14 พ.ย. 2019 เวลา 00:34 • ปรัชญา
ภาษาแห่งการ”แบ่งปัน”💕
บางครั้งความเมตตาเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครบางคน หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
เรื่องราวสุดยิ่งใหญ่มักมีจุดกำเนิดมาจากการกระทำเล็กๆ ของผู้คนที่ใช้ความกล้าหาญและเมตตา ในหัวใจมอบให้ใครสักคนที่เขาอาจไม่รู้จัก สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โลกของเรายังคงน่าอยู่และเต็มไปด้วยความศรัทธา
วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวสุดประทับใจของอดีตทาหารหนุ่มชาวอเมริกัน ที่มีต่อครอบครัวของอดีตทหารญี่ปุ่นนายหนึ่งให้ฟังกัน
ขออนุญาตภาพจาก Google Sites
เมื่อ 73 ปีก่อน มาร์วิน สตรอมโบ นาวิกโยธินหนุ่มชาวอเมริกันถูกส่งตัวไปรบที่สมรภูมิแปซิฟิก วันหนึ่งเขาเกิดพลัดหลงกับหน่วยระหว่างรบในแนวหน้าที่เกาะไซปัน เขากระโจนหมอบลงกับพื้นเพื่อหลบการตรวจพบของฝ่ายญี่ปุ่น แต่ว่าที่ข้างๆ ตัวเขาคือร่างไร้วิญญาณของทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง บนตัวเขามีผ้าสีขาวโผล่ออกมา สตรอมโบจึงดึงมันออกมา พบว่าเป็นธงชาติญี่ปุ่นที่มีตัวอักษรเขียนเต็มไปหมด
สตรอมโบรู้ว่าของสิ่งนี้น่าจะมีคุณค่าทางจิตใจกับทหารญี่ปุ่นนายนี้ และครุ่นคิดว่าควรจะหยิบติดตัวไปด้วยดีหรือไม่ ในที่สุดเขาตัดสินใจว่าจะนำมันกลับไปด้วย ซึ่งในเวลานั้น ทหารสหรัฐนิยมสะสมของที่ระลึกจากสงคราม และธงชาติญี่ปุ่นถือเป็นของสะสมยอดนิยมอันดับต้นๆ
ในปีถัดมาปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น หลังจากนั้น สตรอมโบกลับไปใช้ชีวิตในฐานะเกษตรกรที่รัฐมอนแทนา และนำธงชาติญี่ปุ่นที่ติดตัวมาใส่กรอบกระจกเก็บไว้อย่างดี แต่ลึกๆ แล้วเขารู้สึกผิดที่นำมันกลับมาด้วย และหวังว่าสักวันคงจะมีโอกาสได้คืนครอบครัวของคนตาย แม้ว่าธงชาติญี่ปุ่นแบบนี้จะทำราคาอย่างงามหากนำไปประมูลก็ตาม
ธงชาติญี่ปุ่นอยู่กับสตรอมโบมาจนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2012 เขาได้รับการติดตต่อจากสมาคมโอบอน (Obon Society) ในรัฐออริกอน ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยประสานงานให้อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกหรือลูกหลาน ติดต่อคืนธงชาติญี่ปุ่นให้กับครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ หลังจากการตรวจสอบข้อความและวิเคราะห์นามสกุลของผู้ที่ลงชื่อไว้ ทำให้ทราบว่าต้นทางของมันอยู่ที่หมู่บ้านฮิงะชิชิระกะวะใน จ.กิฟุ
ขออนุญาตภาพจากเพจTalonJapan.com
ในที่สุด เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 72 ปี ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรอมโบในวัย 93 ปี ก็เดินทางจากมอนแทนามายังหมู่บ้านฮิงะชิชิระกะวะ เป็นระยะทางกว่า 10,000 ไมล์ เพื่อคืนธงให้กับทายาทของทหารนิรนามคนนั้น
เจ้าของธงคือทหารหนุ่มที่มีชื่อว่า ยาสุเอะ ซาดาโอะ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัว และถูกส่งไปรบที่สมรภูมิแปซิฟิกตอนอายุได้ 25 ปี ในวันที่เขาจะต้องเดินทางไปรบนั้น ที่หมู่บ้านได้จัดงานเลี้ยงส่ง และร่วมกันเขียนชื่อและคำอวยพรบนธงชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องรางและขวัญกำลังใจ แต่สมรภูมิแปซิฟิกในเวลานั้นกำลังรบกันอย่าง หนักหน่วง ซาดาโอะรู้ดีว่าคงไม่อาจเอาชีวิตรอดกลับมาได้ จึงกำชับน้องชายที่ชื่อ ทะสึยะ ให้ช่วยดูแลพ่อกับแม่ด้วย เมื่อพี่ชายจากไปไม่กี่เดือน รัฐบาลก็ส่งกล่องบรรจุหินไม่กี่ก้อนเป็นตัวแทนร่างของเขากลับมาแจ้งว่า ยาสุเอะ ซาดาโอะเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่พบศพ
แต่จากปากคำของสตรอมโบ ทำให้ครอบครัวยาสุเอะที่ตอนนี้ยังเหลือน้องชายวัย 89 ปี และน้องสาววัย 93 ปี ทราบว่าพี่ชายของพวกเขาเสียชีวิตที่เกาะไซปัน สตรอมโบยังปลอบใจพวกเขาด้วยว่า พี่ชายน่าจะเสียชีวิตจากแรงอัดของระเบิด แต่ใบหน้าสงบนิ่งเหมือนคนกำลังนอนหลับ
ในพิธีส่งมอบธงที่จัดขึ้นที่หมู่บ้านฮิงะชิชิระกะวะ สตรอมโบมอบธงให้กับมือของทะสึยะน้องชายของผู้ตาย ซึ่งทันทีมือของเขาสัมผัสธงก็จับมันขึ้นมาซบที่ใบหน้าด้วยความรู้สึกล้นปรี่ ส่วนน้องสาววัย 93 ปี นำธงมากอดไว้ที่ตัวและร่ำไห้ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื้นตันใจ แม้แต่สตรอมโบยังเผยว่า เขาเกือบจะหลั่งน้ำตาเหมือนกัน
นาวิกโยธินสหรัฐสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง "มาร์วิน สตอร์มโบ" นำธงชาติญี่ปุ่นที่พบจากศพของศัตรูในสนามรบไปคืนแก่ครอบครัวของทหารรายนั้น
การคืนธงของสตรอมโบให้กับครอบครัวยาสุเอะ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง ในวาระ 6 รอบของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจนับได้ว่าเป็นสงครามครั้งรุนแรงและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยอุบัติขึ้น
เพราะสงครามครั้งนี้ได้ขยายสมรภูมิรบออกไปทั่วโลกในระยะเวลาอันรวดเร็ว
โดยครอบคลุมอาณาบริเวณทั้งในยุโรป แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก
เป็นความขัดแย้งในวงกว้าง ครอบคลุมทุกทวีปและประเทศส่วนใหญ่ในโลก
เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) และดำเนินไปจนกระทั่งสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)
ได้ชื่อว่าเป็นสงครามที่มีขนาดใหญ่และทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
ช่วงเวลาการรบเกิดขึ้นเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) - 2 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945)
ที่มา : M2FNews
จากเรื่องราวประทับใจนี้ แม้คนเราจะต่างเชื้อชาติ ศาสนา แต่บริบทของการมีน้ำใจแบ่งปันให้กันกับไม่มีอะไรกั้นขวาง การแบ่งปันและการมีน้ำใจให้กันอาจจะเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ผู้ให้และผู้รับ เพียงสัมผัสถึงกันได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรเลย
ผมหวังว่าภาษาของการแบ่งปันนี้จะถูกส่งต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่คุณได้เห็นภาษานี้ คุณจะรู้ได้ทันทีเลยว่าตัวคุณกำลังยิ้มอยู่😊
##ขอบคุณที่เข้ามากดไลค์ เป็นกำลังใจให้นักเขียนนะครับ ขอบคุณครับ🙇🏻‍♂️
โฆษณา