจ้าไม่ต้องกังวล เราจะเป็นผู้ส่งเจ้าไปเอง’
“พระธรรมจารย์ได้ส่งอาตมาจนถึงสถานีพักม้าจิ่วเจียง ท่านบอกให้ลงเรือลำหนึ่งและถือพายเตรียมแจวเรือด้วยตัวท่านเอง อาตมารีบรั้งและกล่าวว่า ‘เชิญอาจารย์นั่งลงเถิด ให้ศิษย์เป็นผู้แจวเรือเอง’
“ท่านพูดว่า ‘เราควรพาเจ้าข้ามไปจึงจะถูก’
“อาตมาตอบไปว่า ‘ยามหลงอาจารย์คือผู้พาข้าม ยามแจ้งตนต้องพาตนข้าม คำว่าข้ามแม้เหมือนกัน แต่ความนัยจะต่างกัน ศิษย์เป็นคนบ้านนอกชายแดน น้ำเสียงแปร่ง ๆ แต่ด้วยพระคุณท่านอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดธรรมให้ ในวันนี้จึงได้รู้แจ้ง ฉะนั้นจะเป็นการถูกต้องกว่า หากให้ธรรมญาณตนพาตนข้าม’
1
“พระธรรมจารย์กล่าวว่า ‘สาธุ สาธุ พระธรรมในภายภาคหน้าจะรุ่งเรืองเนื่องจากเจ้า เจ้าจงรักษาตัวให้ดี และพยายามมุ่งไปทางทิศใต้ แต่ยังไม่ควรเผยตัวเร็วนัก มิเช่นนั้นพระธรรมจะยากประกาศได้ ’
“หลังจากอาตมาได้กล่าวอำลาท่านแล้ว จึงได้รีบเดินทางลงสู่ทิศใต้ เป็นเวลาประมาณสองเดือนก็เดินทางจนถึงเนินต้าหยวี่
“เมื่อพระธรรมจารย์ได้กลับถึงสำนัก เป็นเวลาหลายวันที่ท่านไม่ปรากฏตัวบนโรงธรรม เหล่าสาวกต่างสงสัย จึงพากันมาถามไถ่ว่า ‘ท่านอาจารย์สุขภาพยังสบายดีหรือไม่ ?’
“ท่านได้ตอบไปว่า ‘โรคภัยนั้นไม่มี หากจีวรและธรรมได้มุ่งไปใต้เรียบร้อยแล้ว’ ทุกคนต่างพากันถามว่าใครคือผู้ได้รับมอบ
“ท่านตอบว่า ‘ฮุ่ยเหนิงคือผู้ได้’
“เมื่อทุกคนได้ทราบแล้ว ได้มีผู้คนจำนวนหลายร้อยคนออกติดตามแย่งชิงบาตรและจีวร เวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่งนามว่าเฉินฮุ่ยหมิง เคยเป็นแม่ทัพระดับโทตรี เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยหยาบกระด้าง และมีความมุ่งมั่นอย่างสูงที่จะสะกดตามรอยอาตมาให้พบ จนเขาสามารถตามอาตมาพบก่อนใคร
“อาตมาได้วางบาตรและจีวรลงบนก้อนหินพร้อมทั้งอธิษฐานว่า ‘จีวรนี้คือเครื่องหมายแห่งสัจจะ จะใช้วิธีแย่งชิงไปกันได้อย่างไร ?’
“พอกล่าวจบ อาตมาจึงไปหลบซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้า เมื่อฮุ่ยหมิงมาถึงก็พยายามยกบาตรและจีวร แต่ก็ไม่สามารถขยับได้แต่อย่างใด จึงตะโกนขึ้นว่า ‘ท่านนักธรรม ! ท่านนักธรรม ! ฉันมาเพื่อธรรม ไม่ใช่มาเพื่อจีวร’
2
“อาตมาจึงเดินออกมาและนั่งขัดสมาธิอยู่บนก้อนหิน ฮุ่ยหมิงทำความเคารพแล้วกล่าวว่า ‘ขอให้ท่านนักธรรมแสดงธรรมแก่เราด้วยเถิด’
“อาตมาจึงพูดแก่ฮุ่ยหมิงว่า ‘ในเมื่อเจ้ามาเพื่อธรรม ก็จงสงบอารมณ์ทั้งปวง อย่าให้เกิดแม้เพียงดำริเดียว แล้วเราจึงจะแสดงธรรมแก่เจ้า’
“ฮุ่ยหมิงสงบใจอยู่ได้พักใหญ่ อาตมาจึงพูดว่า ‘ไม่คิดดี ไม่คิดร้าย เวลาขณะนั้น มิใช่เป็นโฉมหน้าเดิมของท่านดอกฤๅ ?’
“ครั้นฮุ่ยหมิงได้ฟังก็เกิดความรู้แจ้งในทันใด จึงถามอีกครั้งว่า ‘นอกจากคำสอนข้อคิดอันแยบยลนี้แล้ว ยังได้มีข้อคิดแยบยลอันใดอีกหรือไม่ ?’
“อาตมากล่าวว่า ‘หากสามารถกล่าวแก่เจ้าได้ก็ไม่ใช่แยบยลแล้วแล หากเจ้าย้อนส่องที่ตน สิ่งแยบยลมีอยู่ในตัวเจ้าแล้ว’
“ฮุ่ยหมิงกล่าวว่า ‘ฮุ่ยหมิงแม้อยู่หวงเหมย แต่ไม่เคยพิจารณาโฉมหน้าเดิมของตัวเองเลย วันนี้ได้ท่านเป็นผู้ชี้ทางกระจ่าง ซึ่งเปรียบดั่งการดื่มน้ำ น้ำจะร้อนหรือเย็นอย่างไรตนเท่านั้นคือผู้รู้ และวันนี้ท่านนักธรรมได้เป็นครูของเราแล้ว’
“อาตมาตอบว่า ‘ถ้าเป็นดังนั้นจริง เราก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันของพระธรรมจารย์องค์ที่ ๖ ท่านจงดูแลตัวท่านให้ดีเถิด’
“ฮุ่ยหมิงได้ถามต่อไปว่า ‘นับแต่นี้ไป เราควรจะไปทางใดฤๅ ?’
“อาตมาตอบว่า ‘ถึงเอวี๋ยน จงหยุด ถึงเหมิง จงอยู่’ ฮุ่ยหมิงทำความเคารพและเดินทางจากไป
“หลังจากอาตมาไปถึงเฉาซี ก็ยังคงถูกพวกคนใจบาปจองล้างจองผลาญอีก จึงได้หลบซ่อนตัวอยู่กับขบวนพรานป่าที่ซื่อฮุ่ย เป็นเวลา ๑๕ ปี ในระหว่างนั้นก็ได้หาทางสั่งสอนอบรมธรรมตามโอกาส ส่วนพวกนายพรานก็มักใช้ให้อาตมาเฝ้ากับดัก ทุกครั้งที่สัตว์ติดกับก็จะปล่อยมันไป เมื่อถึงเวลาอาหาร ก็จะนำผักมาต้มที่หม้อแกงเนื้อ หากมีคนถามก็จะตอบไปว่า ‘อาตมาชอบทานผักข้างเนื้อ’
1
“มีอยู่วันหนึ่ง อาตมาได้คิดอยู่ภายในใจว่า ‘เวลาที่จะแพร่ธรรมมาถึงแล้ว ไม่ควรซ่อนตัวอยู่เช่นนี้ตลอดไป’ จึงได้ออกเดินทางมาจนถึงวัดฝ่าซิ่งแห่งเมืองกวางเจา ขณะนั้น มีพระรูปหนึ่งนาม อิ้นจง กำลังเทศนามหาปรินิรวาณสูตร เวลานั้นธงริ้วได้สะบัดพลิ้วด้วยสายลม ภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า ‘คือธงกำลังไหว’ แต่ภิกษุอีกรูปหนึ่งแย้งขึ้นว่า ‘คือลมพัดให้ไหว’ ภิกษุทั้งสองต่างโต้เถียงจนไม่อาจมีข้อสรุปได้ อาตมาจึงเข้าไปและกล่าวว่า ‘ไม่ใช่ลมไหว และไม่ใช่ธงไหว แต่เป็นใจท่านต่างหากที่ไหว’ ที่ประชุมได้ฟังต่างพากันตะลึง
“ภิกษุอิ้นจงเดินมาเชิญอาตมาขึ้นนั่งบนอาสนะชั้นสูง พร้อมทั้งซักถามในปมธรรมหลายเรื่องด้วยกัน ได้พบว่าอาตมาสามารถตอบได้อย่างเรียบง่ายหากเปี่ยมด้วยเหตุผล ซึ่งได้แฝงด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าวาจาอักษรใดๆ
“ภิกษุอิ้นจงพูดขึ้นว่า ‘ท่านนักธรรม ! ท่านต้องเป็นบุคคลพิเศษเหนือคนธรรมดาเป็นแน่ ได้ทราบมานานแล้วว่า ธรรมและจีวรจากหวงเหมยได้มุ่งมาทางใต้ ฤๅว่าจะเป็นท่านนักธรรมกันแน่ ?’
“อาตมาตอบว่า ‘มิกล้า !’ ภิกษุอิ้นจงจึงได้ทำความเคารพ และขอให้อาตมานำบาตรและจีวรออกแสดงแก่สาธารณะ
“จากนั้นภิกษุอิ้นจงได้ถามขึ้นอีกว่า ‘คำสอนแห่งหวงเหมย มิทราบว่าได้ถ่ายทอดประการใด ?’
1
“อาตมาตอบว่า ‘การถ่ายทอดนั้นไม่มี มีเพียงกล่าวเฉพาะเรื่องแจ้งธรรมญาณ โดยไม่กล่าวในเรื่องฌานสมาธิเพื่อวิมุติ’
1
“ภิกษุอิ้นจงถามต่อไปว่า ‘ไฉนจึงไม่กล่าวถึงเรื่องฌานสมาธิเพื่อวิมุติล่ะ ?’ อาตมาตอบว่า ‘สิ่งนั้นคือธรรมอันเป็นสอง ซึ่งไม่ใช่พุทธธรรม เพราะพุทธธรรมคือธรรมอันไม่เป็นสอง’
1
“ภิกษุอิ้นจงได้ซักต่อไปว่า ‘อย่างใดจึงถือว่าเป็นพุทธธรรมอันไม่เป็นสอง ?’
1
“อาตมาตอบว่า ‘มหาปรินิรวาณสูตรที่ท่านได้เทศนาไปเมื่อสักครู่มีกล่าวไว้ว่า แจ่มแจ้งในพุทธญาณ คือธรรมอันไม่เป็นสองแห่งพุทธธรรม ดังที่พระโพธิสัตว์เกากุ้ยเต๋อหวังได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ‘หากมีบุคคลกระทำผิดศีลปาราชิกสี่อย่าง ก็ดี กระทำอนันตริยกรรมห้าอย่าง ก็ดี หรือเป็นพวกอิจฉันติกะ ก็ดี บุคคลเหล่านี้ควรเป็นบุคคลที่ขาดสะบั้นซึ่งรากบุญแห่งพุทธญาณหรือไม่ ?’ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘รากบุญมีสอง หนึ่งคือนิจจัง อีกหนึ่งคืออนิจจัง แต่พุทธญาณนั้นจะมิใช่ทั้งนิจจังและอนิจจัง ดังนั้นจึงไม่ขาดสะบั้น และเช่นนี้แหละที่เรียกว่าไม่เป็นสอง’ สิ่งหนึ่งดี อีกสิ่งหนึ่งไม่ดี แต่พุทธญาณมิใช่ดีและมิใช่ไม่ดี เช่นนี้เรียกว่าไม่เป็นสอง ภายใต้ขันธ์และธาตุนั้น สำหรับปุถุชนจะพบเห็นเป็นสอง แต่สำหรับอริยะผู้รู้แจ้ง จะเข้าใจดีว่าธรรมญาณนั้นไร้ความเป็นสอง ญาณอันไร้ความเป็นสองจึงจะเป็นพุทธญาณ’
1
“ครั้นภิกษุอิ้นจงได้ฟัง ก็เกิดความปลาบปลื้มและประนมมือว่า ‘สูตรที่อาตมาได้อธิบายไปช่างไร้ค่าดั่งกรวดทราย แต่สำหรับคำอธิบายของท่าน ช่างมากค่าดุจทองนพคุณ’
1
“ครั้นแล้วจึงประกอบพิธีอุปสมบทให้แก่อาตมา และยินดีคารวะอาตมาในฐานะครูบาอาจารย์ อาตมาจึงได้ประกาศศักราชธรรมแห่งตงซัน ภายใต้ร่มโพธิ์นับแต่นั้น
“นับแต่อาตมาได้รับธรรมที่ตงซัน ความระกำลำบากล้วนเคยผจญมาสิ้น ชีวิตนี้ก็อันตรายดุจสายใยบาง และสำหรับวันนี้ การที่อาตมาสามารถพบกับท่านผู้ตรวจการ คณะข้าราชการ ภิกษุ ภิกษุณี คฤหัสถ์ นักพรตเต๋าทั้งหลายในการประชุมครั้งนี้ได้ อาจเป็นเพราะเราเคยได้ผูกสัมพันธ์กันมาแต่หลายกัปก่อน หรืออาจเป็นเพราะเราต่างได้สักการะบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวงมาแต่อดีต หรืออาจด้วยได้ปลูกเหตุบุญร่วมกันมา จึงเป็นเหตุให้ได้สดับคำสอนแห่งการบรรลุฉับพลันนี้ได้ คำสอนคือสิ่งที่บูรพาริยเจ้าได้ตกทอดกันมา หาใช่เป็นปัญญาที่อาตมาพึงสร้างเองได้ไม่ หากปรารถนาสดับฟังคำสอนของพระอริยเจ้าแต่อดีตเป็นต้นมา ขั้นแรกควรชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ครั้นได้ฟังแล้ว ก็ควรขจัดความสงสัยให้สิ้นไป เช่นนี้ก็จะไม่เกิดความแตกต่างกับพระอริยเจ้าแต่อดีตเลยแม้แต่น้อย”
ครั้นจบพระธรรมเทศนา ผู้ฟังต่างพากันปลาบปลื้มปีติ ทำความเคารพแล้วลาจากไป
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา