3 ต.ค. 2019 เวลา 06:39 • สุขภาพ
'Seeing' pain VS 'being' pain
อยู่กับความปวดเรื้อรังอย่างไม่ทุกข์ได้อย่างไร
"ความปวด" เป็นสาเหตุนำไปพบแพทย์มากที่สุด.. ยาที่ใช้มากที่สุดในโลกคือยาแก้ปวด..ขณะเดียวกัน หากคนเราไม่มีความปวด..สัญญานเตือนภัยเพื่ออยู่รอด..มนุษย์ก็จะไม่สังเกตแผลจนติดเชื้อ หรือกัดลิ้นตนเองตอนทานข้าวเป็นประจำ และคงไม่สามารถสืบเผ่าพันธ์มาถึงทุกวันนี้
ผู้ป่วยวัย 80 ปีเศษ มาด้วยอาการปวดแสบร้อนผสมคันยุบยิบเหมือนมีอะไรไต่ที่กลางหนังศรีษะ คุณหมอโรคผิวหนังดูให้แล้วก็อะไรผิดปกติ อาการนี้เป็นมากในท่านั่ง แต่ถ้านอนก็จะเบา
กลุ่มอาการนี้คือ "Scalp dysesthesia" scalp คือหนังศรีษะ dys คือไม่สุขสบาย esthesia ความรู้สึก ซึ่งสาเหตุ มีสองค่าย คือ ค่ายเชื่อว่าเป็นอาการที่สัมพันธ์กับความเครียด (psychosomatic) และค่ายที่เชื่อว่าเกิดจากกระดูกคอเสื่อมทำให้กล้ามเนื้อคอซึ่งต่อกับหนังศรีษะตึง
ส่วนตัว ข้าพเจ้าเอนเอียงมาทางค่ายสองคือปัญหาจากกระดูกคอเสื่อมมากกว่า ดังพบใน MRI กระดูกผู้ป่วย พบว่ากระดูกคออันที่ 4,5,6 มีรูปร่างผิดปกติ วางตัวดูไม่เสถียรนัก ซึ่งอาจอธิบายว่าทำไมเวลานั่งทำอะไรนานๆ จึงก่อให้เกิดอาการปวดมากขึ้น
การรักษาผ่าตัดกระดูกคอ เพื่อรักษาอาการปวด ในผู้สูงวัย เป็นการ 'ขี่ช้างจับตั๊กแตน' เพราะการผ่ามีความเสี่ยงสูงขณะที่ผลหลังผ่าตัดไม่การันตีว่าอาจปวดน้อยลง เท่าเดิม หรือกระทั่งมากขึ้นก็ได้
ขณะเดียวกัน การใช้ยาแก้ปวด มักต้องใช้ยาแก้ปวดประสาทที่ทุกตัวทำให้ง่วงซึมไม่มากก็น้อย Pregabalin เป็นตัวแรกที่ข้าพเจ้าเลือกให้ ถือว่าง่วงน้อยแล้ว แต่เมื่อเพิ่มได้ครึ่งทาง ความถี่และความรุนแรงของความปวดลดลงครึ่งหนึ่งก็ทำให้ผู้ป่วยง่วง เดินแล้วเสี่ยงล้ม จึงเพิ่มขนาดต่อไม่ได้
แล้วจะอยู่กับความปวดที่เหลืออยู่อย่างไรดี...ข้าพเจ้าจึงเล่าวิธีการหนึ่งที่ข้าพเจ้าใช้กับตัวเอง เวลาปวดศรีษะไมเกรน คือ "Seeing" pain แทนที่จะ "being" pain
Being pain เรากำลังปวด : เมื่อข้าพเจ้าปวดหัวสิ่งที่เกิดในใจข้าพเจ้าคือ "เกิดสิ่งไม่ดีกับเรา""ทำไมถึงเป็นอีกแล้ว" "เมื่อไหร่จะหาย"
1
Seeing pain เห็นความปวด : เมื่อข้าพเจ้าปวดหัว รับรู้ความรู้สึกนั้นอย่างละเอียด ว่ามีความซ่า หนา บีบ แทง ในบริเวณใด เปลี่ยนแปลง ปรากฎ จางหาย เกิด ดับ ดูไปเรื่อยๆ เพลินๆ สักระยะมันก็หายไปเอง
Being pain ทำให้อาการปวดถูกขยายมากขึ้น ทำให้เกิดความหงุดหงิด กังวล เศร้า กระตุ้นการทำงานสมองส่วน default neuronal network ยิ่งขึ้น ทำให้ 'ความไว' ต่ออาการปวดยิ่งขึ้น เป็น 'วงจรอุบาทว์' ทำให้ปวดเรื้อรังรักษายากขึ้นเรื่อยๆ
Seeing pain การใช้อาการปวด เป็นสิ่งยึดให้อยู่กับปัจจุบัน การติดตามสังเกตช่วยระงับ Default neuronal network ให้ร่างกายเราได้มีโอกาสเยียวยาตัวเอง.
ในช่วง mindfulness สนับสนุนระบบบรรเทาปวดของร่างกายที่มีอยู่แล้ว เอนโดฟินน์(endorphine) และประสาทอัตโนมัติ vagal stimulation
ด้วยธรรมชาติ
มนุษย์เราไม่อาจหลีกหนี"ความปวด" ได้
แต่เราสามารถเลือกวิธีอยู่กับความปวด
อย่างมีทุกข์น้อยที่สุดได้ค่ะ
โฆษณา