13 พ.ย. 2019 เวลา 05:49 • ธุรกิจ
วิกฤตการเงินสหรัฐปี 1907 วิกฤตที่ก่อให้เกิดธนาคารกลางสหรัฐ ...ตอนที่ 5...
ต้นเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าความสงบเริ่มกลับมาสู่นิวยอร์กแล้ว แต่วิกฤตอีกอย่างก็ปรากฏขึ้น เมื่อมัวร์แอนด์สไล หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด มีหนี้สินมากมายและกำลังจะล้มละลาย
มัวร์แอนด์สไล บริษัทนี้ยืมเงินจำนวนมากโดยใช้หุ้นของบริษัทเทนเนสซีโคลและ ไอออน แอนด์ เรลโรด เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่นายธนาคารทั้งหลายต้องการจะเรียกคืนเงินกู้ยืมของมัวร์แอนด์สไลในวันจันทร์โดยบังคับให้ขายหุ้น ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจะทำให้หุ้นของไอออน แอนด์ เรลโรด ดิ่งเหว ซึ่งจะทำให้ความแตกตื่นกลับมาอีกครั้ง
1
เดือดร้อนถึงมอร์แกนต้องเรียกนายธนาคารกว่า 50 คนมาประชุมด่วนในเช้าวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายนเพื่อหาทางช่วยมัวร์แอนด์สไล
ที่จริงวันนั้นมอร์แกนต้องจัดการปัญหาให้บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาและลินคอนทรัสต์ ที่อาจไม่สามารถเปิดได้ในวันจันทร์เพราะยังคงถูกถอนเงินอย่างต่อเนื่อง มอร์แกนบอกว่าเขาจะตกลงช่วยมัวร์แอนด์สไลก็ต่อเมื่อบรรดานายธนาคารยอมช่วยเหลือทรัสต์ที่อ่อนแอเท่านั้น แต่ไม่มีใครยอมให้ความช่วยเหลือ
จนกระทั่งเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ มอร์แกน แจ้งหัวหน้าของประธานบริษัททรัสต์คนหนึ่งถึงสถานการณ์ของมัวร์แอนด์สไลว่าจะ ต้องใช้เงิน 25 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเขาจะไม่ดำเนินการช่วยเหลือนอกจากว่าปัญหาทางฝั่งบริษัททรัสต์จะได้รับการแก้ไข
1
มอร์แกนพยายามบีบให้นายธนาคารยอมให้ความช่วยเหลือแก่ทรัสต์ที่ยังมีปัญหา แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้าไปเสี่ยงด้วย จนกระทั่งรุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน นายธนาคารต่างเหนื่อยล้าจากการเจรจาที่เข้มข้นตั้งแต่คืนวันเสาร์จึงต้องยอมจำนนในคำขอร้องแกมข่มขู่ของมอร์แกน
มอร์แกนสะสางปัญหาทั้งหมดในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ลงข่าวพาดหัวปิดฉากละครเรื่องใหญนี้ในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน ว่า...
"ไม่เคยมีครั้งใหนในวอลล์สตรีทที่น่าตื่นเต้นระทึกใจ ยิ่งไปกว่าเหตุการณ์ที่นักการเงินชั้นนำไปประชุมกันทั้งวันทั้งคืนในห้องสมุดของ เจ.พี. มอร์แกน และมอร์แกนคือพระเอกที่รับมือกับหายนะครั้งนี้ได้อย่างที่ไม่มีใครทำได้"
ตามตำนานบอกว่านกฟีนิกซ์สามารถเกิดใหม่จากกองเถ้าถ่าน จากละครเรื่องใหญ่ที่มีพลอตเรื่องสนุกสนานเร้าใจนี้เอง หลังวิกฤตการเงินสหรัฐในปี 1907 กลุ่มนักการเงินการธนาคารจึงรวมตัวกันก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ขึ้นมาเพื่อดูและระบบการเงินของประเทศ และเป็นธนาคารกลางที่ดูแลโดยเอกชน
แต่ เจ.พี.มอร์แกน อยู่ไม่ทันเห็นการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ เพราะเขาเสียชีวิตในปี 1913 ก่อนการก่อตั้งเฟดเพียงไม่กี่เดือน
มอร์แกนเสียชีวิตในวัย 75 ปีที่กรุงโรม ทิ้งทรัพย์สมบัติมูลค่ากว่า 80 ล้านเหรียญไว้ให้ทายาท รวมถึงหุ้นในบริษัทสร้างเรือไททานิคซึ่งอับปางตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกเดินเรือในช่วงเดือนเมษายนปี 1912 ก่อนการก่อตั้งเฟดเพียง 1 ปี
และหลังจากการก่อตั้งเฟดเพียงปีเดียว ชาวยุโรปก็พาประเทศตัวเองเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 งานใหญ่งานแรกของเฟดคือการดูแลระบบการเงินของสหรัฐในช่วงสงคราม และผลงานครั้งนี้ทำให้สหรัฐก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกทุนนิยมจนปัจจุบัน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
1
วิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีจุดเริ่มต้นและจุดจบคล้าย ๆ กัน คือเริ่มต้นด้วยความโลภของนักลงทุนและนักการเงิน
ทุกคนต่างอยากได้ผลตอบแทนสูง สร้างรายได้ให้ตัวเองให้มากที่สุด แต่พวกเขามักเสี่ยงด้วยเงินคนอื่น เมื่อเกิดปัญหาคนที่ต้องหาเงินเข้าไปเติมคือรัฐบาลซึ่งก็ต้องใช้เงินจากภาษีประชาชน
1
จากวิกฤตนี้กระทรวงการคลังสหรัฐหมดเงินไปหลายสิบล้านดอลลาร์ และมีการนำเข้าทองคำจากยุโรปอีกกว่าร้อยล้านดอลลาร์
และวิกฤตการเงินสหรัฐในปี 1907 ก็ยังเป็นนิทานสอนใจได้เป็นอย่างดีในเรื่องของความโลภของนักการเงินและความตื่นตระหนกของผู้คนยามวิกฤต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา