22 ก.ย. 2019 เวลา 12:41 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โรคตกเลือด
พิษร้ายของคนเลี้ยงปลา
ปลาตกเลือดหรือช้ำเลือดนั้นเป็นของคู่กันกับคนที่เลี้ยงปลาทองส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสายพันธุ์ปลาสวยงามเหมือนกัน สาเหตุที่เกิดกับปลาทองเป็นส่วนใหญ่ก็เพราะปลาทองจะค่อนข้างมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมน้อยกว่าสายพันธุ์ปลาอื่น ๆ เป็นอย่างมากถึงมากที่สุด
1
อาการตกเลือดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย :
ข้อดี คือ แสดงออกว่าปลาทองที่เรากำลังเลี้ยงอยู่นั้นกำลังมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เราจะได้เตรียมตัวรับมือได้ถูกต้องก่อนที่อาการจะรุนแรงจนเกินไปมากกว่านี้
ข้อเสีย คือ ถ้าหากเรารักษาไม่ถูกวิธี มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ปลาทองที่เราเลี้ยงอยู่ตายได้
อาการปลาตกเลือดที่ผ่านมามีการรักษามากมายสารพัดวิธีที่แนะนำกันไว้ เช่น ใส่เกลือ ,ใส่ยาฆ่าเชื้อตัวยาสำคัญต่าง ๆ หรือจับปลาอดอาหาร เป็นต้น วิธีที่กล่าวมาทั้งหมดใช้ได้เหมาะสมแล้วหรือยัง(ลองถามตัวเองกันดูว่าเคยใช้วิธีการเหล่านี้กันมาบ้างไหม?) ต่อไปเราลองมาฟังในหลักความรู้ด้านวิชาการกันบ้างเพื่อให้สามารถเข้าใจกลไกการเกิดอาการตกเลือดหรือช้ำเลือดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นกันดีกว่า
อาการตกเลือดหรือช้ำเลือดเกิดจาก "เกล็ดของปลาบริเวณรอบลำตัวกำลังเติบโตไปพร้อมกับขนาดลำตัวของปลาไปพร้อม ๆ กันตลอดเวลา" จะเห็นได้ชัดเจนว่าขนาดของเกล็ดมีการเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลาและยังมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงที่ผิวเกล็ดปลาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เปรียบง่าย ๆ ว่า "เกล็ดของปลาก็มีชีวิตที่ยังต้องการอาหารมาล่อเลี้ยงให้มีการเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับลำตัวของปลาอยู่ตลอดเวลา"
เกล็ดจะทำหน้าที่เสมือนโล่กำแพงของตัวปลาคอยปกป้องไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอก เช่น เชื้อโรค ,สารเคมีต่าง ๆ เข้ามาสัมผัสกับผิวหนังชั้นในของปลาได้โดยตรง
ผิวหนังของปลาเหมือนผิวหนังของสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ เหมือนกัน คอยทำหน้าที่ปกป้องและป้องกัน ยับยั้งเชื้อโรคจากภายนอกให้เข้ามาสู่ผิวหนังได้ และที่สำคัญเป็นศูนย์รวมของระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกของตัวปลา คอยช่วยในเรื่องของการหายใจ การระบายความร้อน หรือแม้แต่กระทั่งการขับถ่ายสารพิษต่าง ๆ ให้ออกมาได้ปกติ
ผิวหนังของปลาจะประกอบไปด้วยเยื่อ 2 ชั้นคือ...
1. ชั้นนอกเรียก Epidermis
2. ชั้นในเรียก Dermis
ชั้น Epidermis เป็นชั้นที่ทำการสร้าง Cell(active cell) นอกจากนี้ยังมีต่อมสร้างเมือกและเซลล์สร้างเม็ดสีอยู่ในชั้น Epidermis อยู่เหมือนกัน แต่เกล็ดปลา(scale) สร้างโดยชั้น Dermis แทรกทะลุขึ้นมาปิดผิวหนังชั้นนอกอีกที(อารมณ์เหมือนชั้น Dermis จะสร้างทั้งผิวหนังชั้นนอกและเกล็ดปลาที่เปรียบเสมือนโล่ของตัวปลาไปพร้อม ๆ กัน)
เกล็ดปลามีหลายชนิด แต่เกล็ดของปลาที่มีกระดูกแข็งทั่วไปรวมทั้งปลาทองจะเป็นแบบ "เกล็ดกลมผิวเรียบ(Cycloid scale)" เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงหรือในน้ำมีสารเคมีที่ระคายเคืองเกล็ดของปลาและซึมลงไปที่เซลล์ผิวชั้นนอก
ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปลาตกเลือดหรือช้ำเลือดก็คือ "อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงหรือในน้ำมีสารเคมีมากจนเกินไป" จะส่งผลให้เชื้อโรคจะเริ่มทำลายกำแพงชั้นนอกสุดคือ "เมือกปลา(เวลาเกิดความผิดปกติในร่างกายของปลา ปลาจะขับเมือกออกมาเป็นจำนวนมากขึ้นอยู่กับความผิดปกติในครั้งนั้นและเพื่อปกป้องตัวเอง พร้อมคลายสารพิษที่อยู่ในร่างกายออกมาพร้อม ๆ กัน"
จากนั้นเมื่อทะลุเมือกปลามาได้ก็จะถึง "เกล็ดปลา" เมื่อมีเชื้อโรคบุกรุกหรือสารเคมีต่าง ๆ มาสัมผัสบริเวณเกล็ดปลา ร่างกายของปลาจะทำการปกป้องตนเองอัตโนมัติ โดยเส้นเลือดฝอยที่เกล็ดจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เม็ดเลือดขาวออกมาทำหน้าที่เก็บกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ถ้าภูมิคุ้มกันของปลาสามารถรับมือเองได้ ไม่นานปลาก็จะหายจากการตกเลือดได้เอง แต่ถ้าเม็ดเลือดขาวไม่สามารถสู้กับเชื้อโรคได้และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เชื้อโรคจะเข่าสู่ตัวปลาโดยตรง จะส่งผลให้ปลาเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง บางตัวอาจจะทำให้ตายได้ในทันที
การตกเลือดแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก :
1. การตกเลือดแบบทั่วไป
ปลาจะเริ่มตอบสนองต่อการผิดปกติของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง สารเคมี เชื้อโรคในน้ำ หรือคุณภาพน้ำที่เริ่มเสีย(สาเหตุจากแอมโมเนีย หรือเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น)
วิธีการแก้ไขคือ...
ช่วยปลาโดยการแยกแช่เกลือ เพราะเกลือมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และจะทำให้อาการอักเสบทุเลาบรรเทาลงได้ ปลาส่วนใหญ่ที่ตกเลือด แช่เกลือ 1-2 วัน ก็หายเป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร พยายามเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย ๆ รักษาคุณภาพของน้ำให้ดี เพราะบริเวณตรงที่ปลาตกเลือดนั้นจะไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นอย่างมาก สำหรับบางคนจะตัดปัญหาด้วยการอดอาหาร เพื่อจะทำให้ปลาไม่ขับถ่ายมาก ก็จะทำให้ปลามีโอกาสติดเชื้อได้น้อยลงมากยิ่งขึ้น
1
2. การตกเลือดแบบติดเชื้อ
เชื้อโรคจะสามารถเข้าสู่ร่างกายของปลาได้ทางชั้น Epidermis และจะเกิดการติดเชื้อต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อผ่านชั้นนี้ไปแล้ว อาการตกเลือดก็จะมากยิ่งขึ้น แต่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากการตกเลือดแบบทั่วไป เช่น ตกเลือดเข้มเป็นปื้นหนา เพราะเชื้อบุกยึดพื้นที่ของตัวปลาได้เต็มประสิทธิภาพและประกอบกับเม็ดเลือดขาวออกมายับยั้งไม่อยู่หรือเม็ดเลือดขาวไม่สามารถสู่กับเชื้อโรคได้ไหว ปลาของเราก็จะเริ่มมีการขับเมือกออกมามากกว่าเดิม มีกลิ่นคาวจัดผสมเข้ามา
วิธีการแก้ไขคือ...
ให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็ว ใช้สารเคมี เช่น Formalin ,Povidone Iodine(betadine) หรือพวกกลุ่มสีย้อม เช่น Methylene Blue ,Malachite Green หรือยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ เช่น ยาปฏิชีวะนะจำพวก Tetracycline ,Amoxycillin ,Norfloxacin เป็นต้น
3. การตกเลือดแบบเรื้อรัง(ภูมิแพ้ / อาการติดเชื้อรุนแรง)
บริเวณเกล็ดปลาบางที่จะเกิดปฎิกิริยาไวกว่าปกติเป็นอย่างมากต่อสิ่งกระตุ้น(Hypersensitivity) ทำให้ปลาตกเลือดซ้ำซาก มักเป็นบริเวณเดิม ๆ ไม่หายสักที พอแยกแช่เกลือจนจะหาย แล้วเอากลับลงตู้ไม่กี่วันอาการตกเลือดก็กลับมาอีก ทั้ง ๆ ที่ปลาตัวอื่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกันแต่ไม่เป็นอะไรเลย
วิธีการแก้ไขคือ...
จับแยกแบบ VIP(เลี้ยงเดี่ยวหรือส่วนตัว) พร้อมรักษาด้วยการแช่เกลือแบบปกติ จนบริเวณตกเลือดหาย จึงปล่อยกลับตู้ปลา และทาด้วยครีมกลุ่มยาพวก Steroid และ Antibiotic ที่ใช้รักษาอาการผิวหนังอักเสบในคน Eczema เป็นยาสูตร Betamethasone และ Neomycin ให้ทาที่บริเวณตกเลือดของปลา(ทาอย่างเบามือ) ให้ดูแลรักษาแบบนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่งจนสังเกตว่าอาการตกเลือดเริ่มบรรเทาลง แล้วค่อยปล่อยคืนลงตู้ตามปกติ ผลการรักษาพบว่าปลาที่ทายาจะไม่กลับมาตกเลือดอีก
เราทุกคนต้องหมั่นสังเกตอาการปลาสวยงามที่เราเลี้ยงอยู่บ่อย ๆ เพราะปลาก็เหมือนกับคนเวลาจะป่วยหรือไม่สบาย ปลาจะออกอาการมาให้เราเห็นก่อนก่อนที่ปลานั้นจะป่วยจริง ๆ ก็เหมือนคนเราเวลาจะไม่สบายก็จะมีอาการเจ็บคอ คั่นเนื้อคั่นตัว ปลาที่เราเลี้ยงก็เป็นเหมือนกัน
เราต้องพยายามสังเกตให้ทันท่วงที ยิ่งเราพบอาการผิดปกติของปลาได้เร็ว ก็จะยิ่งรู้วิธีการรักษาได้เร็ว และมีโอกาสสูงมากที่ปลาจะรอด พร้อมกลับสู่ปกติแบบ 100% แต่ถ้าหากเราละเลยไม่ใส่ใจ พอรู้อีกทีปลาป่วยหนักและถึงเวลารักษาอาจจะไม่ทัน สุดท้ายปลาที่เราเลี้ยงอาจจะไม่ไหวและตายได้ในที่สุด
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา