8 ส.ค. 2019 เวลา 12:43 • ปรัชญา
พระสูตรเว่ยหล่าง
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยปรัชญา
1
วันต่อมา ผู้ตรวจการเหว่ยได้มานิมนต์ให้ท่านพระธรรมจารย์ขึ้นแสดงธรรมอีกครั้ง ครั้นพระธรรมจารย์ได้ขึ้นสู่ธรรมาสน์แล้วจึงกล่าวแก่สาธุชนว่า “ทุกคนจงทำจิตใจให้ผ่องใส และมาร่วมกันสวด มหาปรัชญาปารมิตา กันเถอะ !”
จากนั้นท่านได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ท่านผู้คงแก่เรียน ! สำหรับโพธิปรัชญาญาณนั้น จำเดิมชาวโลกก็ล้วนมีพร้อมในตนอยู่แล้ว หากเพียงเพราะจิตใจลุ่มหลง ดังนั้นจึงไม่อาจรู้แจ้งด้วยตนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำต้องอาศัยผู้ทรงมหาปัญญามาชี้แนะให้แจ้งในธรรมญาณ เราพึงรู้ว่า ระหว่างคนเขลาและคนมีปัญญาก็ล้วนมีพุทธญาณที่ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แต่เป็นเพราะมีความหลงกับความแจ้งที่แตกต่าง ดังนั้นจึงได้มีคนเขลาและคนทรงปัญญา ในวันนี้ อาตมาจะขอกล่าวมหาปรัชญาปารมิตาธรรม เพื่อให้ทุก ๆ ท่านล้วนได้เกิดปัญญา ทุกท่านจงมีความตั้งใจในการฟัง และอาตมาจักได้กล่าวแก่ทุก ๆ ท่าน
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ชาวโลกวัน ๆ ได้แต่สวดท่องปรัชญา แต่หาได้เข้าใจในปรัชญาแห่งธรรมญาณไม่ จุดนี้ก็เสมือนหนึ่งปากพูดว่ากินแต่ท้องก็ไม่มีทางอิ่มได้ ปากพูดแต่ว่าความว่าง จนแม้นเวลาจะสิ้นไปเป็นพันหมื่นกัปก็ไม่อาจได้แจ้งในธรรมญาณ ซึ่งที่สุดแล้วก็ไร้ประโยชน์ใด ๆ อยู่ดี
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! คำว่ามหาปรัชญาปารมิตานี้เป็นคำสันสกฤต มีความหมายว่ามหาปัญญาสู่ฝั่งฟากโน้น แต่จำเป็นต้องอาศัยใจปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ที่ปากท่อง หากปากท่องแต่ใจไม่ปฏิบัติ ก็เป็นหนึ่งความฝัน เป็นหนึ่งมายา เป็นหนึ่งนิศาชล และอสนี แต่หากปากท่องและใจได้ปฏิบัติ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปากกับใจตรงกัน ควรรู้ว่าธรรมญาณนั้นคือพระพุทธะ ถ้าห่างจากธรรมญาณก็จะไร้พระพุทธะใด ๆ อีก
“อะไรคือมหา ? มหาก็คือความยิ่งใหญ่ จิตใจมีความกว้างใหญ่ดุจความว่างเปล่าที่ไร้ขอบเขตจำกัด อีกทั้งไร้เหลี่ยมกลมใหญ่เล็ก อีกทั้งมิใช่เขียวเหลืองแดงขาว อีกทั้งไร้บนล่างสั้นยาว อีกทั้งไร้ความโกรธความปีติ ไร้ผิดไร้ถูก ไร้บุญไร้บาป ไร้ต้นไร้ปลาย ปวงพุทธเกษตรทั้งหลาย ล้วนดุจดั่งความว่างเปล่าฉะนี้ และธรรมญาณอันแยบยลของชาวโลกจำเดิมนั้นก็คือความว่าง โดยไร้แม้หนึ่งธรรมที่จะได้ สำหรับความว่างอันแท้จริงแห่งธรรมญาณ ก็เป็นเช่นนี้ดุจเดียวกัน
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! มิใช่ได้ยินอาตมากล่าวว่าว่างก็ไปติดยึดในความว่าง ประการสำคัญคืออย่าติดยึดในความว่าง หากทำใจว่างนั่งสมาธิ ก็จะเกิดการติดยึดในความว่างแบบไม่นึกคิดใด ๆ
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ความว่างแห่งสากลจักรวาล สามารถจุสรรพสิ่งรูปพรรณนานา เช่น ตะวันจันทรา ดวงดาวดารา ภูผาแม่น้ำ ธรณีสายธาร ผักหญ้าป่าไม้ คนบุญคนบาป กุศลธรรมอกุศลธรรม สวรรค์นรก ทะเลมหาสมุทร ปวงผาสุเมรุ ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในความว่างทั้งสิ้น และความว่างแห่งธรรมญาณของชาวโลก ก็เป็นเช่นนี้ดุจเดียวกัน
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ธรรมญาณสามารถจุสรรพธรรมคือใหญ่ สรรพธรรมล้วนมีอยู่ในธรรมญาณ ซึ่งหากได้เห็นในความดีความชั่วของชนทั้งปวง โดยไม่ยึดไม่ละ อีกไม่เกาะเกี่ยวยึดมั่น ใจดุจความว่างเปล่า เช่นนี้เรียกว่าใหญ่ ด้วยฉะนี้ เราจึงเรียกว่ามหา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! คนลุ่มหลงเอาแต่ปากพูด แต่ผู้มีปัญญาจะใช้ใจปฏิบัติ แต่ก็ยังมีคนลุ่มหลงอีกพวกหนึ่งที่ทำใจว่างนั่งสมาธิ จิตใจสิ้นสูญไม่คิดสิ่งใด ๆ แล้วเรียกตัวเองว่า มหา สำหรับคนประเภทนี้ก็ไม่อาจพูดอะไรกับเขาได้อีก เหตุเพราะมีมิจฉาทิฏฐินั่นเอง
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! จิตใจกว้างใหญ่ สามารถครอบคลุมไปทั่วทั้งธรรมธาตุ หากได้ช่วงใช้ก็จะมีความกระจ่างชัด เมื่อประยุกต์ปฏิบัติก็จะรู้ในทุกสิ่ง ซึ่งทุกสิ่งคือหนึ่ง หนึ่งคือทุกสิ่ง ไปมาเสรี กายใจไร้ข้องขัด เช่นนี้แหละคือปรัชญา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! สำหรับปรัชญาญาณทั้งหลายล้วนเกิดจากธรรมญาณ มิใช่ได้จากภายนอก จงอย่าได้เข้าใจผิด เช่นนี้จึงจะถือได้ว่าธรรมญาณแท้แห่งตนเป็นประธาน ยามที่หนึ่งจริงทุกสิ่งก็จริง และสำหรับเรื่องสำคัญแห่งสภาวะจิตใจ ก็ไม่ควรเจริญธรรมอันคับแคบ มิใช่วัน ๆ พูดแต่ความว่าง หากใจกลับไม่ปฏิบัติซึ่งปฏิปทานี้ ประการนี้ก็ประหนึ่งปุถุชนที่ตั้งตนเป็นพระราชา สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร และก็มิอาจถือเป็นศิษย์ของอาตมาได้ !
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! อะไรคือปรัชญา ? อันว่าปรัชญา คำจีนเรียกว่าจื้อฮุ่ย คือในทุกสถานที่ ในทุกเวลา ทุกวิถีความคิดจะไม่มีความเขลา รู้นิตย์เจริญในปัญญา เช่นนี้ก็คือปรัชญาปฏิปทา ครั้นดำริเขลาก็คือปรัชญาสิ้น ครั้นดำริปัญญาก็คือปรัชญาเกิด แต่ชาวโลกนั้นโง่เขลาลุ่มหลง จึงไม่สามารถเห็นปรัชญา ปากพูดแต่ปรัชญา หากใจมักโง่เขลา และมักจะพูดยกตัวเองว่าได้เจริญในปรัชญา ทุกความคิดพูดถึงแต่ความว่าง แต่กลับไม่เข้าใจในความว่างอันแท้จริงเลย ความจริงแล้วปรัชญาไร้รูปลักษณะ ซึ่งจิตแห่งปัญญานั่นแหละจึงจะใช่ หากเข้าใจด้วยประการเช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่าปรัชญาญาณ
“อะไรคือปารมิตา ? คำนี้เป็นภาษาอินเดีย ภาษาจีนอธิบายความหมายว่า ไปสู่ฝั่งโน้น หากตีความก็คือพ้นจากการเกิดดับ ซึ่งหากยึดติดในสภาวะ การเกิดดับก็จักเกิด ดุจดั่งมีระลอกคลื่นบนผิวน้ำ เช่นนี้จึงเรียกว่า ฝั่งนี้ แต่หากพ้นจากการยึดติดในสภาวะ ก็จะไร้การเกิดดับ อันเสมือนหนึ่งน้ำที่ไหลลื่นอยู่เป็นนิตย์ เช่นนี้เรียกว่า ฝั่งโน้น และนี้แหละคือความหมายของปารมิตา
1
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! คนหลงได้แต่ใช้ปากท่อง และในขณะที่ท่องนั้น ก็มีทั้งอกุศลและมายา แต่หากทุกความคิดนิตย์ปฏิบัติ เช่นนี้จึงจะเรียกว่าธรรมญาณแท้ ผู้ที่แจ้งในธรรมนี้ ก็คือปรัชญาธรรม ผู้ที่บำเพ็ญปฏิปทานี้ ก็คือปรัชญาปฏิปทา หากไม่บำเพ็ญก็คือปุถุชน แต่หากดำริจะมุ่งมั่นบำเพ็ญปฏิบัติ ตัวเราก็เทียบเท่าพระพุทธะแล้ว
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ปุถุชนคือพระพุทธะ กิเลสคือโพธิ ความคิดก่อนหากหลงก็คือปุถุชน ความคิดหลังหากแจ้งก็คือพระพุทธะ ความคิดก่อนหากติดในสภาวะก็คือกิเลส ความคิดหลังหากห่างจากสภาวะก็คือโพธิ
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! มหาปรัชญาปารมิตา คือวิเศษสุด คือสูงล้ำสุด คือที่หนึ่งสุด ไร้หยุดไร้ไปและไร้มา พระพุทธะในสามกาล ล้วนเกิดจากสิ่งนี้ ดังนั้นจึงควรใช้มหาปัญญานี้ ขจัดสิ้นซึ่งขันธ์ ๕ กิเลสและห่วงโลกีย์ สำหรับการบำเพ็ญปฏิบัติด้วยประการนี้ ก็จักบรรลุในพระพุทธมรรค และเปลี่ยน ๓ พิษร้าย ให้กลายเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! สำหรับธรรมวิธีของอาตมานี้ จากหนึ่งปรัชญาเกิดเป็น ๘๔,๐๐๐ ปัญญา เพราะเหตุใด ? เป็นเพราะชาวโลกมี ๘๔,๐๐๐ ห่วงโลกีย์ หากชาวโลกไร้ห่วงโลกีย์เหล่านี้แล้ว ปัญญาก็จักบังเกิดอยู่เป็นนิตย์ โดยไม่ห่างจากธรรมญาณ สำหรับผู้แจ้งในธรรมนี้ ก็คือผู้ที่ไร้ดำริ ไร้คะนึงเสน่หา ไร้ติดยึด ไร้มุสาวาจา และช่วงใช้ตถตาญาณแห่งตน ฉายส่องด้วยปัญญาอันเจิดจรัส ไม่เกิดการยึดและการละในธรรมทั้งปวง ฉะนี้ก็คือการแจ้งในธรรมญาณและสำเร็จในพระพุทธมรรค
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! หากปรารถนาที่จะเข้าสู่ปรัชญาสมาธิและธรรมธาตุอันลึกซึ้ง ก็ควรบำเพ็ญในปรัชญาปฏิปทา ปฏิบัติสวดท่องในสูตรวัชรปรัชญาปารมิตา เช่นนี้ก็จะสามารถแจ่มแจ้งในธรรมญาณได้ ควรรู้ว่าบุญกุศลของพระสูตรนี้ยิ่งใหญ่สุดคณนา ในพระสูตรนี้ได้มีการสรรเสริญอย่างแจ่มชัด โดยไม่อาจจะกล่าวให้หมดได้
“สำหรับธรรมวิถีนี้คือ อนุตตรยาน โดยจักกล่าวแก่ผู้มีปัญญาแก่กล้า จักกล่าวแก่ผู้มีรากฐานสูงส่ง ซึ่งหากเป็นผู้ที่รากฐานตื้นปัญญาน้อยได้สดับแล้ว ในใจจะไม่บังเกิดความศรัทธา เพราะเหตุใด ? ข้อนี้อุปมาดั่งมีมังกรฟ้าบันดาลฝนให้ตกในชมพูทวีป นี้ นครเมืองและหมู่บ้านล้วนพากันลอยไปตามกระแสน้ำ ดุจเดียวกับการลอยใบไม้ใบหญ้า แต่หากฝนนั้นไปตกที่มหาสมุทร ก็จะไม่รู้สึกว่ามีการเพิ่มหรือลดแต่อย่างใด
“สำหรับมหายานชน สำหรับอนุตตรยานชน เมื่อได้สดับฟังวัชรสูตร ใจก็จะบังเกิดความรู้แจ้ง จึงทราบว่าธรรมญาณนั้นได้มีพร้อมซึ่งปรัชญาญาณ และเนื่องด้วยการใช้ปัญญาแห่งตนหมั่นส่องพินิจ จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยอักษรอีกต่อไป ข้อนี้อุปมาได้ดั่งน้ำฝน ที่ไม่ใช่เกิดจากการไม่มี แต่เป็นเพราะมังกรฟ้าเป็นผู้บันดาลต่างหาก จึงทำให้เวไนยสัตว์และต้นไม้ใบหญ้า รวมถึงสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนได้รับการชโลมชุ่ม ส่วนแต่ละสายธารลำน้ำเหล่านี้ สุดท้ายก็ไหลลงสู่ทะเลจนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว สำหรับปรัชญาญาณแห่งธรรมญาณของเวไนยสัตว์ก็เป็นเช่นนี้ดุจเดียวกัน
1
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ครั้นคนที่มีรากฐานตื้นบางได้ฟังคำสอนบรรลุฉับพลันนี้แล้ว ก็เป็นดั่งต้นไม้ต้นหญ้าที่มีรากอันตื้นเขิน หากฝนตกกระหน่ำอย่างหนัก ก็จะทำให้ล้มระเนระนาดจนไม่สามารถเติบใหญ่ได้ ผู้มีรากฐานตื้นบางก็เป็นเช่นนี้ดุจเดียวกัน สำหรับปรัชญาญาณที่มีอยู่เดิมของเวไนยสัตว์ทั้งหลายนั้น มิได้แตกต่างอะไรกับผู้ทรงมหาปัญญาเลย แต่เหตุไฉนเมื่อฟังธรรมแล้วจึงไม่สามรถรู้แจ้งด้วยตนได้เล่า ? เหตุนี้ก็เพราะมิจฉาทิฏฐิบดบังอย่างแน่นหนา กิเลสฝังรากหยั่งลึก โดยสามารถอุปมาดั่งก้อนเมฆใหญ่บดบังดวงตะวัน หากไม่มีลมพัด แสงตะวันก็ไม่อาจเล็ดลอดออกมาได้ แต่ความจริงปรัชญาญาณไม่มีใหญ่เล็ก เหตุเป็นเพราะใจของเวไนยสัตว์มีความแตกต่างกันที่ความหลงกับความแจ้ง ใจที่หลงจะมองแต่ภายนอก โดยจะบำเพ็ญเพื่อค้นหาพระพุทธะ เช่นนี้ก็คือยังไม่แจ้งในธรรมญาณตน และนี่ก็คือผู้ที่มีรากฐานตื้นบาง แต่หากรู้แจ้งในคำสอนบรรลุฉับพลัน ไม่ยึดติดในการบำเพ็ญภายนอก เพียงแต่ในใจให้หมั่นบังเกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสห่วงโลกีย์อยู่เป็นนิตย์ เช่นนี้ก็คือการแจ้งในธรรมญาณ “ท่านผู้คงแก่เรียน ! ภายในภายนอกไม่ติดยึด ไปมาเสรีอิสระ สามารถขจัดจิตใจที่ติดยึด มีความแจ่มแจ้งไร้อุปสรรค ซึ่งหากสามารถบำเพ็ญปฏิบัติปฏิปทานี้ ก็จะไม่มีความแตกต่างอะไรกับสูตรปรัชญาเลยแม้แต่น้อย
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! สูตรและปิฎกอักขระทั้งหลาย ทั้งมหายานและหีนยาน รวมทั้งพุทธพจน์ ๑๒ หมวด ทั้งหมดล้วนมีความเฉพาะเจาะจงต่อความต้องการและอุปนิสัยของแต่ละปัจเจกชน ซึ่งได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคล หากไร้เวไนยสัตว์และบุคคลทั้งปวงแล้ว หมื่นศาสตร์ธรรมทั้งปวงจำเดิมก็ไม่มีอยู่แล้ว จึงทราบได้ว่า เนื่องเพราะบุคคลเหล่านี้ จึงได้เกิดการบัญญัติธรรมทั้งปวงขึ้น เนื่องเพราะบุคคลเหล่านี้ จึงได้เกิดการเทศนาพระสูตรทั้งหลาย อันสาเหตุนั้น ก็เป็นเพราะบุคคลจะมีแบบเขลา มีแบบทรงปัญญา ซึ่งคนเขลาคือคนด้อย คนมีปัญญาคือคนเด่น คนเขลาเรียนถามจากคนมีปัญญา คนมีปัญญากล่าวสอนแก่คนเขลา คนเขลาเมื่อบังเกิดการรู้แจ้งโดยฉับพลัน ในยามนั้นก็มิแตกต่างไปจากคนมีปัญญาเลย
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! หากยังไม่รู้แจ้ง พระพุทธะก็คือเวไนยสัตว์ หากได้รู้แจ้งแล้ว เวไนยสัตว์ก็คือพระพุทธะ จึงรู้ได้ว่าธรรมทั้งปวงล้วนอยู่ที่ใจตน เหตุไฉนจึงไม่ลองไปรู้แจ้งในตถตาธรรมญาณแห่งตนโดยฉับพลันเล่า ? ศีลพระโพธิสัตว์สูตรได้กล่าวไว้ว่า ‘ธรรมญาณแห่งเราเดิมนั้นสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว’ ฉะนั้น หากได้แจ่มแจ้งธรรมญาณภายในตน ทุกคนก็ล้วนสำเร็จในมรรคาแห่งพระพุทธา ข้อความในวิมลเกียรตินิเทศสูตรก็ได้กล่าวไว้ว่า ‘แจ่มแจ้งสว่างไสวในทันใด ก็คือย้อนกลับสู่จิตเดิม’
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! เมื่อตอนอาตมาอยู่ที่สำนักของพระธรรมจารย์หงเหยิ่น หลังจากได้ฟังคำเทศนาก็รู้แจ้งสว่างไสวในทันที พร้อมทั้งเห็นแจ้งในตถตาธรรมญาณโดยพลัน ดังนั้นจึงได้นำหลักธรรมคำสอนนี้ออกเผยแผ่อย่างแพร่หลาย เพื่อให้ผู้ศึกษาธรรมฉับพลันได้แจ้งในโพธิ ให้ต่างได้ส่องพินิจที่ใจตน และเห็นชัดในธรรมญาณด้วยตน แต่หากตนไม่สามารถแจ้งได้แล้ว จึงจำต้องอาศัยผู้ทรงมหาปัญญาที่แจ่มแจ้งในอนุตตรมหายานธรรมเป็นผู้ชี้ตรงในสัตบถวิถี สำหรับผู้ทรงมหาปัญญาท่านนี้ได้มีมหาเหตุปัจจัย ดั่งคำที่ว่า ‘ฉุดเกลาให้ได้แจ้งในธรรมญาณ’ โดยกุศลธรรมที่ได้บัญญัติล้วนเกิดขึ้นโดยอิงตามความสามารถของผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น
“พระพุทธะใน ๓ กาล รวมทั้งพุทธพจน์ทั้ง ๑๒ หมวด ล้วนมีอยู่แล้วในธรรมญาณของตน แต่หากไม่สามารถแจ้งด้วยตน ก็จำต้องอาศัยผู้ทรงมหาปัญญาชี้ทางจึงจะรู้ได้ หากตนได้รู้แจ้งแล้ว ก็ไม่จำต้องไปไขว่คว้าหาที่ภายนอกอีกต่อไป แต่หากเอาแต่ยึดติดว่าจำต้องอาศัยผู้อื่นจึงจะลุถึงวิมุติล่ะก็ ก็ไม่มีอะไรที่จะถูกต้องอีกแล้ว ทั้งนี้เพราะเหตุใด ? เพราะภายในใจตนมีความรู้ที่จะให้ตนรู้แจ้งได้ แต่หากเกิดความมิจฉาลุ่มหลง ความตาลปัตรฟุ้งซ่าน แม้ผู้ทรงมหาปัญญาจะมีการถ่ายทอดคำสอนอย่างไร ก็ยังคงไม่สามารถช่วยอะไรได้อยู่ดี แต่หากได้บังเกิดปรัชญาแท้ในการส่องพินิจ ในชั่วพริบตา ความฟุ้งซ่านอกุศลทั้งหลายก็จะมลายหายสิ้นไป หากได้รู้จักเข้าใจในธรรมญาณตน ครั้นรู้แจ้งก็จะบรรลุสู่ดินแดนแห่งพระพุทธา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ด้วยปัญญาที่ส่องพินิจ ทั้งในและนอกจักเกิดความแจ่มแจ้งสว่างไสว และรู้จักจิตเดิมแท้แห่งตน หากได้รู้จักจิตเดิมแท้แห่งตน เช่นนี้ก็คือวิมุติ หากได้วิมุติก็คือปรัชญาสมาธิ ปรัชญาสมาธิก็คือการไร้ดำริ แต่อะไรคือการไร้ดำริล่ะ ? การไร้ดำริก็คือการได้รู้ได้เห็นธรรม ทั้งปวงโดยที่ใจไม่ติดยึด นี่ก็คือการไร้ดำริ ยามที่ใช้มันก็จะครอบคลุมทุกสิ่ง แต่ไม่ติดยึดในทุกสิ่ง ดังนั้นเพียงแต่ชำระจิตตน เพื่อให้วิญญาณหก แล่นไปตามอายตนะภายในหก และแม้จะอยู่ในอายตนภายนอกหก แต่ก็ไร้มลทินและความข้องหมอง ไปมาเสรี ช่วงใช้ไร้ขัดข้อง นี่ก็คือปรัชญาสมาธิที่ได้มีความหลุดพ้นอย่างอิสระ และเช่นนี้แหละที่เรียกว่าการปฏิบัติแห่งการไร้ดำริ แต่หากหักห้ามความคิดไม่ให้คิดถึงทุกสิ่ง เพื่อให้ความคิดขาดสูญไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นการถูกผูกมัดจากธรรมเสียเอง และนี่ก็คือความคิดแบบสุดขั้วที่ผิดพลาดอย่างมหันต์
1
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! ผู้รู้แจ้งในธรรมอันไร้ดำรินั้น ก็จะแจ่มแจ้งในสรรพธรรม ผู้รู้แจ้งในธรรมอันไร้ดำรินั้น ก็จะเห็นสภาวะของปวงพระพุทธะ ผู้รู้แจ้งในธรรมอันไร้ดำรินั้น ก็จะบรรลุสู่ฐานะแห่งพระพุทธา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! สำหรับชนรุ่นหลังที่ได้รับรู้ธรรมจากอาตมา และนำหลักธรรมแห่งคำสอนบรรลุฉับพลันพร้อมกับผู้ร่วมทัศนะผู้ร่วมปฏิบัติมาตั้งสัจปฏิญาณเพื่อสมาทานรับปฏิบัติอย่างมั่นคง ให้ดุจดั่งความตั้งใจในการถวายการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า และได้กระทำเช่นนี้ตลอดชีพโดยไม่ถดถอย เขาผู้นั้นก็จะบรรลุสู่อริยะฐานะได้อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ควรถ่ายทอดสัจธรรมที่ได้รับสืบทอดกันมาแต่จิรัฐิติกาล โดยอย่าได้แฝงเร้นพระสัทธรรมนี้จนไม่ได้ปรากฏ แต่หากไม่มีการร่วมทัศนะการร่วมปฏิบัติและอยู่ในธรรมวิถีอื่นแล้ว ก็ไม่ควรที่จะถ่ายทอดหลักธรรมนี้ เพราะจะถือเป็นการลบหลู่ต่อเหล่าพระอริยเจ้า ซึ่งสุดท้ายก็จะไร้ประโยชน์อันใด ทั้งนี้เพราะเกรงว่าคนเขลาจะไม่เข้าใจและให้ร้ายต่อธรรมวิถีนี้ จนทำให้ในร้อยกัปพันชาติจะสูญสิ้นไปซึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งพระพุทธา
“ท่านผู้คงแก่เรียน ! อาตมามีโศลกนิรรูปอยู่หมวดหนึ่งไว้สำหรับท่านทั้งหลายได้สวดท่องกัน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตควรจะปฏิบัติตามคำสอนนี้ หากไม่ปฏิบัติตามแล้วเอาแต่จดจำคำพูดของอาตมา ก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเช่นกัน
“จงฟังโศลกของอาตมาดังนี้
สาธกให้ใจแจ้ง
ดุจสุรีย์แรงกลางนภา
เพียงสอนให้แจ้งธรรมญาณนา
สู่โลกาเพื่อขจัดมิจฉาธาร
ธรรมนั้นไร้เร็วช้า
หลงแจ้งมีช้าเร็ว
มีเพียงแจ้งธรรมญาณ
คนเขลามิอาจได้เข้าใจ
แม้นกล่าวจนหลากหลาย
สัจความหมายมีเพียงหนึ่ง
กิเลสแฝงเร้นตรึง
พึงนิตย์เกิดปัญญารพี
มิจฉามากิเลสเกิด
สัมมาเกิดกิเลสสิ้น
มิจฉาสัมมาล้วนไม่จินต์
สงบนิจสู่นิพพาน
อันโพธิจำเดิมคือธรรมญาณ
จิตอาการสั่นหวั่นไหวคือมายา
ศุทธิจิตจักพบได้ในมายา
เพียงเที่ยงตรงจักห่างลาเครื่องกั้น ๓
ชาวโลกาหากบำเพ็ญในธรรมา
ทุกปัญหาล้วนมิอาจมาแผ้วผลาญ
เพียงหมั่นค้นความผิดตนในดวงมาน
ก็เทียบปานเท่าธรรมาไม่ผิดเบือน
สรรพสัตว์ล้วนมีธรรม
ความหมองช้ำมิกรายกล้ำ
ห่างธรรมค้นธรรมอื่น
ชั่วชีวีไม่พบธรรม
พเนจรชั่วชีวี
สุดวิถียังกลุ้มใจ
หากประสงค์พบธรรมนัย
ปฏิบัติอำไพก็คือธรรม
หากตนไร้จิตธรรม
ก่อกรรมไม่เห็นธรรม
หากปักใจหมายบำเพ็ญเป็นแน่แท้
จะมิแลเห็นความผิดแต่อย่างใด
หากยังเห็นในความผิดของผู้ใด
แท้คือเราที่ผิดไปมิใช่ใคร
เขาผิดเราไม่ผิด
หากเราผิดจักมีบาป
เพียงกำราบจิตผิดบาป
ทลายราบสิ้นกิเลส
รักแลแค้นไม่ข้องใจ
สุขเสรีหลับสบาย
หากประสงค์อนุศิษฏ์สอนผู้คน
มิอับจนตนต้องพร้อมธรรมอุปาย
จงอย่าได้ให้บังเกิดศงกาใจ
ฉะนี้ไซร้คือธรรมญาณปรากฏฉาย
พุทธธรรมค้ำชูในโลกหล้า
ความรู้แจ้งมิอาจห่างจากโลกา
หากห่างโลกเพื่อแสวงโพธิญาณ์
ก็ยากปานดุจควานหาเขากระต่าย
สัมมาทิฏฐิได้ชื่อว่าโลกุตร
โลกียะแท้คือนามมิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาสัมมาล้วนทลายไร้ยึดติด
โพธิญาณก้องครรชิตโศภิษฏ์ไสว
โศลกบทนี้คือคำสอนลุฉับพลัน
อีกนามนั้นคือมหาธรรมนาวา
ผู้ลุ่มหลงฟังสดับหลายกัปมา
หากจิตตาได้รู้แจ้งเพียงบัดดล
ก่อนจบเทศนา พระธรรมจารย์ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในวันนี้ได้กล่าวศาสตร์ฉับพลันที่วัดต้าฝาน หวังว่า หลังจากเวไนยสัตว์ทั่วทั้งธรรมธาตุได้รับฟังแล้ว ให้ล้วนเห็นธรรมแลสำเร็จเป็นพุทธะในบัดดลโดยถ้วนหน้าเถิด”
เมื่อได้ฟังธรรมกถาที่พระธรรมจารย์กล่าวจบลงแล้ว ผู้ตรวจการเหว่ย บรรดาข้าราชการ นักพรตและคฤหัสถ์ล้วนได้เข้าสู่ความสว่างไสวโดยถ้วนหน้า ทั้งหมดล้วนพร้อมใจกันวันทา และต่างอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า “สาธุ ! ใครจะนึกถึงว่า พระพุทธเจ้าได้อุบัติในหลิ่งหนัน แล้ว”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา