21 ต.ค. 2019 เวลา 06:27 • สุขภาพ
ทำไมความดันโลหิตสูงถึงมึนหัว..รู้ก่อนสาย
ภาพประยุกต์จาก (1)
📔เรื่องของคุณน้อย..
ชื่อสมมติ แทนชีวิตจริงใครหลายๆ คน
คุณน้อย ตื่นตั้งแต่ตี 5
ออกบ้านไปเพื่อคุมคนงานที่ฟาร์มเป็ด
เป็นกิจวัตรที่คุณน้อยจะออกบ้านก่อนอาทิตย์ขึ้น
และกลับบ้านสี่ทุ่ม
แล้วหลับไหลด้วยความเหนื่อย
..ตั้งแต่ขึ้นบ้านใหม่
บ้านหลังใหญ่ที่สร้างจากน้ำพักน้ำแรง
เธอไม่เคยเห็นบ้านตัวเองตอนกลางวันอีกเลย.
คุณน้อย ในวัย 40 ปลายๆ
เป็นคุณแม่ของลูกสาวที่เริ่มเข้าวัยรุ่น
2 เดือนก่อนคุณน้อยเริ่มมีอาการ "มึนหัว"
ตื่นเข้ามาไม่สดชื่น
ตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออก
เวลาเดินรู้สึกลอยๆ
มีคนเตือนให้คุณน้อยไปตรวจดูว่ามีความดันโลหิตสูง หรือเปล่า
"ไม่มีปวดหัว คงไม่ใช่หรอก คงเพราะเครียดไปหน่อย ไม่น่าเป็นอะไรมาก"..
เช้าวันหนึ่ง ขณะมองคนงงานให้อาหารเป็ด
เธอมองเห็นเป็ด 1 ตัวแยกเป็นสองตัวซ้อนกัน
พร้อมๆ กับยืนทรงตัวไม่อยู่ พื้นโคงเคลง ฝ้าเพดานหมุน เหมือนแผ่นดินไหว
เธอล้มลง อาเจียน
แล้วร้องเรียกคนงานให้พาไปส่ง โรงพยาบาล
"อย่าเพิ่งบอกลูก รอเขาเลิกเรียนก่อนค่อยบอก" เธอกำชับคนงาน
ประโยคสุดท้ายก่อนการรับรู้เธอจะหมดลง
"คนไข้มี Thalamic hemorrhage แตกเข้า ventricle เกิด obstructive hydrocephalus
โทรแจ้ง neuro ศัลย์ด่วน..."
และเสียงร้องไห้ ที่เธอจำได้ว่าเป็นลูกสาวเธอเอง..
ภาพ CT brain ผู้ป่วยโรคความดันสูง มาด้วย "เวียนหัว" ฉับพลันก่อนซึมลง แสดงเลือดออกที่สมองทาลามัส ซ้ายมือของผู้อ่าน
คุณน้อย มองภาพบ้านหลังใหญ่
บ้านของเธอสวยมากในตอนกลางวัน
เธอไม่ได้ไปฟาร์มอีกแล้ว เพราะซีกซ้ายอ่อนแรง
เธอผลักล้อเข็น ไปหยิบยาความดันโลหิตสองเม็ดมาทาน
...
คุณน้อยโชคดี
ที่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด
....แต่หากย้อนเวลา ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน
...หากเธอได้ตรวจความดัน แล้วพบว่า BP 190/110 และทานยาสองเม็ดนี้แต่ตอนนั้น
วันนี้ เธอน่าจะได้"ยืน" ชื่นชมบ้านอย่างมีความสุขกว่านี้
🧠 ความมึน-ทาลามัส-ความดันสูง
เกี่ยวกันอย่างไร?
ภาพจาก https://www.wikidoc.org/index.php/File:Dizziness.png
อาการมึนงง (dizziness) คือภาวะ "การรับรู้สภาพแวดล้อมจากแต่ละประสาทสัมผัสเกิดความขัดแย้งกัน" - perceptual disorder (2)
ประสาทสัมผัสนี้ได้แก่
1.การเคลื่อนไหวของหัว : โดยมิเตอร์ในหูชั้นใน
= vestibular
2.การเคลื่อนไหวตัว แขน ขา : โดยมิเตอร์ในข้อ ต่อ ร่วมกับ ภาพจากการมองเห็น
= visuospatial
3. ความตื่นรู้ตัว : โดยสัญญานจากก้านสมอง
= Raticular activating system
หากสมองสับสนเฉพาะข้อมูลการเคลื่อนไหวของหัว จะทำให้เกิดอาการหลอนว่าสิ่งรอบตัวหมุนเคลื่อน - illusion of movement ซึ่งคือ "เวียนหัว" (vertigo)
พบใน ภาวะนิ่วในหู ( BPPV)
หากสมองสับสนเฉพาะข้อมูล visuospatial จะทำให้เสียการทรงตัว (disequilibrium)
พบใน เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมจากเบาหวาน ( Diabetic polyneuropathy)
หากสมองขาดสัญญานตื่นจากก้านสมอง จะทำให้หมดสติ (coma) หากหมดสติชั่วคราวเราเรียก syncope , ถ้าแค่วูบ ยังไม่หมดสติ ประมาณหน้ามืดเรียก presyncope
พบในภาวะออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอจากสาเหตุต่างๆ (hypoxemia)
Dizziness คือการสับสนของหลายชนิดข้อมูลดังกล่าว อย่าละนิดอย่างละหน่อย จนบางครั้งยากจะอธิบาย (สับสนในความสับสน😵)
ตำแหน่งของทาลามัสในสมอง ภาพจาก Kenhub.com
ชานชาลาย่อยภายในสถานี 'ทาลามัส' ภาพจาก (3)
ทาลามัส- Thalamus วางอยู่กึ่งกลางสมอง ระหว่างก้านสมอง (brainstem) กับ กลีบสมอง(cortex) เราอาจเรียกบริเวนนี้ว่า ฐานดอก (diencephalon)
เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เป็น "สถานีหมอชิต" จัดคิวเข้าออก รถนำข้อมูลสัญญานข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่างๆ มากมาย แบ่งตาม 'ชานชาลา'
ดังนั้น เมื่อทาลามัส เสียการทำงาน ก็จะเกิดความงุนงงสับสน 'dizziness'
และหากรอยโรคเล็กพอที่จะโดนจำเพาะ 'ชานชาลา' ก็อาจเกิดอาการเฉพาะ vertiogo, disequilibrium หรือ presyncope ได้
B และ C คือตำแหน่ง 'ฐานดอก' ที่ทาลามัสอยู่เป็นตำแหน่งที่เกิดหลอดเลือดแตกมากที่สุด (4)
ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยหลักของหลอดเลือดสมองแตก
ตำแหน่งที่เกิดหลอดเลือดแตกจากความดันโลหิตสูง ที่พบบ่อยที่สุดคือ (4)
1. ฐานดอก (คือ ทาลามัส และบริเวณใกล้เคียง) ราว 60%
2. กลีบสมอง ราว 25%
3.ก้านสมองและ ซีรีเบลลัม ราว 15%
เหตุที่บริเวณฐานดอกมีเส้นเลือดแตกบ่อย เพราะเลี้ยงด้วยเส้นเลือดฝอยแยกตั้งฉาก 90 องศาจากเส้นเลือดใหญ่ จึงรับแรงดันเต็มๆ (5)
ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเป็นสมมติฐาน - ของข้าพเจ้าเอง ว่าเหตุใด อาการมึน ซึ่งอาจเกิดจาก "ทาลามัสรวน" จึงพบบ่อย และเป็นสัญญานเตือนหนึ่งของภาวะความดันโลหิตสูงได้
และตรงข้ามกับความเข้าใจคนส่วนใหญ่ว่า ความดันสูงจะต้องมีปวดหัว
พบว่าเพียง 40% ของผู้มีความดันสูงเท่านั้น ที่มีสัญญานปวดหัวเตือน (6)
เหตุผล? ไว้มาต่อครั้งหน้า "ไมเกรนต้องปวดตุบๆ จริงหรือ" กันค่ะ😉
ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่🧠❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา