29 ต.ค. 2019 เวลา 12:49 • การศึกษา
“เงินโบนัส นายจ้างไม่จ่ายได้หรือไม่ ?”
เผลอแป๊ปเดียวก็จะสิ้นปีแล้ว สำหรับคนที่ทำงานประจำนั้นสิ่งที่ปรารถนาและรอคอยกันมาตลอดทั้งปีก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเงินโบนัสใช่มั้ยครับ
pixabay
เงินโบนัส เป็นเงินที่นายจ้างมอบให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนความตั้งใจการทำงานตลอดทั้งปี
ซึ่งจะได้รับเงินโบนัสมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างในปีนั้น ๆ
โดยแต่ละองค์กรก็จะมีวิธีการประเมินผลงานและการจ่ายเงินโบนัสแตกต่างกันไป
แต่ทราบหรือไม่ว่า กฎหมายไม่ได้บังคับให้นายจ้างจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเสมอไป
แตกต่างกับเงินค่าจ้าง / ค่าล่วงเวลา / ค่าทำงานในวันหยุด หรือ เงินชดเชย ซึ่งเงินเหล่านี้นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น สำหรับบางองค์กรที่ผลประกอบการขาดทุน นายจ้างก็อาจจะงดจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างในปีนั้นได้ (เศร้าเลย)
pixabay
แต่ถ้าการจ่ายเงินโบนัสได้ถูกระบุไว้ในสัญญา หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสไว้อย่างชัดเจน เช่น
- ลูกจ้างต้องทำงานครบ 1 ปีจึงจะมีสิทธิได้รับเงินโบนัส
- ต้องมีผลการประเมินไม่ต่ำกว่า C จึงจะมีสิทธิได้รับเงินโบนัส
- ต้องมีสถานภาพเป็นพนักงาน ณ วันที่จ่ายเงินโบนัส
การจ่ายเงินโบนัสก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาหรือหลักเกณฑ์นั้น หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับแต่นายจ้างไม่จ่ายก็อาจเป็นการผิดสัญญาได้
pixabay
มีคดีตัวอย่างอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งนายจ้างได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสไว้ว่า...
1) กำหนดเวลาการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และ
2) พนักงานจะต้องมีสถานภาพจนถึงวันที่จ่ายโบนัสประจำปี
1
ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวอ้างอิงมาจากประกาศเดิมปี 2556 ของนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างเองก็รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวตลอดมา
ลูกจ้างครบเกษียณอายุงานในวันที่ 31 มกราคม 2558 จึงเป็นการพ้นสภาพการเป็นพนักงานก่อนวันที่นายจ้างจ่ายโบนัส ทำให้หมดสิทธิได้รับเงินโบนัสในปีนั้น
pixabay
ลูกจ้างเห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงได้ฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อขอให้จ่ายเงินโบนัส พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินและให้เหตุผลดังนี้ครับ
“การที่จำเลยกำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้าง ตอบแทนการทำงานที่ผ่านมา และจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้จำเลยต่อไป
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 ของจำเลยจึงเป็นไปตามหลักการบริหารองค์กรโดยทั่วไป ไม่เป็น
การเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติต่อโจทก์
ทั้งมีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงใช้บังคับได้และผูกพันโจทก์
การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสเป็นธรรม
จึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4032/2561)
สรุป : ศาลแรงงานเห็นว่าเมื่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสของนายจ้างได้กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนและลูกจ้างก็รับทราบแล้ว
อีกทั้ง หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคน จึงไม่เป็นการเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติแก่ลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง
ดังนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงสามารถใช้บังคับได้ และลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในปีนั้น...เอวัง
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา