24 พ.ย. 2019 เวลา 04:00 • สุขภาพ
ดื่มแอลกอฮอล์วันละนิด..ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?
ท่านอาจเคยได้ยินว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละนิดช่วยป้องกันโรคหลอดเลือด..แต่บางกระแสว่าแอลกอฮอล์แม้ปริมาณน้อยก็ก่อมะเร็งได้..ตกลงแล้วการดื่มแอลกอฮอล์วันละนิดหน่อยดีหรือไม่ดี วันนี้ลองมาดูข้อมูลกันค่ะ
ภาพจาก (1)
เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจฉับพลันจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองท่านหนึ่ง ถามว่า ปกติจะดื่มไวน์วันละแก้ว แต่พอเป็นโรคนี้ เลยหยุดไปแล้วรู้สึกคิดถึงหงุดหงิดใจ..จะขอกลับไปดื่มได้ไหม?
ย้อนคิดถึงคุณปู่ของข้าพเจ้า ท่านดื่มวิสกี้ 10 ซีซีผสมโซดาต่อวันตั้งแต่อายุ 50 ปี บอกว่าช่วยป้องกันโรคหลอดเลือด..ท่านทำโยคะทุกวัน ไม่มีโรคความดัน เบาหวาน ความจำดี จนอายุ 80 ปีจึงตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้
🍀 ความเชื่อเดิม : ดื่มแอลกอฮอล์นิดหน่อย (น้อยกว่า 2 drink ต่อวัน) ป้องกันโรคหลอดเลือด
คำกล่าวนี้มาจากการศึกษาทางระบาดวิทยา ดูความสัมพันธ์ของการมีโรค กับพฤติกรรมสุขภาพจากการสัมภาษณ์ ซึ่งผลในช่วงยุค 80-90's ได้ผลสรุปว่า อัตราการเป็นโรคหลอดเลือดต่ำสุดที่ปริมาณการดื่มแอลกอล์ 2 drink ต่อวัน ดียิ่งเสียกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย
การศึกษาในยุค 90's แสดงให้เห็นว่า 'J curve relationship' คือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ 2 drinkต่อวันมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดต่ำสุด (2)
🍀หลักฐานใหม่: ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย ดีที่สุด
ความก้าวหน้าทางวิธีการทางสถิติ และพันธุกรรม ทำให้นักวิจัยสามารถแยกปัจจัยกวนได้ดีขึ้นจึงพบว่า..การที่กลุ่มคนดื่มแอลกอฮอล์นิดหน่อยสัมพันธ์กับการมีโรคหลอดเลือดน้อยมิใช่เพราะแอลกอฮอล์มีกลไกป้องกันโรค แต่เป็นเพราะคนพอมีปัญหาสุขภาพแล้วหยุดดื่มต่างหาก (abstainer bias)
เมื่อปรับตัวกวนนี้ออก พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามปริมาณการดื่ม
การศึกษาปัจจุบัน แสดงให้เห็น 'linear relationship' ความเสี่ยงโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นตามปริมาณการดื่ม (3)
🍀 แอลกอฮอล์ กับการก่อมะเร็ง
การศึกษาระดับเซลล์พบกลไกจะการก่อมะเร็งของแอลกอฮอล์ เกิดจากร่างกายมีเอนไซม์ ADH/ADHL ไม่พอเปลี่ยน ethanol เป็น acetate ได้หมดแล้วเกิดสารพิษตกค้าง acetaldehyde ซึ่งไปทำลาย DNA ก่อให้เกิดมะเร็ง..กลไกนี้อธิบายว่ายิ่งดื่มปริมาณมากยิ่งมีสารพิษ acetaldehyde ตกค้างมาก (4)
การดื่มปริมาณน้อยก็ก่อมะเร็งได้ เพราะตัวสาร ethanol เองก็เริ่มมีหลักฐานว่ากระตุ้นการแบ่งการแบ่งเซลล์มากไปผ่านกลไก RNA poll3 ..อย่างไรก็ตามพบว่า ไวน์แดง มีสาร polyphenol ซึ่งพบมากในเปลือกองุ่น มีฤทธิกดการแบ่งเซลล์ผิดปกตินี้ ดังนั้นการดื่ม ไวน์ อาจไม่เพิ่มความเสี่ยงแบบแอลกอฮอล์อื่น(5)
กลไกที่แอลกอฮอล์ก่อมะเร็ง (4)
⭐ดังนั้นคำแนะนำของสถาบันป้องกันโรคสากล Center of disease controle ต่อการดื่มแอลกอฮอล์คือ (6)
.."ไม่แนะนำ" ให้ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าชนิดใด ปริมาณใด เพียงเพราะหวังผลดีต่อสุขภาพ
..หาก "เลือก" ที่จะดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มไม่เกิน 2 drink ในชาย หรือ 1 drink ในหญิง ในแต่ละวัน เพราะมากกว่านี้ความเสี่ยงเกิดโรคทวีคูณค่ะ
จำนวน drink มาจากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ร่างกายมีเอนไซม์ ADH/ADHL พอใช้ขจัด
โดยทั่วไป ผู้ชายจะเกิดพิษจากแอลกอฮอล์ยากกว่าผู้หญิงเพราะมีเอนไซม์นี้มากกว่าสองเท่า
ภาพจาก 4
เมื่อชั่งน้ำหนักความเสี่ยงกับสุนทรียภาพของชีวิต..ข้าพเจ้าจึงแจ้งคนไข้ที่อยากกลับไปทานไวน์แดงว่าดื่มได้ แต่ขอไม่เกิน 1 แก้วไวน์ ต่อวัน พร้อมหยอดเรื่องการก่อมะเร็งให้พิจารณา
..ท่านก็เลือกจะดื่มและบอกว่าจะดื่ม 'พอชื่นใจ'..จากนี้ผลเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป 🙂
ทิ้งท้ายด้วยเรื่องปริมาณดื่มมาตรฐาน ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยค่ะ (7)
ไวน์ 1 drink = 1 แก้วไวน์
เบียร์ 1 drink = ครึ่งถึงหนึ่งกระป๋อง
เหล้าขาว 1 drink = 3-4 ก๊ง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา